X

สธ. ชง ‘จำกัดเดินทาง’ พื้นที่สีแดงเข้ม-กันชน พร้อม 5 มาตรการ หวังสกัดโควิด

กระทรวงสาธารณสุข เสนอ ศบค.ยกระดับออก 5 มาตรการ ทั้งตรวจหาเชื้อแบบเร่งด่วน จัดระบบดูแลผู้ป่วยสีเขียวที่บ้าน จำกัดการเดินทาง ห้ามออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ปิดสถานที่เสี่ยง ในพื้นที่สีแดงเข้มและกันชน 14 วัน รอ ศบค.ชี้ขาด  

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สถานการณ์รุนแรงขึ้นว่า ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือ อีโอซี ซึ่งมีอาจารย์แพทย์ ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก เมื่อเช้า ได้ร่วมกันพิจารณา ซึ่งวันนี้พบตัวเลขติดเชื้อสูงกว่า 7,000 คน ส่วนใหญ่เป็นการระบาดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แล้วแพร่ระบาดไปยังต่างจังหวัด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้พิจารณาออกมาตรการเพื่อควบคุมโรคมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย

1.การใช้ชุดตรวจอย่างง่าย Rapid Antigen test แบบ swab ในสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น จากเดิมตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในห้องปฏิบัติการและใช้เวลารอผลตรวจนาน สถานพยาบาลไหนพร้อมดำเนินการได้ทันที เพื่อลดจำนวนรอการตรวจ โดยหากผลเป็นลบก็สามารถกลับบ้านได้ แต่หากผลเป็นบวกจะต้องตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR เพื่อความแม่นยำ และหากเป็นบวกก็เข้าสู่ระบบการรักษาแยกตามกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว เหลือง แดง ต่อไป สธ.จะพยายามทำชุดตรวจแบบตรวจเองที่บ้าน (Home Use)

2. มาตรการจัดระบบรักษาที่บ้านเฉพาะกลุ่มสีเขียว Home isolation และ Community isolation ซึ่งจัดระบบรองรับเข้าไปดูแล จะร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลเป็นครอบครัว สปสช.จะสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องวัดไข้ รวมถึงผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในวันที่ 10 หรือสั้นกว่านั้น ให้สามารถกลับไป Home isolation ได้ เพื่อลดปริมาณการครองเตียง

3.เน้นมาตรการบุคคลต่าง ๆ อย่างเข้มงวด ต้องเน้น DMHTT หรือ บับเบิ้ลแอนด์ซีล ตัวเอ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ อย่ารับประทานอาหารร่วมกัน และขอให้ทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) มากขึ้น

4.มาตรการฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยง และเน้นให้แก่กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ไม่ต่ำกว่า 80% เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งสัปดาห์หน้าต้องฉีดให้ได้มากกว่า 1 ล้านโดสขึ้นไป ขณะนี้กรุงเทพฯฉีดไปแล้ว 4 ล้านโดส ดังนั้น เร่งฉีด 1-2 สัปดาห์จะได้ขึ้นไปอีกมากกว่า 50% ถ้าสามารถฉีดได้ 1 ล้านโดส ช่วงสิ้นเดือนก็จะได้ถึง 60%

5.กระทรวงสาธารณสุข เสนอศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศปก.ศบค. เรื่องการจำกัดการเดินทาง อยากให้ทุกคนอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และให้ปิดสถานที่มีความเสี่ยงทั้งหมด อย่างสถานที่รวมกลุ่มคนไม่จำเป็น แต่ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นสถานที่จำเป็นยังเปิดได้ โดยมาตรการนี้จะใช้ในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน ซึ่งเสนอ ศบค.ชุดเล็กแล้ว และจะเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ต่อไป เพื่อลดการระบาดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

เมื่อถามว่า การจำกัดการเดินทาง จะเรียกว่า ‘ล็อกดาวน์’ ได้หรือไม่ นพ.เกียรติภูเมิ ระบุว่า เป็นการเสนอจำกัดการเดินทางในพื้นที่เสี่ยงและกันชนโดยไม่จำเป็น ส่วนรายละเอียดขอให้สอบถาม ศบค. ซึ่งจะเป็นผู้ประกาศอย่างเป็นทางการ

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เสริมว่า ภาพรวมมาตรการนี้จะใช้เวลา 2 สัปดาห์ หรือ 14 วัน ในระยะฟักตัวของโรค ซึ่งเป็นมาตรการเทียบเท่ากับเมื่อเดือนเมษายน 2563 ร่วมกับมาตรการฉีดวัคซีน และความร่วมมือของประชาชน สถานการณ์ก็จะลดลงได้

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (9 ก.ค.64) เวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอขา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เรียกประชุมด่วน ศบค.ชุดใหญ่ ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ เพื่อประเมินสถานการณ์และมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติม รวมถึงมาตรการล่าสุดที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :    

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"