X

ชาวบ้านบุกศาลากลางจังหวัดยื่นหนังสือผู้ว่าฯ สระแก้วไม่เอาฟาร์มไก่

สระแก้ว – ชาวบ้านในพื้นที่บ้านวังตีอก อ.เมืองสระแก้ว บุกศาลากลางจังหวัดเพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ สระแก้ว ไม่เอาฟาร์มไก่ในชุมชน ระบุเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งตัวเองเป็นตัวแทนเข้าไปดำเนินการจ่ายเงิน ยืนยันจะคัดค้านให้ถึงที่สุด

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในพื้นที่บ้านวังตีอก ม.13 ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สระแก้ว รวมตัวกันเดินทางไปที่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดสระแก้ว พร้อมกับชูป้ายคัดค้านการก่อสร้างฟาร์มไก่ในหมู่บ้าน เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบกับหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และปัญหาแมลงวันจำนวนมากเหมือนกับหมู่บ้านอื่น ๆ โดยถือป้ายคัดค้านและเรียกร้องให้นายทุนและผู้นำโครงการมาลงในพื้นที่มีการยกเลิกโครงการไปก่อสร้างที่อื่น โดยระบุว่า ปัญหาการสร้างฟาร์มหมู ฟาร์มเป็ด ฟาร์มไก่ เป็นปัญหาของหมู่บ้านวังตีอกที่ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว จำนวนหลายครั้งหลายครา เคยทำหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสระแก้ว หนังสือลงวันที่ 18 ตุลาคม 2558 คัดค้านการสร้างฟาร์มหมู และทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสระแก้ว มีคำสั่งระงับการสร้างฟาร์มดังกล่าว โดยวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยใช้วิธีประชาคมจากสมาชิกหมู่บ้าน การประชาคมในครั้งนั้น ได้ทำให้เกิดความแตกแยกเป็นเสียงหลายส่วน ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เกิดความขัดแย้ง ตลอดระยะเวลา มีการเรียกรับ จ่ายเงิน เพื่อให้ได้รับเสียงข้างมาก ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของการแสดงออกตามวิถีทางประชาธิปไตย ในการออกความคิดเห็น ซึ่งการกระทำดังกล่าว สร้างความแตกแยก การเรียกรับ การจ่ายเงิน ก็ยังคงเห็นดำเนินการอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย การกระทำดังกล่าว เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ตั้งตัวเองเป็นตัวแทน นายหน้าเข้าไปดำเนินการ จ่ายเงิน เพื่อให้ได้มาเพื่อคะแนนเสียงในการประชาคม และรับค่าตอบแทนจากการกระทำดังกล่าว

ทั้งนี้ ชาวบ้านร้องเรียนว่า มีการใช้ชื่อบุคคลรายหนึ่ง ยื่นคำร้องขอรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกหมู่บ้าน ติดประกาศ ฉบับที่ 3/2564 เรื่อง วิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างฟาร์มไก่ ในพื้นที่ ณ ศาลากลางหมู่บ้าน บ้านวังตีอก หมู่ 13 ตำบลสระขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ลงวันที่ 7 พ.ค.64 การรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ทางฟาร์มเลือกทำแบบสัมภาษณ์รายบุคคล ซึ่งสมาชิกหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและร่วมกันคัดค้านการก่อสร้างฟาร์มทุกชนิด ยินยอมร่วมกันลงลายมือชื่อและได้ถ่ายภาพตัวเอง เพื่อเป็นการยืนยันคัดค้านการก่อสร้างฟาร์ม และได้ขึ้นป้ายคัดค้าน เพราะสมาชิกหมู่บ้านเล็งเห็นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ห้วย หนอง ลำคลอง บึง ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับฟาร์ม ซึ่งตามปรกติแล้วเป็นแหล่งที่ทำมาหากิน ของสมาชิกหมู่บ้านเพื่อหาเลี้ยงปากท้อง ตามวิถีชนบท และสมาชิกหมู่บ้านเห็นปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวกับหมู่บ้านวังตีอก จวบจนถึงรุ่นลูกหลาน ซึ่งมีตัวอย่างของผลกระทบเชิงประจักษ์ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับหมู่บ้านอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว

“ปัญหากลิ่น ปัญหาเรื่องแมลง ของเสียต่าง ๆ ที่ไม่สามารถจัดเก็บได้ สมาชิกหมู่บ้านมีความเห็นว่า ฝ่ายผู้ประกอบการไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม บรรยากาศและระบบนิเวศน์ภายในหมู่บ้าน ก่อนที่จะมีการจัดตั้งฟาร์มไก่ และพื้นที่ตั้งบริเวณนั้น ไม่เหมาะสมกับการจัดสร้างฟาร์มไก่ เพราะมีระยะทางใกล้กับหมู่บ้านเกินไป เพียง 300 เมตร และติดลำคลองสาธารณะ น้ำไหลไปสู่คลองพระสทึง อันเป็นสายน้ำแห่งชีวิตของชาวสระแก้ว ชาวบ้านไม่อยากให้บ้านของเราเต็มไปด้วยกลิ่นก๊าซ ที่เป็นของเสียจากฟาร์มไก่และแมลงวัน และเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มากับไก่ ความรักบ้านเกิด รักวิถีดั้งเดิม รักอากาศที่บริสุทธิ์ ซึ่งเขตอาณาบริเวณ ตำบลสระขวัญ มีฟาร์มหลายแห่ง และก็มีปัญหาที่ชาวบ้านต้องทนทุกข์กับปัญหาดังกล่าว ชาวบ้านไม่ต้องการที่จะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เหมือนกับฟาร์มไก่ แหล่งอื่น ๆ ซึ่งก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น สมาชิกหมู่บ้านจึงได้ร่วมกันลงลายมือชื่อพร้อมได้ถ่ายรูปไว้ และได้ติดป้ายคัดค้าน เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันที่จะไม่เอาฟาร์มทุกชนิดเข้ามาภายในหมู่บ้านแห่งนี้อีกต่อไป” ชาวบ้านระบุ

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 20 พ.ค.64 ชาวบ้านส่วนใหญ่ ยื่นหนังสือร้องเรียนพร้อมรายชื่อผู้คัดค้านไม่เอาฟาร์มสัตว์เข้ามาในหมู่บ้าน ต่อ นายราเยส ราย รักษาการแทนนายอำเภอเมืองสระแก้ว และได้นัดประชุมในช่วงเย็นวันนั้น ณ หมู่บ้านวังตีอก ซึ่งคณะกรรมการหมู่บ้านพร้อมด้วย นายราเยส ราย รักษาการแทนนายอำเภอเมืองสระแก้ว เป็นสักขีพยาน ได้ร่วมกันพิจารณาถึงปัญหาดังกล่าว และคณะกรรมการหมู่บ้านพิจารณาแล้ว และมีมติเสียงข้างมาก มิให้ประกอบกิจการใด ๆ ทุกชนิด หรือ โรงไฟฟ้าชีวะมวล ในอาณาบริเวณหมู่ 13 ตำบลสระขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป กระทั่ง วันที่ 21 พ.ค.64 ตัวแทนคณะกรรมการหมู่บ้าน ได้นำส่งหนังสือยื่นถึงองค์การบริการส่วนตำบลสระขวัญ แจ้งผลการพิจารณา เรื่องการอนุญาตฟาร์มไก่ ต่อ องค์การบริหารส่วนตำบลสระขวัญ และ นางทุเรียน ช่างนับ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระขวัญ ได้เรียก ตัวแทนคณะกรรมการหมู่บ้านเข้าพบ และแจ้งว่า ทางองค์การบริหารส่วนตำบล ขอรับหนังสือไว้เฉย ๆ ไม่ได้มีอำนาจยับยั้งการสร้างฟาร์ม และยืนยันที่จะดำเนินการตามคำขอเดิม คือการทำแบบสัมภาษณ์ รายบุคคล

ดังนั้น คณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของชาวบ้าน เป็นตัวแทนของหมู่บ้าน มีอำนาจในการพิจารณาเห็นชอบอนุมัติในเรื่องต่าง ๆ เป็นการบริหารงานภายในหมู่บ้านให้ต้องตามเจตนารมย์ของชาวบ้าน การบริหารงานโดยตัวแทนของประชาชนเพื่อประชาชน การกระทำดังกล่าว ไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย ต้องตามประสงค์ความต้องการของประชาชนในหมู่บ้าน การปฏิเสธความชอบธรรม อันเป็นเสียงของประชาชนที่แท้จริง ถือเป็นความไม่ชอบธรรม เป็นการกระทำผิดหลักบริหารจัดการที่ดีของบ้านเมือง และหลักธรรมาภิบาล การไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ไม่ฟังเสียงประชาชน ถือว่า การกระทำของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระขวัญ เป็นการกระทำผิดหลักบริหารจัดการที่ดีของบ้านเมือง และหลักธรรมาภิบาล ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อน หากมีการอนุญาต ก่อสร้าง จะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเดือดร้อน ยังลูก ๆ หลานของข้าพเจ้าและเป็นอนาคตของชาติ ข้าพเจ้าไม่มีทางอื่น ใดที่จะไปสู้กับ นายทุน นายหน้า และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงมาร้องคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ซึ่งท่านเองก็เป็นคนจังหวัดสระแก้ว

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านระบุด้วยว่า เมื่อได้ข่าวว่าท่านผู้ว่าฯ จะมาดำรงตำแหน่งต่างยินดีปรีดาที่คนสระแก้วได้กลับมาดูแลบ้านตัวเอง ชาวบ้านวังตีอก ขอบารมีผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วเป็นที่พึ่ง หากมีการอนุมัติก่อสร้างฟาร์มเป็นการกระทำขัดต่อเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน และเป็นการขัดขวางการพัฒนาของจังหวัดสระแก้ว ขอได้โปรดมีคำสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีคำสั่งห้ามมิให้ก่อสร้างเป็นการถาวร ชาวบ้านวังตีอก กำหนดในแผนพัฒนาหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านสีเขียวปลอดมลพิษ เกษตรกรรมยั่งยืน วิถีธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ฝายบ้านวังตีอก และมีบริเวณติดกับโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ บ้านดิน (เนินไทร) สวนครูเฒ่ากระท่อมไทย สวนตุลาชม Smart Farm Bannok District smart farm สวนไมตรีบุพผาเกษตรอินทรีย์ สวนมะพร้าวน้ำหอมฮงเฮงฮิมฟาร์ม และแหล่งอื่น ๆ อันเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เชื่อมต่อกัน และการบูรณาการจัดการสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ซึ่งภายหลังมีการยื่นหนังสือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้มีการพูดคุยกับชาวบ้านว่า จะรับไว้พิจารณา หากทำแล้วมีประโยชน์แต่มีโทษมากกว่าก็ไม่ควรทำ ชาวบ้านต้องไปให้ข้อมูลว่า เรื่องนี้มันดีไม่ดีอย่างไร เราในฐานะคนที่อยู่ตรงนั้นเห็นว่ามันไม่ถูกต้องก็ต้องมีการให้ข้อมูล โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา จะไม่ทิ้งแน่ แต่ถ้ามีอะไรที่มีความยุ่งยากก็ค่อยคุยกัน

——————————

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ธนภัท กิจจาโกศล

ธนภัท กิจจาโกศล

"ธนภัท กิจจาโกศล" ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สระแก้ว "ประสบการณ์ยาวนานกับงานสื่อสารมวลชนระดับประเทศ ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จับงานด้านข่าว สกู๊ปและรายงานพิเศษ กว่า 22 ปี มุ่งสื่อสารความจริงและข่าวสารที่เป็นธรรม สู่ประชาชนในภูมิภาค ด้วยจรรยาบรรณของฐานันดรที่ 4 เพื่อสร้างความโปร่งใสการรับรู้ข่าวสารของสังคม"