X

หมอลำคาร์นิวัลเข้าตาจน จ่ายก็เสี่ยง เบี้ยวก็ซวย

เทศกาลหมอลำคาร์นิวัล ขอนแก่น จัดเสร็จไปแล้วร่วม 3 เดือน แต่การจบด้วยการจ่ายค่าจ้างกลายเป็นเรื่องร้อนที่ไม่มีใครอยากแตะ ทางเลือก 3 ทาง ทั้งการจ่ายหมด 27.4 ตามสัญญา,จ่ายบางส่วนหรือหักดิบไม่จ่ายส่งเงินคืนคลัง ล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น  

หลายคนลุ้นตัวโก่งว่าจังหวัดขอนแก่นจะกล้าจ่ายเงินค่าจ้างการจัดงานหมอลำคาร์นิวัลอันอื้อฉาว กับบริษัทบ.เบทเทอร์ เวอร์ค จำกัด ผู้รับจ้าง ในวงเงิน 27.4 ล้านบาท หลังสิ้นสุดระยะเวลาส่งมอบงาน 90 วัน หลังวันเซนต์สัญญาในวันที่ 10 ต.ค.2562 หรือไม่

คำตอบชัด ๆ คือ ณ วันนี้ยังไม่มีการเบิกจ่ายโดยการยืนยันของนายสมศักดิ์ จังตระกูล ผวจ.ขอนแก่น โดยขั้นตอนอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช.,และป.ป.ท. ว่าการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

แต่การตรวจสอบในชั้นนี้ของป.ป.ช.และ ป.ป.ท.เป็นการตรวจสอบตามกรอบพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่ยึดตามTORหรือข้อกำหนดขอบเขตของงาน เทียบกับการดำเนินการจริงว่าตรงกันหรือไม่

ใครที่คาดว่าจะเจอการทุจริต หรือมีสิ่งไม่ชอบมาพากลแบบลึก ๆ และชี้ว่าใครเกี่ยวข้องอย่างไร อาจจะยังไม่เห็น ข้อสรุปคงออกมาลักษณะการชี้มูลความผิดปกติ แต่แค่การชี้มูลก็ส่งผลให้การเบิกจ่ายชะลอไปอยู่ดี

ที่น่าสนใจยิ่งก็คงเป็นการสอบของ สตง.ที่ ป.ป.ท.ขอให้สอบรายละเอียดบางรายการแบบเจาะจงว่าสมเหตุสมผลหรือไม่

นั่นแหละเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะชี้ปมลึกลับ ซับซ้อน และสะท้อนเจตนาของผู้ดำเนินการว่า มีการเล็งเห็นผลในการจัดโครงการแบบไม่โปร่งใส ไม่สมเหตุสมผลตั้งแต่ต้นหรือไม่ หลังจากนั้นก็ไล่บี้ในรายละเอียดถึงเม็ดเงินที่จ่ายไป และสาวถึงผู้ที่ต้องรับผิดชอบเป็นชั้น ๆ

ไล่เรียงตั้งแต่ ประธานกรรมการกำหนด TOR, กรรมการกำหนดราคากลาง,ผู้ลงนามในสัญญาจ้าง ,ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ดำเนินการแทน ต่างก็ต้องเข้าข่ายถูกตรวจสอบทั้งสิ้น

นี่เป็นเพียงการตรวจสอบโดยที่ยังไม่มีการเบิกจ่าย แต่หากใจเร็วด่วนจ่ายเพื่อไปตายเอาดาบหน้าเคลียร์ปัญหาภาย หลังนั่นแหละขอบข่ายของการสอบจะยิ่งขยายวงกว้างจนยากที่จะกำหนดตาเดิน

ไม่แปลกใจที่จังหวัดขอนแก่นและสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเล่นบทเพลย์เซฟ เพื่อพยายามทำทุกอย่างให้ผ่านขั้นตอนตามระเบียบเพื่อนำสู่การปิดจ้อปแบบเสียหายน้อยที่สุด เพราะสิ่งที่ทำผ่านมาแล้วบางอย่างกลับไปแก้ไม่ได้

งบฯ ก้อนใหญ่ แต่งานเบา ๆ อย่างหมอลำคาร์นิวัล 27.4 ล้าน ที่บริษัทเอกชนต่างแย่งกันประมูล เพราะเคาะยังไงก็กำไรเห็น ๆ ถึงขั้นร้องเรียนถึงกรมบัญชีกลาง แถมยังเปลี่ยนรองผู้ว่าฯที่รับผิดชอบกลางงาน สุดท้ายกลายเป็นของร้อนไม่มีใครอยากแตะ

น่าสังเกตว่างานนี้ที่ตามสัญญาที่แบ่งจ่ายค่าจ้าง 3 งวด ถึงจะมีปัญหาช่วงร้องเรียนอุทธรณ์การประมูลทำให้เสียเวลาทำให้การจัดงานกระชั้นชิด เลยจัดการแก้สัญญาให้รวบให้ส่งมอบงานและจ่าย 3 งวดรวดเดียวหลังเซนต์สัญญาภายใน 90 วันที่ครบกำหนดไปตั้งแต่ 10 ต.ค.แล้ว

เอกชนที่รับจ้างจัดที่ปกติการจัดงานทุกครั้งต้องเคาะกำไรเบื้องต้นไว้แล้วราว 30 % ประมาณ 8.2 ล้านบาท นั่นเท่ากับว่าบริษัทสำรองจ่ายในงานไปไม่ต่ำกว่า 19 ล้าน แต่ผู้รับจ้างกลับเงียบทั้งที่ส่งมอบงานตามกำหนดแต่กรรมการตรวจรับยังไม่พิจารณาว่าผ่านหรือไม่

การจ่ายเงินค่าจ้างก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ถ้าผู้รับจ้างทำครบตาม TOR และคณะกรรมการตรวจรับงานอนุมัติทุกอย่างก็จบ แต่เมื่อมีกลิ่นผิดปกติ สังคมตั้งข้อสงสัยจะให้ผ่านง่ายๆ ผู้รับผิดชอบก็ออกอาการหวาดผวา

เพราะต่างก็รู้กันลึก ๆ ว่างานนี้ไม่ปกติธรรมดา ขืนทะเร่อทะล่าเดินหน้าแบบม้าลำปางอ้างแค่กฎระเบียบเผลอ ๆ โดนแจ้คพอตที่จะส่งผลต่อหน้าที่การงาน แถมยังพ่วงเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางเสียอนาคตเพราะเรื่องหมอลำเอาง่าย ๆ

ปิดจ้อปจ่ายเงินค่าจ้างจึงไม่จบแค่กรรมการตรวจรับงาน จังหวัดเสริมทางออกอีกทางโดยการตั้งกรรมการซ้อนกรรมการตรวจรับงานอีกชุด มีท้องถิ่นจังหวัดเป็นประธาน ทั้งคลังจังหวัด พาณิชย์จังหวัดมาร่วมเป็นกรรมการ

เพราะกรรมการตรวจรับงานที่ตั้งขึ้นไม่กล้าผลีผลามให้ผ่านการตรวจรับ

กรรมการชุดนี้ทำหน้าที่กลั่นกรองว่าตามรายละเอียดการส่งมอบงานทำตามTOR หรือไม่ ปริมาณงานครบถ้วนหรือไม่ ขาดอะไร จะต้องหักเงินเท่าไหร่ ว่าง่าย ๆ ก็คือแผนสำรองสำหรับทางออกที่ “เสียหายน้อยที่สุด”คือจ่ายเพียงบางส่วน

งานหมอลำจึงทำเอาวุ่นทั้งศาลากลางจังหวัด แถมพ่วงด้วยป.ป.ช.,ป.ป.ท.สตง.ฯลฯ วุ่นวายกันหมด

ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นไม่ได้มากจากสาเหตุอะไรเลย ล้วนมาจากความมั่นใจในพลังตัวเองของคนบางคนที่ทำอะไรแล้วไม่เคยพลาด…เสียงทักท้วงของชาวบ้านถูกเทียบเป็นเสียงนกเสียงกา พอเข้าตาจนด้วยข้อเท็จจริง และเอกสารจึงไม่ต่างกับลิงแก้แห

ถึง ณ วันนี้ทางออกของงานหมอลำคาร์นิวัลจึงพอสรุปทางออกที่เป็นไปได้ 3 แนวทาง

1.      จ่ายทั้งหมด ตามสัญญาจ้าง 27.4 ล้านบาท

2.      ตัดทอนลงบางส่วน จ่ายบางส่วนตามเนื้องาน

3.      ไม่จ่ายค่าจ้าง ส่งเงินคืนคลัง

ทางเลือกที่ 1 ปิดประตูไปได้เลยเพราะไม่มีใครกล้าเสี่ยง ทางเลือกที่ 2 พอมีความเป็นไปได้ แต่ผู้รับผิดชอบก็ต้องยอมรับสภาพว่าตัวเองพลาดที่มีคนจับได้ไล่ทัน ทางเลือกที่ 3 ก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกันถ้าทางเลือกที่ 1 และ 2 ประเมินแล้วเสียมากกว่าได้

หมอลำคาร์นิวัล…มาถึงจุดนี้ได้ยังไง ?

ปฐมบทของเรื่องยุ่งยากของงานนี้ก็เรื่องอัตตาเต็มๆ ของคนในศาลากลางจังหวัดและสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบางคนที่ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงทัศนะในการใช้เงินภาษีของประชาชน และการทำงานเชิงบูรณาการที่ประชาชนในท้องที่มีส่วนร่วม

การวางตัวเป็นเจ้าของเงิน เจ้าของงาน ไม่สนใจเสียงทักท้วงกอดระเบียบ กฎหมายล้วนแต่เป็นปัญหาท้าทายของผู้บริหารยุคใหม่ทั้งสิ้น

ในยุคที่ภาคประชาชนมีบทบาทในการตรวจสอบภาครัฐที่เข้มข้น วิธีง่าย ๆ คนรับผิดชอบก็แค่กลับไปจุดเดิมที่เคยเรียนมาในตำรารัฐศาสตร์เบื้องต้นที่ต้องเปรียบตัวเองเสมือนปลาในตู้กระจกที่พร้อมให้ทุกคนตรวจสอบได้

โจทย์ง่าย ๆ กับสิ่งผิดปกติของงานหมอลำคาร์นิวัลที่ผู้คนสงสัยกันมากอันดับแรกคือตัวเงิน เอาไปจ่ายอะไรตั้ง 27.4 ล้าน ทั้งที่งานปีก่อนๆ จ่ายไม่เกิน 6 ล้าน และเงินที่จ่ายมากกว่าเดิมถึง 5 เท่าแต่งานออกมาเทียบแล้วดูเหมือนจะแย่กว่าครั้งก่อน ๆ ด้วยซ้ำ

พอท้วงติงก็อ้างทำตาม TOR หรือข้อกำหนดขอบเขตงาน ปัญหาที่ต้องตอบให้ได้คือ TOR ใครเป็นคนร่าง ?

ถ้าใครรู้จักอาจารย์ที่ ม.ขอนแก่น ที่เคยเป็นระดับผู้ช่วยอธิการบดี ที่มีชื่อเป็นประธานกำหนด TOR ก็ลองถามเรื่องหมอลำคาร์นิวัลดูว่าทำไมTOR มันถึงใช้งบฯ บานเบอะขนาดนั้น ได้อย่างไร ?

คำตอบก็คงไม่พ้นว่า “เพราะเคยร่วมงานกันมาก่อนและไว้ใจกันว่างานก็คงเหมือนปีก่อน ๆ แต่พอวันเซนต์สัญญาจ้างจึงได้รู้ว่าใช้งบฯไปถึง 27.4 ล้านบาท” หรือหากประธาน TOR แอ่นอกรับก็เป็นโชคชะตาที่กำหนดไม่ได้หากเกิดข้อผิดพลาด เพราะ TOR เป็นต้นน้ำของความยุ่งยากจนปั่นป่วนที่กำลังหาทางออกหลังจบงานในตอนนี้

ถามรองผู้ว่าฯที่รับผิดชอบงาน และเพิ่งถูกย้ายไปเป็นรองผู้ว่าฯหนองบัวลำภู ก็ชี้แจงผ่านสื่อแล้วว่า มารับผิดชอบงานหลังจาที่ทุกอย่างถูกกำหนดไว้หมดแล้ว การเข้ามารับผิดชอบก็พยายามทำให้เป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้ให้ดีที่สุด

ปัญหาลึกๆ ก็คือรองผู้ว่าฯอีกคนที่รับผิดชอบในช่วงแรกพอเห็นรายละเอียดงานแล้วขอให้ปรับแก้ไข แต่ “ผู้รับผิดชอบ” ไม่แฮปปี้ จนมีการเปลี่ยนรองผู้ว่าฯ ที่รับผิดชอบงาน

แล้วใครหล่ะ คือผู้รับผิดชอบที่แท้จริง ?

มองตามเอกสารก็ไม้พ้นคนเซนต์สัญญาจ้าง เป็นวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น และผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เพราะคนเซนต์สัญญาจ้าง เซนต์ในนาม “ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น”

ทางออก 3 ทางเป็นไปได้แค่ไหน ?

อย่างที่บอกไปแล้วว่า แนวทางที่ 1 ที่จัดครบก็จบได้แน่ ๆ แต่เป็นไปยากแค่ตรวจสอบงานด้วยสายตาก็รู้ว่าจัดไม่ครบ

แนวทางที่ 2 ที่คาดว่าจังหวัดพยายามเต็มที่ให้เป็นรูลอดของการผิดจ้อป แต่ก็ใช่ว่าจะง่ายมากนัก เพราะการตัดทอนบางรายการลงเพื่อตรวจรับมอบงานตามระเบียบต้อง “ตรวจรับตามสภาพจริง”

เช่น งานงวด 1 จ่าย 30% ประมาณ 8 ล้านกว่า เป็นงานแถลงข่าว งานประชาสัมพันธ์ ที่เนื้องานจะอยู่ในการจ่าย งวด 2 อีก 60 % ถ้าเนื้องานงวด 2 ไม่เป็นไปตามที่ระบุในงวด 1 ซึ่งถือเป็นการกระทบงานหลัก เงินงวด 1 ก็เบิกจ่ายไม่ได้

นั่นก็แปลว่าต้องยกเลิกการจ่ายในรายการนั้นทั้งงวด 1 และงวด 2

ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากสอบรายละเอียดใน TOR กับเรื่องผิดปกติที่ทุกคนมองเห็น เช่นงานเดียว จัดแถลงข่าวถึง 2 ครั้งนี่เป็นการใช้จ่ายงบฯที่สมเหตุสมผลหรือไม่ รายละเอียดตรงกับเนื้องานหลักหรือเปล่า ?

งานเทศกาลหมอลำคาร์นิวัล จัดแถลงข่าว 2 ครั้งตั้งงบฯ ไว้ถึง 6.7 แสนบาท

แยกเป็นแถลงกิจกรรมประกวดหมอลำ ใช้งบฯ 2.2 แสนกว่าบาท

แถลงกิจกรรมแสดงศิลปวัฒนธรรม 5.4 แสนกว่าบาท

งานเดียวกัน จัดวันเดียวกัน ผู้รับจ้างรายเดียว ผู้ว่าจ้างคนเดียวกัน แต่แยกแถลงข่าว 2ครั้ง และเป็นตัวเลขการใช้ในการแถลงข่าวที่มากที่สุดของจังหวัดขอนแก่นเท่าที่เคยมีมา

ยิ่งหากเจาะในรายละเอียดรายการจ่ายในงานแถลงข่าว เช่นแจกของชำร่วยแขกร่วมงานและสื่อมวลชน 1.2 แสน ค่าอาหารว่าง,เครื่องดื่ม รวม 83,000 บาท ค่าเชิญสื่อเข้าร่วมแถลงข่าว รวม 1.5 แสนบาท ค่าเจ้าหน้าที่แต่งตัวดีมาคอยบริการผู้ร่วมงานเฉียดแสนบาท ฯลฯ

แค่น้ำจิ้มงานแถลงข่าวงานเดียวจัด 2 ครั้งและใช้เงินแบบสุรุ่ยสุร่ายก็สะท้อนภาพรวมใน งบฯ27.4 ล้านได้ค่อนข้างชัด

แค่งานแถลงข่าว ก็ต้องพิจารณาหั่นถึง 2 ทาง

เช่น  1. ค่ากาแฟของว่าง 8 หมื่นกว่าเอาอะไรมากำหนด อิงตามราคากลางตามระเบียบสำนักนายกฯหรือไม่,ค่าเชิญสื่อ 1.5 แสนตามตัวเลขเอาไปทำอะไร ,ค่าจ้างเจ้าหน้าที่แต่งตัวดีมารับแขกเอามาจากไหน จ่ายอะไรนักหนา ฯลฯ

นี่ก็เป็นประเด็นที่คณะกรรมการกำหนด TOR และคณะกรรมการกำหนดราคากลางจะต้องอธิบาย ถ้าไม่เคลียร์ต้องหั่นลง

2.ในการแถลงข่าวระบุว่าจะจ้างศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับชาติมาร่วมเดินขบวนคาร์นิวัล ถ้าพิสูจน์ได้ว่าคนที่มาเดินไม่ใช่ศิลปินตัวจริง หรือไม่มีชื่อเสียงระดับชาติ รายการนี้ต้องตัดออก ไม่จ่าย แถมยังกระทบไปถึงงานแถลงข่าวที่บอกว่าจะมีรายการนี้ก็ต้องไปไล่หั่นงบฯการแถลงข่าวลงอีก เพราะถือว่าเป็นการกระทบงานหลัก

ยิ่งหากจับได้ว่ามีการจ้างนักศึกษา หรือเอาเจ้าหน้าที่ของรัฐไปใส่ชุดหมอลำที่เช่ามาแล้วมาแสดงหรือมาเดินขบวนแล้วมีรายการเบิกจ่าย นี่ก็โดนเต็ม ๆ แบบเบิ้ลทั้งหั่นงบฯ ทั้งโดนกฎหมายเล่นงาน

ตัวอย่างเบา ๆ กับการหั่นบางส่วน จ่ายบางส่วนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แถมยังต้องโดนสังคมได้ข้อสรุปว่า มันมีเงือนงำจริง ๆ พอจับได้ไล่ทันก็หาทางออกด้วยการคืนงบฯ บางส่วน

และแนวทางนี้ ททท.ที่เป็นแม่งานหมอลำคาร์นิวัล ปี 61 ก็ทำมาแล้วคือจ่ายบางส่วน จนผู้รับจ้างไม่มีเงินพอจ่ายค่าหมอลำ จนต้องฟ้องศาลผ่อนชำระค่าตัวอยู่ในขณะนี้

แนวทางที่ 3 หักดิบไม่จ่ายซักบาท ส่งเงิน 27.4 ล้านคืนคลัง

ดูเป็นเรื่อง่ายแต่ใครคือผู้กล้า ?

ตามแนวทางที่ป.ป.ท.ภาค 4 บอกเป็นทางเลือกที่ 3 หากทางเลือกที่ 1 และ 2 ไม่สามารถสรุปได้ตามเงื่อนเวลากำหนดเพราะเป็นงบฯปี 2562 ถ้าไม่สามารถหาทางจ่ายเงินกับผู้รับจ้างได้ก็ต้องส่งคืนหลังภายในสิ้นปี 2562 นี้

การส่งงบฯคืนคลัง โดยไม่จ่ายเงินผู้ว่าจ้างก็ต้องโดนแน่ ๆ เอกชนต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาผูกพัน และการไม่จ่ายเงินผู้รับจ้างมีทางเดียวคือต้อง “ยกเลิกสัญญา”

แต่จะยกเลิกสัญญายังไง เพราะผู้รับจ้างก็ส่งมอบงานตามกำหนด 90 วัน ที่หมดเขตวันที่ 10 ต.ค.แล้ว

การยกเลิกสัญญาเบื้องต้นมักจะมาจากสาเหตุผู้ว่าจ้างทวงแล้วทวงอีกให้ผู้รับจ้างส่งมอบงานตามกำหนด แต่ผู้รับจ้างไม่ส่งมอบงานจนทำให้เกิดความเสียหาย นั่นถึงเป็นเหตุสามารถยกเลิกสัญญาและไม่จ่ายเงินได้

หรือผู้กล้าจะสบช่องใช้วิธีศรีธนญชัย ไปน้ำขุ่น ๆ ไม่จ่ายเงินผู้รับจ้าง แล้วส่งเงินคืนคลังเมื่อโดนบีบด้วยระยะเวลา โดยการตีลูกเซ่อ “ไม่ยกเลิกสัญญา”

ถ้าเป็นเช่นว่านี่ก็ถือว่าเป็นวิธีการที่น่าอับอายที่สุด เพราะการไม่จ่ายเงินค่าจ้างโดยไม่ยกเลิกสัญญา นำมาซึ่งการ “จ่ายค่าโง่” ให้กับเอกชนคู่สัญญา ที่เมืองไทยทั้งนักการเมืองและข้าราชการร่วมกันทำกันมาเยอะแยะและรอดตัวหมด

เพราะประเทศไทยยังไม่มีพ.ร.บ.ค่าโง่ ไล่เบี้ยพวกศรีธนญชัย !

ทางเลือกของ”หมอลำคาร์นิวัล”ที่มี 3 ทาง แต่ทุกทางล้วนตีบตัน แต่อาจมีทางเลือกที่ 4 เพื่อ”รอด”ก็เพียงจัดฉากเป็น “มวยล้ม ต้มคนดู”

แต่สุดท้ายก็ไม่ง่าย เพราะเท่ากับเป็นการจุดไฟความเข้มข้นของการตรวจสอบจากภาคประชาชน ที่กำลังชูขอนแก่นเป็น”สมาร์ทซิตี้” การคิดแบบง่าย ๆ ลากไปแบบลวก ๆ แบบการจัดเทศกาลหมอลำคาร์นิวัลน่าจะปิดฉากเป็นตำนานเพียงแค่นี้

หมอลำคาร์นิวัลอันฮือฮาเป็นทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ มาตลอด 3เดือน…มันกู่ไม่กลับแล้ว.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์