X

(คลิป) “เยาวชนกลุ่มพิทักษ์ดุหยง” เกาะลิบง ผุดไอเดีย ประติมากรรมขยะ-สร้างขยะสู่งานศิลป์ เตรียมนำจัดแสดงในงาน “วันพะยูนแห่งชาติ” 17 ส.ค.นี้

ตรัง-“เยาวชนกลุ่มพิทักษ์ดุหยง” เกาะลิบง ผุดไอเดีย ประติมากรรมขยะบนเฟรม สร้างขยะสู่งานศิลป์ตามจินตนาการ เตรียมนำจัดแสดงในงาน “วันพะยูนแห่งชาติ” 17 ส.ค.นี้ ผงะ สำรวจแปลงหญ้าทะเลพบขยะจำนวนมาก ทั้งพลาสติก-อุปกรณ์ประมง-เศษแก้ว-เสื้อผ้า ติดตามแนว ต้นเหตุการเสียชีวิตของสัตว์ทะเลหายาก อาทิ พะยูน-เต่าทะเล-โลมา-วาฬ  

 

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล(WWF) และเครือข่ายอนุรักษ์ภาคประชาชน ร่วมทำกิจกรรมในโครงการ Plastic Smart Cities โดยนำขยะที่เก็บจากแนวหญ้าทะเลจากการติดตามสถานภาพหญ้าทะเลรอบพื้นที่เกาะลิบงใน 9 แปลงสำรวจ โดยทีมอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงได้นำขยะจากการเก็บในแปลงหญ้าทะเลที่ทำการเก็บข้อมูลดังกล่าว มาทำเป็นงานออกแบบ เป็นงานประติมากรรมขยะบนเฟรม เพื่อนำไปใช้จัดแสดงในงานวันพะยูนแห่งชาติ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ในวันที่ 17 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ตามมติคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบ แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เน้นเป้าหมายเพิ่มประชากรพะยูน การดูแลพื้นที่อาศัยของพะยูน โดยในส่วนของจังหวัดตรัง มีคณะอนุกรรมการอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานโดยตำแหน่ง กรรมการประกอบด้วย นักวิชาการ ส่วนราชการ และภาคประชาชน เข้าไปมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ พะยูน ได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ. ศ. 2562 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES) พะยูนได้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ลำดับที่ 86 ของบัญชีไซเตส ซึ่งเป็นสัตว์ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้น เพื่อการศึกษาวิจัย และเพาะพันธุ์เท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยแหล่งที่พบพะยูนมากที่สุดคือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ซึ่งถือได้ว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ของพะยูนในประเทศไทย

 

ดร.เอกลักษณ์ รัตนโชติ อาจารย์ประจำสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการนำขยะจากแนวหญ้าทะเลมาจินตนาการสร้างงานประติมากรรมจากขยะนั้น เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนในท้องถิ่นเกาะลิบงมีความรักและหวงแหนในทรัพยากรท้องถิ่นของตัวเอง การปลูกจิตสำนึกตรงนี้จะมีส่วนสำคัญให้เยาวชนและคนในพื้นที่มีส่วนในการอนุรักษ์หญ้าทะเลต่อไป โดยเฉพาะขยะที่อยู่ตามแนวหญ้าทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่าพื้นที่เกาะลิบงนั้นเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่มากที่สุดในประเทศไทย

ดร.เอกลักษณ์กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรมโครงการ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.กระบวนการฝึกฝนเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนเกาะลิบงรู้จัดวิธีการติดตามตรวจสอบหญ้าทะเล 2.สอนเทคนิคการเฝ้าระวังแนวหญ้าทะเลและการศึกษาพฤติกรรมของพะยูนในการกินหญ้าทะเลด้วยการสังเกตรอยกัดกินหญ้าทะเลของพะยูน และ3.ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการสำรวจและจัดเก็บขยะในแนวหญ้าทะเล ซึ่งจากการปฏิบัติงานที่ผ่านมาเราพบว่าหญ้าทะเลตามแนวของเกาะลิบงนั้นพบขยะเป็นจำนวนมากและมีหลายประเภท ทั้งขยะพลาสติก เศษแก้ว เศษเสื้อผ้า และเศษอุปกรณ์การประมงเป็นต้น โดยเราได้เก็บขยะเหล่านี้ขึ้นมา แล้วนำมาคัดแยกก่อนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ว่าขยะตามแนวหญ้าทะเลที่เกาะลิบงนั้นมีกี่ชิด กี่ประเภทก่อนจะนำมาผลิตเป็นงานศิลปะ เพื่อที่ในอนาคตข้อมูลชนิดและประเภทขยะเหล่านี้ จะสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ได้ในอนาคต

 

ด้านนางสาวกฤตธีรา  ผ่องศรี อาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบง กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้ร่วมกิจกรรมประติมากรรมจากขยะตามแนวหญ้าทะเลในครั้งนี้ โดยขยะที่เราทำมาทำเป็นงานศิลปะมาจากการสำรวจแนวหญ้าทะเลในแปลง การนำขยะเหล้านี้มาทำเป็นงานศิลปะนั้น สามารถมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะที่มีอยู่ในแนวหญ้าทะเลและในทะเลได้ อีกหมุมหนึ่งขยะเหล่านี้เมื่อเก็บขึ้นมา นอกจากจะเป็นการช่วยลดขยะในแนวหญ้าทะเลแล้ว ยังนำขยะเหล่านั้นไปคัดแยกและขายได้ รวมถึงงานศิลปะที่ผลิตจากขยะในแนวหญ้าทะเล ยังช่วยฝึกทักษะเรื่องการสร้างสมาธิ การคิดออกแบบ การคิดการสื่อความหมายที่ออกมาจากการสร้างงานศิลปะจากขยะ การใช้งานศิลปะในการสื่อสารและสะท้อนปัญหาขยะในแนวหญ้าทะเลและขยะในทะเล จึงอยากฝากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเราไว้ โดยเฉพาะการไม่ทิ้งขยะลงทะเล เพราะขยะเหล่านั้น หากไปติดตามแนวหญ้าทะเล จะสร้างอันตรายทั้งต่อทะเล หญ้าทะเล และสัตว์ทะเลหายากที่เผลอกินเข้าไปด้วย

 

ขณะที่ นายธีระพัฒน์ อนุพันธ์ อาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบง กล่าวว่า จากากรลงพื้นที่สำรวจหญ้าทะเลในแปลงและทำการเป็นขยะในแนวหญ้าทะแล ตนรู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้นำขยะเหล่านั้นมาทำเป็นงานศิลปะเพื่อเป็นการสำรวจสะท้อนถึงพฤติกรรมในการทิ้งขยะลงสู่ทะเล เป็นการสร้างจิตสำนึกต่อทุกๆคนในการคิดไตร่ตรองก่อนจะทิ้งขยะลงไปในทะเล จะช่วยลดการตายของสัตว์ทะเลหายาก อาทิ พะยูน เต่าทะเล โลมา รวมถึงวาฬ ที่กินขยะเหล่านั้นเข้าไปด้วยโดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากขยะเหล่านั้นติดอยู่ในแนวหญ้าทะเล โดยพื้นที่เกาะลิบงถือเป็นพื้นที่อนุรักษ์พะยูนแหล่งสุดท้ายของประเทศ กิจกรรมลักษณะนี้จึงทำให้เราเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์หญ้าทะเล และช่วยรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางอีกด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน