X

“นครพนม” สสส.จับมือ อบต.พิมาน ร่วม 12 อปท.สร้างสุขภาพ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

วันที่ 6 มิถุนายน 2565 ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลพิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) พร้อมด้วย นางจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. และ นายบัญชา ศรีชาหลวง นายก อบต.พิมาน ในฐานะ ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน ร่วมกับ ผู้บริหารชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ จ.นครพนม รวม 12 อปท. และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน พร้อมตัวแทนภาคประชาชน ร่วม พิธีเวทีเสวนา เพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) 3 ฝ่าย ประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนตำบลพิมาน ในฐานะศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย 12 อปท. เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การรู้รับปรับตัว เพื่อทำความเข้าใจแนวทางการตั้งรับและปรับตัวของชุมชนท้องถิ่น ออกแบบระบบการบริหารจัดการพื้นที่ ที่มีความยืดหยุ่นสูงต่อสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น และร่วมกำหนดเป้าหมายของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นไปตามแผนการดำเนินงานของแผนสุขภาวะชุมชน ในปี 2565 ที่มีเป้าหมายให้เกิดพื้นที่ตัวอย่างและศูนย์เรียนรู้ในการจัดการผลกระทบจากสถานการณ์ทั่วไปและสถานการณ์วิกฤต ในพื้นที่ชุมชนเมืองและชุมชนชนบท สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีองค์การบริหารส่วนตำบลพิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เป็น 1 ใน 5 ศูนย์จัดการเครือข่ายรู้รับปรับตัว ที่มีศักยภาพในการทำหน้าที่เป็น ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน ที่มีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เป็น อบต.ต้นแบบ ในการสานงานของ สสส. นำร่องการดูแลสุขภาพชุมชน ควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพ สร้างเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และการพัฒนาท้องถิ่นสู่ชุมชนเข้มแข็ง ทั้งนี้จึงได้ขยายเครือข่าย ร่วมกับ 12 อปท. เข้าร่วมโครงการ เพื่อสร้างเครือข่ายในการทำงานเชิงรุกร่วมกับ สสส. ให้ประชาชนได้รับประโยชน์ในการพัฒนารอบด้าน

นอกจากนี้ในการจัด พิธีเวทีเสวนา พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ยังได้มีการนำเยี่ยมชมความสำเร็จ เกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เป็นโมเดลต้นแบบให้กับ อปท.ที่ร่วมโครงการ ทั้งการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน กิจกรรมสภาเด็กและเยาวชน การพัฒนาส่งเสริมอาชีพชุมชน การส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงการจัดนิทรรศการส่งเสริมอาชีพ ครบวงจร

ด้าน นายบัญชา ศรีชาหลวง นายก อบต.พิมาน เปิดเผยว่า อบต.พิมาน นอกจากจะมุ่งเน้นการพัฒนาท้องถิ่น โดยเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนเป็นหลัก ควบคู่กับโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคทุกด้าน ยังได้นำร่อง สร้างความร่วมมือทำงาน ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การรู้รับปรับตัว ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพชุมชน ควบคู่กับการสร้างอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้ยั่งยืนให้กับชุมชน ทั้งนี้ พื้นที่ อบต.พิมาน เป็นตำบลต้นแบบสำคัญที่มีจุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐาน จึงได้ยกระดับการพัฒนา ประกอบด้วย การดูแลสุขภาพคนในชุมชน ดูแลผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ยากไร้ด้อยโอกาส ให้ได้รับการดูแลทั่วถึง รวมถึงการบริหารจัดการให้ชุมชนเรียนรู้เรื่องการบริหารการเงินด้วยชุมชน ในการจัดตั้งสถาบันการเงินของชุมชน เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ รวมถึงบริการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือชุมชน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมอาชีพภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการทอผ้าพื้นเมือง สร้างรายได้ การบริหารจัดการขยะ การส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ให้ชุมชนหันมาทำอาชีพการเกษตรลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ การจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมให้ลูกหลานเยาวชน มีจิตอาสาพัฒนาสังคม และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมการท่องเที่ยว เชิงประวัติศาสตร์ เนื่องจากพื้นที่ ต.พิมาน เป็นที่ตั้งอนุสรณ์สถานแห่งความสงบภูพานน้อย รู้รักสามัคคี ซึ่งอดีตเคยเป็นพื้นที่สีแดง ของการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ให้หน่วยงานทหารนำแนวทางปรองดอง พร้อมส่งเสริมอาชีพให้ประชาชน จนเกิดความสงบ กองทัพภาค 2 จึงได้จัดสร้าง อนุสรณ์สถานแห่งความสงบภูพานน้อย รู้รักสามัคคี เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจชาวไทยให้รู้รักสามัคคี ตั้งแต่ปี 2542 โดย อบต.พิมาน ได้เข้าไปพัฒนา ดูแลพื้นที่ กว่า 500 ไร่ จัดเป็นศูนย์เรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน อีกทั้งยังมีวัดสำคัญ คือวัดศรีชมชื่น ที่มีการก่อสร้างกุฏิพระแบบช่างญวน ที่ได้รับอิทธิพบจากตะวันตก ยุคล่าอาณานิคม เป็นกุฏิที่มีการก่อสร้างสไตล์ฝั่งเศส ที่มีความสวยงาม วิจิตตระการตา และเป็นเอกลักษณ์ที่สวยงามโดดเด่น ถูกก่อสร้างขึ้น เมื่อปี 2482 อายุเก่าแก่ ร่วม 100 ปี ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสำคัญ ของชุมชน

นายบัญชา ศรีชาหลวง กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนตำบลพิมาน ทำหน้าที่เป็น ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย ทั้ง 12 แห่ง พัฒนารูปธรรมตามชุดกิจกรรมเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวและตั้งรับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤติอย่างน้อย 5 เรื่อง ดังนี้ 1.พัฒนาระบบการจัดการพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวและตั้งรับ 2.เตรียมความพร้อมระบบการดูแลและบริการสุขภาพ 3.ยกระดับการจัดการแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบเศรษฐกิจชุมชน 4.เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงข่ายการช่วยเหลือทางสังคม และ 5.การจัดการและปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับตัว นอกจากนี้ ทั้ง 13 อปท. จะร่วมกันประสานงานและสรรหานักสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน ให้มีการรวมตัวกันเป็น ที่ทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานของผู้นำ ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยร่วมกันผลักดันนโยบายสาธารณะระดับเครือข่ายสู่การปฏิบัติการจริงในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

ด้าน ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่า สสส. ทำงานกับท้องถิ่นมานานหลาย 10 ปี สนับสนุนพัฒนาเครือข่ายแกนนำ สนับสนุนการพัฒนาข้อมูล พร้อมยกระดับการส่งเสริมต่อเนื่อง อย่างเช่น อบต.พิมาน เริ่มต้นจากแม่ข่าย ก้าวสู่ศูนย์ประสานงานเฉพาะด้าน มีความชำนาญในเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุ ต่อมาได้พัฒนามาเป็นชุมชนรู้รับปรับตัว เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่จะเข้าใจปัญหาเมื่อเกิดวิกฤติต่างๆ ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ภัยพิบัติต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทุกด้าน หากชุมชนเข้มแข็ง สามารถรับสถานการณ์ได้ทันท่วงที จะส่งผลดีไม่เกิดผลกระทบกับชุมชน นอกจากนี้ท้องถิ่นต้องทำงานเป็นระบบ ต้องมีการเก็บข้อมูล มีการพัฒนาบุคลากรการทำงาน ให้มีประสิทธิภาพตลอด ไม่ต้องรอหน่วยงานระดับสูงสั่งการ เพราะจะไม่เกิดความยั่งยืนการพัฒนา หากมีการปรับตัวเข้าสู่ระบบชุมชนท้องถิ่น จะเกิดประโยชน์แก่ประชาชน โดย สสส.จะต้องเป็นหน่วยงานสำคัญในการสนับสนุน กระตุ้นการทำงาน สร้างเครือขายให้ได้มากที่สุด คือ จะต้องบูรณาการทุกหน่วยงานมาร่วมกัน ทำให้ปัจจุบันมี อปท.เข้าร่วมโครงการมากกกว่า 3,000 แห่ง จะมีแม่ข่ายแกนนำ ประมาณ 400 -500 แห่ง ที่จะทำหน้าที่สานต่องาน สสส. ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมประสานงานสร้างเครือข่ายให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยเริ่มจากคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นหลัก ควบคู่กับการพัฒนา โดยในอนาคต สสส.จะมีการขับเคลื่อนผลักดันร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เป็นนโยบายรัฐ สนับสนุนให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำงานเป็นระบบ เกิดประโยชน์กับชุมชนแท้จริง แต่ปัจจุบันกำลังเตรียมพร้อมเรื่องข้อมูลรวมถึงโมเดล ต้นแบบ ที่แสดงเห็นถึงความสำเร็จ รวมถึงสรุปปัญหา ก่อนที่จะนำเสนอเป็นนโยบายระดับชาติต่อไปในอนาคต

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน