X

เอกชน ติง กดดัน ‘อธิบดีกรมโรงงานฯ’ จนต้องลาออก

กรุงเทพฯ – นักธุรกิจ ถาม ถูกต้อง-เป็นธรรมแล้วหรือ ที่ข้าราชการน้ำดี พยายามแก้ไขปัญหา แต่กลับถูกโยนเป็นแพะรับผิดชอบ แนะ หาคนผิดแท้จริงตั้งแต่อนุญาตให้ขนกากอันตราย

วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ภายหลัง นายจุลพงษ์ ทวีศรี  ประกาศลาออกจากตำแหน่ง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม หลังถูกแรงกดดันอย่างหนัก จากปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง ทั้งการลักลอบขนกากแคดเมียม และไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีซ้ำซาก

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวในหัวข้อ ‘ความถูกต้องและความเป็นธรรมของข้าราชการน้ำดี จากมรสุมในกระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ตรงไหน?’ ระบุว่า

1)กรณีเพลิงไหม้โรงงาน ที่ทำผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ. )วัตถุอันตรายฯ และ พ.ร.บ.โรงงานฯ ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง และ ที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ซ้ำซาก

1.1 มันคือ Accident (อุบัติเหตุ) หรือ มีใครจงใจเผาทำลายหลักฐาน วัตถุอันตราย ที่เข้าสู่ระบบ และไม่ได้กำจัด ตามกฎหมาย ?

1.2 อำนาจหน้าที่ในการจัดการ กำกับดูแลโรงงาน ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ ได้มอบอำนาจไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในจังหวัดนั้น ๆ แล้ว  ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับอธิบดีกรมโรงงานฯ

ดังนั้น การที่ท่านอธิบดีกรมโรงงานฯ ไปช่วยให้คำปรึกษา แนะนำ หน้างาน ในแต่ละกรณี จนเสมือนต้องกลายเป็นคนต้องมารับผิดชอบทั้งหมด! มันถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่กับข้าราชการดี ๆ เช่นนี้ ?

1.3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระดับนโยบาย ควรจะลากไปถึงต้นตอว่ายุคไหน ? สมัยไหน ?

ปลัดฯและอธิบดีท่านไหน ที่มีการ ปล่อยปละละเลย (หรือเห็นด้วยฯ) ให้มีการอนุญาตให้ขนกากที่เป็นวัตถุอันตรายในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกองกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานฯ ได้

ทั้ง ๆ ที่ควรจะโดนจัดการไปตั้งแต่ปีที่เจ้าหน้าที่ได้คีย์อนุญาตให้มีการขนกากอันตรายไปแล้ว

2) กรณีกากแคดเมียม @จ.ตาก
ก็สะท้อนปัญหาแบบมีเงื่อนงำ ในการจัดการกากวัตถุอันตราย ที่ควรจะให้เป็นไปตามEIA ที่กำหนดไว้ แต่ก็มีการฝ่าฝืนทำผิดกฎหมาย

ล่าสุด! การที่ข้าราชการประจำหลายหน่วยงานได้ลงพื้นที่ และพยายามแก้ไขปัญหาการขนกากแคดเมี่ยม กลับมาที่ต้นทาง ให้ดีที่สุด ก็สมควรที่จะได้รับกำลังใจและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะจากผู้บังคับบัญชามากกว่าการจ้องดิสเครดิต หรือทำลายล้างกัน แม้จะมีเหตุไม่คาดคิดใด ๆ

บทสรุป ;

หน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคการเมือง ทั้งที่ดูแลด้านนโยบาย และภาคนิติบัญญัติ ควรจะแสดงความเป็นมืออาชีพ ในการแก้ไขปัญหาที่ได้รับการมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรไปแล้วจากส่วนกลาง

1) การมุ่งแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุตั้งแต่ต้นตอ ที่ได้ก่อตัวเกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีต เอาคนผิดมาลงโทษ  รวมทั้งผู้ประกอบการสีดำที่ควรโดนลงโทษสูงสุด

ไม่ใช่มุ่งแต่กดดัน ลงโทษคนที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและรับผิดชอบแทนในปัจจุบันตลอดจนเร่งแก้ปัญหาปัจจุบัน ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ สุขภาพของประชาชน ให้ดีที่สุด

2) อย่าให้การหาผลประโยชน์ในการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการประจำ ในตำแหน่งสำคัญ ๆ ที่อาจจะมีการวิ่งเต้น หาผลประโยชน์

เราควรยึดหลักธรรมาภิบาล ด้วยการเลือก คนเก่ง และคนดี ในการดำรงตำแหน่งที่สำคัญ

ท้ายนี้ ไม่ว่า การลาออกของท่านอธิบดีกรมโรงงานฯ จะมีผลสรุปอย่างไร ? ผมก็ได้แต่หวังว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ จะทำให้สังคมที่เกี่ยวข้อง จะได้ตื่นตัว ด้วยการให้กำลังใจคนทำดี และร่วมจับตามองใกล้ชิด ต่อคนที่เป็นต้นเหตุของ มะเร็งร้าย และวงจรอุบาทว์ของประเทศครับ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านี้ :

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"