X

ฮือฮา!!น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีคราม นักวิชาการเรียก”น้ำหิว” สวยแต่อันตราย

นครพนม – ฮือฮา!!น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีคราม นักวิชาการเรียก”น้ำหิว” สวยแต่อันตราย เรือสำราญหยุดล่อง

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณีจังหวัดนครพนม ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และสร้างความฮือฮาแก่ประชาชน นักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาท่องเที่ยว เนื่องจากระดับในน้ำโขมีความผันผวน และแห้งขั้นวิกฤต ล่าสุดระดับน้ำโขงเฉลี่ยต่ำสุดที่ประมาณ 1 เมตร ถือว่าต่ำสุดในรอบกว่า 50 ปี ทำให้หลายจุดกลางน้ำโขงในเขตอำเภอท่าอุเทน,เมือง และอำเภอธาตุพนม เกิดสันดอนทรายเป็นพื้นที่กว้างหลายร้อยไร่ บางจุดมีสันดอนทรายโผล่ยาวเป็นระยะทางยาวกว่า 2-3 กิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือข้ามฟากไทยลาว รวมถึงเกษตรกรที่ใช้น้ำในการเกษตร ต้องมีการวางท่อสูบน้ำเป็นระยะทางไกลขึ้น และล่าสุดเรือสำราญแม่โขงพาราไดซ์ครูซ ซึ่งเป็เรือนำเที่ยวขนาดใหญ่ของจังหวัด ประกาศแจ้งหยุดล่องเรือ ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน- 1 ธันวาคม เพื่อประเมินสถานการณ์

ขณะเดียวกันในแม่น้ำโขง เกิดปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เนื่องจากน้ำที่เคยเป็นขุ่นสีปูน ได้เปลี่ยนเป็นสีฟ้าครามคล้ายน้ำทะเล ทำให้มีสีสันสวยงาม บวกกับเกิดหาดทรายตามแนวริมฝั่งแม่น้ำโขง กลายความสวยสวยงามทางธรรมชาติที่ลงตัว ทำให้มีประชาชน นักท่องเที่ยว เดินทางไปชมและเซลฟี่ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ซึ่งจากข้อมูลของนักวิชาการกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง พบว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวถึงแม้จะสวยงาม แต่ที่สำคัญคือสัญญาณอันตราย ที่บ่งชี้ว่าจะเกิดภัยแล้งขาดน้ำขั้นวิกฤติ เนื่องจากระดับน้ำโขงที่เป็นสีฟ้าครามคล้ายน้ำทะเล เพราะแม่น้ำโขงปริมาณต่ำ ทำให้น้ำนิ่ง จนเกิดการตกตะกอนใส บวกกับการทำปฏิกิริยาระหว่าง หินทราย ทำให้มองเห็นเป็นสีฟ้าครามสวยงาม

โดยนายอาทิตย์ พนาศูนย์ ประธานชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ระดับน้ำโขงผันผวน ปีนี้ถือว่าหนักสุดในรอบกว่า 50 ปี ตั้งแต่ช่วงปลายฝนต้นหนาวมาถึงปัจจุบัน ยังไม่ทันถึงปีใหม่ น้ำโขงแห้งขอดหนักกว่าทุกปี ส่วนปัจจัยไม่เพียงเป็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของประเทศจีน รวมถึงเขื่อนในประเทศลาวเท่านั้น ยังได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ หรือภาวะโลกร้อน ที่ทำให้ธรรมชาติถูกทำลาย สภาพอากาศแปรปรวน เป็นการทำลายความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ที่สำคัญทำให้ปริมาณฝนน้อยทิ้งช่วง ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้แล้งน้ำมีปริมาณน้ำต่ำ รวมถึงน้ำโขง สิ่งเหล่านี้คือปัญหาของระบบนิเวศน์กำลังถูกทำลาย นอกจากนี้หลังน้ำโขงแห้ง ยังเกิดปรากฎการณ์น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีฟ้าครามคล้ายทะเลที่สวยงาม หลายคนมองว่าเป็นความสวยงามแปลกตา แต่หารู้ไม่ว่านั่นคือสัญญาณอันตราย ตัวบ่งชี้ว่าภัยแล้งวิกฤตจะมาเยือน สิ่งที่ตามมาคือปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงระบบนิเวศน์ถูกทำลาย ปลาน้ำโขงเริ่มสูญพันธุ์ อาชีพประมง เกษตรกรขาดรายได้ ซึ่งแนวทางการแก้ไขจะต้องมีการหารือกันระดับประเทศ บวกกับคนในพื้นที่จะต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ถึงแม้อาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ถือว่าจะเป็นการลดความรุนแรงของผลกระทบที่จะตามมา

กรณีน้ำโขงเปลี่ยนสี นักวิชาการเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Hungry Water Effect: เมื่อน้ำโขงหิวตะกอน น้ำห่างฝั่งใสเป็นสีฟ้าราวน้ำทะเล ส่วนน้ำใกล้ฝั่งจะเห็นว่าขุ่นกว่าอย่างชัดเจน เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “น้ำหิว” คือ น้ำที่ถูกกักมาหลังเขื่อนและไหลช้า ในฤดูนี้ตะกอนจะตกอยู่ในอ่างเก็บน้ำท้ายเขื่อนหมด น้ำที่ปล่อยออกมาจะเป็นน้ำใสที่ไม่มีตะกอน น้ำพวกนี้หิวตะกอน ผ่านตลิ่งผ่านท้องน้ำตรงไหนก็ดึงเอาตลิ่งตรงนั้นออกมา เกิดการกัดเซาะตลิ่งและพื้นท้องน้ำมากกว่าปกติ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน