X

เสริมเขี้ยวเล็บภูมิปัญญาชาวบ้าน ดันสมุนไพรไทยสู่ระดับโลก

นครพนม – วันที่ 30 พ.ค.61 เวลา 09.30 น. ห้องประชุมหนองบึก 5 ชั้น 2 สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดนครพนม ถนนอภิบาลบัญชา เขตเทศบาลเมืองนครพนม ผศ.ดร.มโน สุวรรณคำ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยี่สารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่ราชมงคลธัญบุรี คลอง 6 ปทุมธานี ได้รับมอบหมายจากสำนักงานส่งเสริมวิหาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) นำคณะคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร อาทิ นายกรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ น.ส.พรทิพย์ ตันติวงศ์ น.ส.นิตยา พุทธธรรมรักษา จากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย โดยมีหน้าที่นำพืชสมุนไพรต่างๆตรวจสอบ เพื่อหาคุณค่าหรือประโยชน์ของพืชนั้นๆ มาใช้ประโยชน์เป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน พร้อมด้วย ผศ.สพ.(หญิง)รุ้งสวรรค์ วรรณสุทธิ์ ผศ.ดร.วัลลภ พรหมทอง นายชยพล คติการ จากคณะเทคโนโลยี่การเกษตร ทำหน้าที่ตรวจพื้นที่ปลูกสมุนไพร แนะนำคัดเลือกพืชที่เหมาะสม พร้อมทั้งการดูแลพืช ตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวและนำออกจำหน่ายสู่ตลาด

โดยทั้งหมดรับหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมเสริมสร้างความรู้แก่เกษตรกรจังหวัดนครพนม และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร จำนวน 41 ราย ซึ่งคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่ราชมงคลธัญญบุรี จะต้องลงพื้นที่และทำงานเชิงลึกนำสมุนไพรที่เกษตรกรปลูกไปวิจัย รวมถึงการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ของสมุนไพรไทย เช่น พัฒนาเกษตรต้นน้ำให้เป็นเกษตรปลอดสาร ปลอดภัย โดยใช้ปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างมาตรฐานและรับรองมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการเปิดโอกาสช่องทางใหม่ๆ ด้านการขายการตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งสู่ตลาดที่มีศักยภาพสูง มีทีมที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการด้านสมุนไพรของจังหวัดนครพนมได้รับประโยชน์สูงสุดกับการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้

ผศ.ดร.มโนฯ หัวหน้าคณะทำงานเผยว่า ในปี 2561 ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้รับงานสานต่อโครงการให้มีความต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จำนวน 9 จังหวัด มีจังหวัดเดิม 6 จังหวัด ที่มีความเข้มแข็งแล้วคือ พิษณุโลก สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น จันทบุรี และนครศรีธรรมราช และได้เพิ่มใหม่อีก 3 จังหวัดที่มีศักยภาพคือ น่าน ลำปาง นครพนม โดยจัดกิจกรรมการอบรมปฏิบัติการเพื่อพัฒนายกระดับผู้ประกอบการ และเกษตรกรที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสมุนไพร ให้เติบโตอย่างมั่งมี มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยการบริหารจัดการร่วมกันแบบเครือข่ายหรือคลัสเตอร์ ความหมายคือ การที่กลุ่มของธุรกิจและสถาบันที่เกี่ยวข้อง มารวมตัวกันดำเนินกิจกรรมอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน มีความร่วมมือเกื้อหนุน เชื่อมโยงและเสริมกิจการซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน เป็นความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสนับสนุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการเพิ่มผลิตภาพโดยรวม

“หัวใจสำคัญของคลัสเตอร์ คือ ความร่วมมือ ตรงไหนที่ร่วมมือกันได้เพื่อไปแข่งขันกับผู้อื่นก็ร่วมกัน ตรงไหนที่ยังต้องแข่งขันกัน ก็ให้แข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ เช่น แข่งขันกันพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แข่งขันกันปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน ไม่แข่งขันกันโดยการตัดราคาคู่แข่ง” ผศ.ดร.มโนฯกล่าว

ขณะที่นายอุพร วงษ์หะนาม อายุ 62 ปี ราษฎรบ้านสร้างแห่ ต.กุดฉิม อ.ธาตุพนม เผยว่าเดิมมีอาชีพทำนา ใช้เวลาว่างผลิตผ้าพื้นเมืองจำหน่ายเป็นสินค้าโอทอป ในสวนมีพืชสมุนไพรที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ว่านชักมดลูก ขมิ้นเครือ ดอกอัญชัน อยากให้คณะทีมวิจัยนำพืชเหล่านี้ไปตรวจในห้องแล็บ พร้อมแนะนำว่าควรจะปลูกดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อนำไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

น.ส.สุพิชชา สำลีพันธ์ อายุ 53 ปี ชาวบ้าน ต.ท่าค้อ อ.เมืองฯ เผยว่าเดิมประกอบอาชีพค้าขาย ต่อมาไปเรียนแพทย์แผนไทยที่กระทรวงสาธารณสุข เพราะเห็นที่บ้านมีสมุนไพรหลายชนิดเช่น รางจืด หญ้าหวาน มะตูมนิ่ม ดอกคำไทย รากสามสิบ เป็นวัตถุดิบ จึงนำมาผลิตเป็นสเปรย์แก้เคล็ดขัดยอก การเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ต้องการยกมาตรฐานสมุนไพรของตนให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคก็ได้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยจากสารเคมี  เพราะเป็นกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุน SME ในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวข้องกับสมุนไพรครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ(ผู้ปลูก) กลางน้ำ(ผู้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์) และปลายน้ำ(คือผู้จำหน่าย) ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ได้รับการรับรองมาตรฐานมีมูลค่าเพิ่มไปในตัวด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน