X

นครพนมกลับมาอยู่โซนสีขาว ปลอดโควิดนานเกือบ 3 อาทิตย์ คลายล็อก 6 กิจการ

นครพนม – กลับมาอยู่โซนสีขาว ปลอดโควิดนานเกือบ 3 อาทิตย์ คลายล็อก 6 กิจการ ผ่อนปรนออกนอกบ้านไม่สวมแมสก์ ประเมินผลวันต่อวันไม่เวิร์คเจอยาแรง

วันที่  1 พฤษภาคม 2563 ที่ห้องประชุมร่มฉัตร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม​ (สสจ.ฯ)  นายสยาม  ศิริมงคล ผวจ.นครพนม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการป้องกันโรคติดต่อโควิด-19 ประกอบด้วย นพ.จิณณพิภัทร  ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม นพ.ธราพงษ์  กัปโก รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ​ (ด้านเวชกรรม) นพ.ยุทธชัย  ตริสกุล ผอ.รพ.นครพนม พล.ต.ต.ธนชาติ  รอดคลองตัน ผบก.ภ.จว.นครพนม  ดร.สมชอบ  นิติพจน์  นายก อบจ.นครพนม  นายนิวัต  เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนครพนม ฯลฯ

เบื้องต้น ผวจ.นครพนม กล่าวว่า มาตรการและแนวทางในการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  หรือโรคโควิด-19  มีการกำหนดให้มีการผ่อนผันกิจการบางประเภทใน 6 กลุ่ม สามารถดำเนินการได้ภายใต้ความเข้มงวด และมาตรการต่าง ๆ ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนดได้นำไปใช้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม  ประชุมเพื่อกำหนดมาตรการให้เป็นมาตรฐานที่ ศบค.กำหนด ประกอบกับมาตรการบางอย่างที่จังหวัดนครพนมเห็นความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเติมเข้าไป

โดยหลักกิจการ 6 ประเภท นครพนมสามารถดำเนินการได้เป็นส่วนใหญ่ มีการปรับตัวบ้าง เพราะได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว ควบคู่ไปกับการตรวจตราการเข้า-ออกเมือง

จากที่ประชุมฯ มีการกำหนดมาตรการหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของการเข้มงวด บังคับสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องออกมานอกเคหสถาน เพื่อรองรับคนที่จะออกมาทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นการผ่อนคลายตามนโยบายของรัฐ  “ตอนนั้นใช้คำว่า กรณีออกนอกเคหสถานต้องสวมหน้ากากอนามัย แต่ยังไม่ได้ทำออกมาเป็นคำสั่งเพื่อให้ประชาชนใช้ปฏิบัติ ประชาชนบางส่วนมีความห่วงใย บางส่วนสนับสนุน โดยที่ประชุมฯประมวลเรื่องจาก ศบค. ได้รับคำแนะนำจากหน่วยงานต่าง ๆ”

ผวจ.นครพนม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเข้มงวดเพื่อให้ประชาชนให้มีการระมัดระวังป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า คณะกรรมการโรคติดต่อฯ จึงมีข้อกำหนดให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่อเข้าไปอยู่ในที่สาธารณะ ซึ่งมีการเสี่ยงต่อการเผยแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“ถ้าเจ้าหน้าที่มองว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดฯ ก็มีการดำเนินการในระดับต่อไป แต่อาจทำให้ประชาชนมีข้อกังวล เช่น การไปทำไร่ไถนาต้องใส่หน้ากากหรือไม่ หรือถ้าไปคนเดียวไม่ได้อยู่ใกล้คนอื่น ก็ดูตามความปลอดภัย แต่ถ้ามีการรวมกลุ่มกัน มีความจำเป็นต้องใช้หน้ากาก  ในที่สาธารณะมีมาตรการให้ใส่อยู่แล้ว เช่น ตลาดโต้รุ่ง ศูนย์การค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต สถานที่ราชการ แม้แต่ในห้องประชุมก็ต้องสวมหน้ากาก”

“คณะกรรมการโรคติดต่อฯ จึงกำหนดมาตรการในการสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งก็มีประชาชนบางส่วนมีข้อสงสัย คือเป็นภาระจะต้องหาหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า จังหวัดนครพนมขอชี้แจงว่าได้มีการแจกหน้ากากผ้าให้กับประชาชนไปเป็นจำนวนมาก เช่น​ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แจกหน้ากากผ้ากว่า 700,000 ชิ้น สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม ผลิตหน้ากากผ้าแจกประชาชนอีก 78,000 ชิ้น กำลังทยอยส่งให้อำเภอต่างๆไปแจกถึงมือประชาชน หรือเทศบาลเมืองนครพนม ก็แจกไปแล้ว 100,000 ชิ้น กำลังจะแจกเพิ่มเติมอีก 50,000 ชิ้น อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ก็แจกหน้ากากอนามัยประมาณ 100,000 ชิ้น และจะมีการทยอยแจกอย่างต่อเนื่องทุกวัน  ในการแจกหน้ากากอนามัย จึงมีเพียงพอ ไม่น่าจะเป็นภาระสำหรับประชาชน สิ่งที่คาดหวัง คือ ประชาชนจะมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง และบุคคลอื่นที่มีโอกาสได้รับเชื้อฯ” ผวจ.นครพนม กล่าว

ด้าน พล.ต.ต.ธนชาติ รอดคลองตัน ผบก.ภ.จว.นครพนม กล่าวว่าการจะจับกุมผู้ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ไม่สวมหน้ากากอนามัยออกนอกบ้าน ต้องดูที่ความเป็นจริง เช่น ออกไปยืนอยู่ริมแม่น้ำโขง ตรงนั้นเป็นที่สาธารณะก็จริง แต่เราไม่ได้ไปอยู่รวมกลุ่มกันเป็นหมู่คณะ อย่างนี้ถือว่าไม่มีความผิด แต่ถ้านอกจากไม่สวมหน้ากากแล้ว เรายังไปรวมอยู่กันเป็นกลุ่ม แบบนี้ถือว่าผิดกฎหมาย พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ “ ผบก.ภ.จว.นครพนม กล่าว

นพ.จิณณพิภัทร  ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า  มาตรการของกลุ่มคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม ได้พิจารณาเพิ่มเติม ประเภท ตลาดสด ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย

มาตรการมีอยู่ 10 ข้อ คือการคัดกรองวัดอุณหภูมิทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย การทำความสะอาดพื้นแผงจำหน่ายสินค้า ก่อนและหลังการทำกิจกรรม กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน  ผู้ประกอบการและผู้ซื้อสินค้าต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ให้มีจุดบริการล้างมือ เว้นระยะห่างของแผง ยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร  ควบคุมจำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรม หรือลดเวลาการเข้าร่วมกิจกรรมให้สั้นลง ทำทะเบียนผู้ประกอบการ กำหนดทางเข้าออกทางเดียว หรือกรณีที่จำเป็นต้องมีทางเข้าหลายทาง ต้องมีการพิจารณาคัดกรองในการเข้า-ออก แบ่งโซนประเภทสินค้าในตลาดให้ชัดเจน ไม่อนุญาตให้มีเครื่องเล่นสำหรับเด็กในที่สาธารณะ

ร้านอาหาร  ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม ร้านอาหารริมทาง รถเข็น และหาบเร่  ให้พนักงานบริการหยุดงานเมื่อมีอาการ ไอ ไข้ จาม มีน้ำมูก  ห้องสุขาต้องจัดให้มีสบู่เหลวล้างมือ  ห้ามมิให้มีผ้าเช็ดมือที่ใช้ร่วมกัน ควรใช้เป็นกระดาษเช็ดมือ  มีการทำความสะอาดห้องสุขาด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

ซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ห้ามพนักงานที่มีอาการ ไอ ไข้ จาม มีน้ำมูก มาทำงาน  ประเภทกีฬา สันทนาการ กิจกรรมในสวนสาธารณะ การเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค ต้องเว้นระยะห่างกัน สนามกีฬากลางแจ้งห้ามเล่นเป็นทีม เช่น เทนนิส กอล์ฟ ยิงปืน  เครื่องออกกำลังกายสาธารณะให้มีการทำความสะอาดเครื่องออกกำลังกาย  ผู้ร่วมกิจกรรมให้สวมหน้ากากอนามัย และมีที่ล้างมือ

ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม  อนุญาตเฉพาะ ตัด สระ ไดร์  อุปกรณ์เป็นไปตาม ศคบ.กำหนด ช่างตัดผมล้างมือด้วยสบู่เหลว ก่อนและหลังการให้บริการแต่ละราย ห้องสุขาจัดให้มีสบู่เหลว และกระดาษเช็ดมือ ห้ามผู้มีอาการไข้ ไอ จาม บริการลูกค้าโดยเด็ดขาด  และร้านรับฝากสัตว์เลี้ยง ทำความสะอาดและกำจัดขยะ ผู้ให้บริการและผู้นำสัตว์เลี้ยงมาใช้บริการต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า มีการล้างมือด้วยสบู่เหลว หรือเจลล้างมือ ควบคุมผู้มาใช้บริการ  งดให้บริการลูกค้าที่มีอาการ ไข้ ไอ จาม

โดยมาตรการที่กล่าวมาทั้งหมด จะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 3 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ และจะมีการประเมินผลทุกวัน หากมาตรการผ่อนปรนนี้หละหลวม อาจจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  คณะกรรมการโรคติดต่อฯ อาจจะต้องกลับมาใช้ยาแรงอีกครั้ง

ทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากจังหวัดนครพนม กำหนดมาตรการเข้มข้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบกับไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อมาเป็นเวลา 19 วัน​แล้ว​ (นับจากวันที่ 12 เมย.-1 พค.63) จึงทำให้จังหวัดนครพนมกลับมาอยู่ในโซนพื้นที่สีขาวอีกครั้ง

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน