X

ศธ.นราฯ เผย!พร้อมเร่งดำเนินการเยียวยาค่าเรียน นร. 2,000 บาท

นราธิวาส-ศธ.นราฯ เผย!พร้อมเร่งดำเนินการเยียวยาค่าเรียน นร. 2,000 บาทครอบคลุมสถาบันการศึกษา 1,509 แห่งทั้งจังหวัด

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวร้สโควิด-19 ในจังหวัดนราธิวาสที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็น 1 ใน 29 จังหวัด ที่ปรับเป็นสีแดงเข้ม โดยประกาศล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวต่ออีก 14 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.2564 ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อสะสม ณ วันที่ 1 ส.ค.2564 ผู้ป่วยรายใหม่ 167 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมจำนวน 6,382  ราย ผู้ป่วยกำลังรักษาอยู่ จำนวน 1,408 ราย ผู้ป่วยรักษาหาย 4,903 ราย และเสียชีวิตสะสม จำนวน 71 ราย ทำให้สาธารณสุขจังหวัดต้องเปิดโรงพยาบาลสนามจำนวน 10 แห่ง ที่ไม่รวมโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนเพื่อให้มีเตียงเพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยโควิด-19

ขณะที่ในส่วนของระบบการศึกษา ทางด้าน ดร.ชาร์รีฟท์ สือนิ ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยถึงประเด็นการเยียวยาค่าเรียน ซึ่งนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  จำนวน 3 มาตรการ วงเงินประมาณ 22 ล้านบาทให้กับนักเรียนในทุกระดับและทุกสังกัด

ทั้งนี้มาตรการที่ 1 ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเรียนโดยให้ความช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ.ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานชั้นอนุบาล-ม.6 และระดับอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน โดยจ่ายผ่านสถานศึกษาและให้สถานศึกษาจ่ายตรงให้แก่นักเรียนนักศึกษาหรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณีในรูปแบบของเงินสดหรือนำเข้าบัญชีธนาคาร และให้ทางโรงเรียนนำให้ผู้ปกครองโดยตรง เบื้องต้นเงิน 2,000 บาทนี้จะช่วยค่าใช้จ่ายผู้ปกครองในภาคเรียนที่ 1 ส่วนภาคเรียนที่ 2 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น ศธ.จะพิจารณาในโอกาสต่อไป

มาตรการที่ 2 การขอความร่วมมือให้กลุ่มโรงเรียนเอกชนที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐ และกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ ลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ปกครองให้เท่ากับปีการศึกษา 2563 เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนเกินสมควร และจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่าย ของผู้ปกครองในโรงเรียน

มาตรการที่ 3 เป็นการลดช่องว่างการเรียนรู้และลดผลกระทบด้านความรู้ที่ขาดหายไปโดยให้สถานศึกษาสามารถจ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ใน 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียนเครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในปีการศึกษา 2564 ได้

ทั้งนี้สถานศึกษาในจังหวัดนราธิวาสจำนวน 1,509 แห่ง ประกอบด้วยสังกัดกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 1,272 แห่ง กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.)จำนวน 5 แห่ง กระทรวงมหาดไทย (มท.)โรงเรียนเทศบาลจำนวน 13 แห่งและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 214 แห่ง สำนักนายกรัฐมนตรีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) จำนวน 5 แห่ง และในส่วนของระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ รัฐและสถาบันอุดมศึกษารวมจ่ายค่าเล่าเรียนค่าธรรมเนียม ส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลด 50% ส่วนที่เกิน 50,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ลด 30% ส่วนที่เกิน 100,000 บาท ลด 10% ส่วนลดสูงสุดรวมกันไม่เกิน 50% และสถาบันอุดมศึกษาเอกชน โดยรัฐสนับสนุนค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียม 5,000 บาทต่อคน โดยสถาบันช่วยเหลือเรื่องอื่นๆ เช่น ขยายเวลาผ่อนชำระจัดหาอุปกรณ์ โปรแกรมยืมเรียนออนไลน์ และลดค่าหอพัก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ดร.ชาร์รีฟท์ สือนิ ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส ยังกล่าวอีกว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งต้องใช้ชีวิตแบบนี้ไปอีกสักระยะหนึ่ง ก็ขอฝากทางผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงประชาชนทั่วไป ขอให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และที่สำคัญทุกคนควรรักษาความปลอดภัยทั้งของตัวเองและคนรอบข้าง โดยทางรัฐบาลเองก็จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเช่นเดียวกัน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน