X

เปิดไทม์ไลน์ ‘ชายไทยสัญชาติอเมริกัน’ ติดสายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ แต่ไม่มีอาการ ยัน ยังไม่มีใครติดแล้วตาย

กรุงเทพฯ – อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ ยังไม่มีใครติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนแล้วเสียชีวิต แต่แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น 2-5 เท่า และอาการไม่รุนแรง ไทยพบเป็นประเทศที่ 47 สำหรับกลุ่มเสี่ยง 19 คน อาการปกติ ไม่มีใครติดเชื้อ

วันที่ 6 ธันวาคม 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงรายละเอียดกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนรายแรกของไทยว่า เป็นชายไทย สัญชาติอเมริกัน อายุ 35 ปี อาศัยอยู่ประเทศมาสเปน 1 ปี เป็นนักธุรกิจ แต่ไม่มีอาการ มีผลตรวจ RT-PCR วันที่ 28 พ.ย.64 ไม่พบเชื้อ จึงเดินทางมาประเทศไทย วันที่ 29 พ.ย. มาถึงก็ตรวจอีกครั้ง โดยพบเชื้อวันที่ 1 ธ.ค. ส่งผลยืนยันไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเข้ารับการรักษา รพ.แห่งหนึ่ง พบว่าอาการน้อยมาก แทบไม่มีอาการ พร้อมปฏิเสธโรคประจำตัว และไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

แรกรับอาการทุกอย่างปกติ ทั้งผลเอกซเรย์ ผลเลือด แต่ตรวจเจอเชื้อ อย่างไรก็ตาม บุคคลนี้ระวังตัวเองสูง ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา จึงไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ขณะนั่งเครื่องบินก็นั่งคนเดียว อยู่โรงแรมในระบบ Test&Go ก็ใส่หน้ากากตลอดเวลา

สำหรับ 19 คนที่เคยมีประวัติเจอบุคคลนี้ จะสอบสวนทุกคนและตรวสอบหาเชื้อเพิ่มเติม เป็นพนักงานโรงแรม 17 คน และพนักงานสนามบิน 2 คน ทุกคนอาการปกติไม่มีใครติดเชื้อเพิ่มเติม แต่จะติดตามจนครบระยะฟักตัวของโรค

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า สายพันธุ์โอมิครอนดูแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น 2-5 เท่า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยคล้ายไข้หวัดใหญ่ แยกยากจากสายพันธุ์อื่น ทั้งอัลฟา เบตา เดลตา และแกมมา ที่มีรายงานในต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารักษาใน รพ. และยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต มาตรการที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งไทยฉีดแล้ว 95 ล้านกว่าโดส เข็ม 1 ครอบคลุมคนไทยเกิน 75% แล้ว, เข็ม 2 เกิน 60% และเริ่มบูสต์เข็ม 3 แล้ว  สำหรับการฉีดบูสเตอร์โดส (เข็มกระตุ้น) คาดว่าจะเป็น ธ.ค.64-ม.ค.65 ให้รอประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า การติดต่อของโอมิครอนไม่ต่างจากสายพันธุ์อื่น ยังติดต่อผ่านละอองฝอยเป็นหลัก ส่วนการติดต่อผ่านทางอากาศเจอได้น้อยมากในบางกรณี เช่น ห้องอับ ห้องที่มีการแพร่กระจายเชื้อสูงเท่านั้น ไม่มีการแพร่ระบาดผ่านทางอากาศแบบทั่วไป ส่วนวัคซีนไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดไหนไม่สามารถป้องกันติดเชื้อได้ 100% แต่ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันอยู่

สำหรับประเทศไทยใช้วัคซีนหลากหลายยี่ห้อ ประสิทธิผลของวัคซีนมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อระดับที่ 50-80% แต่ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้ค่อนข้างดีมาก 90% ขึ้นไป ฉะนั้น เมื่อพูดถึงประสิทธิภาพของวัคซีนจะต้องพูดถึง 2 ส่วน คือ การป้องกันการติดเชื้อ และการลดความรุนแรงของโรค ซึ่งทั่วโลกเห็นตรงกันว่า วัคซีนที่ฉีดไปป้องกันกันมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ดี ส่วนการป้องกันติดเชื้อประสิทธิภาพลดน้อยลง แต่ก็ดีกว่าการไม่ฉีดวัคซีนเลย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลโควิดมีมากมาย ส่วนใหญ่เป็นความเห็นความรู้สึกมากกว่าข้อเท็จจริง กระทรวงจะรวบรวมข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญมาให้ทราบ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"