X

ศาล รธน. ชี้ข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันฯ” ม็อบ 10 ส.ค. 63 “ล้มล้างการปกครองฯ”

กรุงเทพฯ – ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 ชี้เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อ “ล้มล้างการปกครอง” ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม รธน. ปี 2560 มาตรา 49 พร้อมสั่งให้ “อานนท์-ไมค์-รุ้ง” และองค์กรเครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าว

วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2564) ศาลรัฐธรรมนูญ นั่งออกพิจารณาเพื่ออ่านคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 (เรื่องพิจารณาที่ 17/2563) หลังจากนายณฐพร โตประยูร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์), นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง), นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน), นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ (อั่ว), นางสาวสิริพัชระ จึงธีรพานิช, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนางสาวอาทิตยา พรพรม รวม 8 คน ในการชุมนุมปราศรัยเพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเฉพาะการกระทำในการชุมนุมปราศรัยของนายอานนท์ นำภา (ผู้ถูกร้องที่ 1) นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ผู้ถูกร้องที่ 2) และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (ผู้ถูกร้องที่ 3) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องที่ 1, ที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ศาลไต่สวนโดยมีหนังสือเรียกเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวระบุว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 49 มีเนื้อหาดังนี้

มาตรา 49 บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง

ส่วนเอกสารข่าวศาลรัฐธรรมูญ เผยผลการพิจารณาโดยสรุป ดังนี้

ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1, ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ส่วนเอกสารข่าวศาลรัฐธรรมูญ เผยผลการพิจารณาโดยสรุป ดังนี้

ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1, ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 มีเจตนารมณ์ปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมุ่งหมายให้ปวงชนชาวไทย ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญจากการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มคนที่ใช้สิทธิหรือเสรีภาพในประการที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการหรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง รัฐธรรมนูญก็รับรองสิทธิของผู้ร้องให้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจง พยานหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งบันทึกเสียงการปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฟังเป็นยุติว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อภิปรายในที่สาธารณะหลายครั้งหลายสถานที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อภิปรายเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยข้อเรียกร้องรวม 10 ประการ

พิจารณาแล้วเห็นว่า พระมหากษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน และจะต้องดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคตเพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ปวงชนชาวไทยจึงถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชาชนอื่นที่เห็นต่างด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้บุคคลอื่นกระทำตาม ยิ่งกว่านั้น การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย

แม้การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จะผ่านไปแล้ว ภายหลังจากที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ยังปรากฎว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคล กลุ่มต่าง 1 โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุมวิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์เป็นแบบไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน การเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีลักษณะเป็นขบวนการเดียวกันที่มีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรกผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีพฤติการณ์กระทำซ้ำและกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระทำกันเป็นขบวนการ ซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่มีลักษณะของการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติอันเป็นการทำลายหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ นำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในที่สุด ทั้งเป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลาย ไม่ว่าจะโดยการพูดการเขียน หรือการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย

แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมีมติเป็นเอกฉันท์ สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง

รับชมการอ่านคำวินิจฉัยจองศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็มได้จากวิดีโอของ YouTube Channel: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ด้านล่างนี้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

เจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ

เจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ

บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ "77 ข่าวเด็ด" (77kaoded.com) เป็นคนปทุมธานีโดยกำเนิด เชื่อมั่นในเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ