X

เพชรบูรณ์-อบต.สะเดียงจับมือ ส.วิทยุและโทรทัศน์ฯเพชรบูรณ์ จัดอบรมแกนนำ-เครือข่ายสื่อต้านบุหรี่ไฟฟ้า

เพชรบูรณ์-อบต.สะเดียงจับมือ ส.วิทยุและโทรทัศน์ฯเพชรบูรณ์ จัดอบรมแกนนำ-เครือข่ายสื่อต้านบุหรี่ไฟฟ้า

เวลา 09.00 น.วันที่ 29 สิงหาคม ที่ห้องประชุม อบต.สะเดียง อ.เมืองเพชรบูรณ์ นางอารยา หุ่นทอง ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เป็นผู้แทนนายประทิน นาคสำราญ นายก อบต.สะเดียง เป็นประธานเปิดอบรมโครงการ “คนตำบลสะเดียงไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” โดยมีแกนนำในชุมชนเขตพื้นที่ตำบลสะเดียงพร้อมเครือข่ายสื่อมวลชนเข้าร่วม ทั้งนี้สำหรับการอบรมฯดังกล่าว โดยสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ในขณะที่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เป็นผู้สนับสนุนโครงการ ส่วนวัตถุประสงค์โครงการฯ เพื่อเป็นการกระตุ้นการรับรู้ถึงอันตราย และพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มแกนนำชุมชนตำบลสะเดียง ให้รู้ถึงข้อกฎหมายและพิษภัยที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าและช่องทางการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแส

ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารา บารากูไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากูไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า แต่ในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ยังมีปัญหาทำให้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายทั้งทางตรงและออนไลน์ และที่สำคัญอุตสาหกรรมยาสูบได้พยายามวิ่งเต้นผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ส่งผลให้สถานการณ์แนวโน้มจึงค่อนข้างน่าห่วงใย โดยเฉพาะเริ่มแพร่ระบาดอย่างหนัก ในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันอย่างเปิดเผย

ในการอบรมฯมีนายอิทธิพล มหาเดช นักวิชาการชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ พ.ต.ท.จักริน วงศ์เทวัญ สว.สอบสวน สภ.บ้านติ้ว เป็นวิทยากรบรรยาย โดยนายอิทธิพลระบุตอนหนึ่งว่า “บุหรีไฟฟ้าเป็นวิวัฒนาการมาจากบุหรี่มวน ขณะเดียวกันมีพิษภัยไม่น้อยกว่าบุหรี่มวน นอกจากเป็นอันตรายต่อผู้สูบแล้ว ยังส่งผลถึงคนที่อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย”

สรุปกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าประเทศ ผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า มีความผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ผู้ครอบครองหรือรับฝากบุหรี่ไฟฟ้า มีความผิดฐานช่วยซ่อนเรัน ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พศ 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

-->