X

สกู๊ปรายงาน : “เพชรบัวทอง”สุดยอดมะขามหวานเพชรบูรณ์ แห่งปี 2567

สกู๊ปรายงาน : “เพชรบัวทอง”สุดยอดมะขามหวานเพชรบูรณ์ แห่งปี 2567

มะขามหวานสายพันธุ์ “เพชรบัวทอง” ซึ่งนางขันทอง มอญคำ เกษตรกรเจ้าของสวน“ไร่มณเฑียร” หมู่ 6 บ้านเนินเสาธง ต.ตะเบาะ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ไม่เพียงชนะเลิศการประกวดมะขามหวานสายพันธุ์อื่นๆเท่านั้น

แต่ยังสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศสุดยอดมะขามหวานเพชรบูรณ์ ประจำปี 2567 จนได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปครอบครองเป็นผลสำเร็จ

โดยมะขามหวานพันธุ์เพชรบัวทอง ถูกสันนิษฐานว่าเป็นมะขามหวานที่กลายพันธุ์มาจากพันธุ์สีทองกับพันธุ์อินทผาลัม โดยลักษณะเนื้อมะขามสายพันธุ์นี้ หากขาดน้ำเนื้อจะออกสีเข้มหรือคล้ำ รสชาติหวานหอมแล้ว ยังฝักใหญ่และมีความโค้งงอ

แม้มะขามหวานพันธุ์เพชรบัวทอง จะถูกจับตามองว่า เป็นมะขามหวานเพชรบูรณ์สายพันธุ์ใหม่ก็ตาม แต่สำหรับสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ และส่วนราชการอื่นๆ รวมทั้งนักวิชาการและเกษตรกรผู้ปลูกมะขามหวานในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์แล้ว ต่างคุ้นเคยชื่อมะขามหวานพันธุ์เพชรบัวทองกันเป็นอย่างดี

เพราะหลังมะขามหวานสายพันธุ์เพชรบัวทองปรากฎชื่อในเวทีการประกวดภานในงานมะขามหวานฯ เมื่อปี 2557 และสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมะขามหวานสายพันธุ์อื่นๆไปครอบครองได้สำเร็จเป็นปีแรก นับจากนั้นมะขามหวานสายพันธุ์นี้ ก็ถูกจับตามองและคาดการณ์ว่า จะเป็นมะขามหวานอีก 1 สายพันธุ์ ที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจและมูลค่าให้กับจ.เพชรบูรณ์

นายมณเฑียร พิกุลคำ เจ้าของสวนมะขามหวาน”ไร่มณเฑียร” หมู่ 6 บ้านเนินเสาธง ต.ตะเบาะ อ.เมืองเพชรบูรณ์ และเป็นลูกเขยนางขันทอง กล่าวว่า ต้นแม่พันธุ์ดั้งเดิมของเพชรบัวทองเป็นของยายบัว ศรีสน อยู่ที่ต.ตะเบาะ อ.เมืองเพชรบูรณ์ หลังจากมีผู้ไปพบและนำไปปลูกขยายพันธุ์และตั้งชื่อพันธุ์สายบัว แต่เนื่องจากชื่อไม่เพราะ จึงเปลี่ยนเป็นชื่อพันธุ์เพชรบัวทอง ปัจจุบันต้นแม่พันธุ์ดั้งเดิม เรื่องจากเจ้าของถมดินต้นพันธุ์ดั้งเดิมจึงถูกโค่นล้มไปแล้ว ในขณะที่ต้นมะขามเพชรยัวทองพันธุ์ดั้งเดิมมีอายุมากกว่า 30-40 ปี

“ตอนนั้นพ่อตามีโอกาสได้ชิมรสชาติจนติดใจ ผมไปซื้อต้นพันธุ์มาทดลองปลูก 2 ต้น กระทั่งผ่านไปราว 6 ปีเริ่มได้ผลผลิตโดยฝักค่อนข้างใหญ่ เนื้อหนา รสชาติหอมหวาน เมล็ดเล็ก จนคาดการณ์ว่าจะเป็นมะขามหวานอีกสายพันธุ์ที่มีอนาคตไกล จึงนำต้นพันธุ์มาขยายปลูกเพิ่ม โดยรุ่นแรกปลูกราว 100 ต้น หลังได้ผลผลิตและเป็นที่ถูกใจตลาดและผู้บริโภค ต่อมาจึงขยายพันธุ์เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเป็นรุ่นที่ 2 อีก 100 ต้น ตอนนี้รุ่น 2 ก็ให้ผลผลิตแล้วเช่นกัน”

“ในปี 2556 ผมเริ่มนำตัวอย่างมะขามหวานพันธุ์เพชรบัวทองเข้าสู่เวทีประกวดมะขามหวานเพชรบูรณ์ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์จัดขึ้น โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดฯเป็นผู้จัดการประกวด แต่เกิดข้อขัดข้องขึ้นทำให้ส่งเข้าประกวดไม่ได้ จนปี 2557 ผมจึงส่งเข้าประกวดอีกครั้ง ปรากฎว่าได้รางวัลชนะเลิศในประเภทพันธุ์อื่นๆ กระทั่งเกิดความฮือฮา ทำให้มะขามหวานสายพันธุ์นี้ได้รับการแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการ โดยชื่อมะขามหวานพันธุ์เพชรบัวทอง ได้ถูกกล่าวขานถึงจนเป็นที่รู้จักในหมู่นักวิชาการและชาวสวนมะขามหวาน”นายมณเฑียรกล่าว

นายมณเฑียรกล่าวว่า หลังจากนั้นในเวทีการประกวดมะขามเพชรบูรณ์แทบทุกปี ก็ปรากฎชื่อมะขามหวานพันธ์เพชรบัวทองมาโดยตลอด โดยได้รับรางวัลรองชนะเลิศหรือรางวัลชมเชยสลับกันไป กระทั่งในการประกวดมะขามหวานเพชรบูรณ์ปี 2567 ตนจึงส่งตัวอย่างเข้าประกวดอีกครั้ง สุดท้ายมะขามหวานพันธุ์เพชรบัวทอง นอกจากจะคว้ารางวัลชนะเลิศมะขามหวายสายพันธุ์อื่นๆแล้ว ยังได้ครองถ้วยพระราชทานฯ ชนะเลิศสุดยอดมะขามหวานเพชรบูรณ์ แห่งปี 2567 อีกด้วย ถือเป็นเกียรติประวัติอันสูงส่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับครอบครัวผมที่เฝ้ารอมาอย่างยาวนาน”

“หลังจากสามารถครองถ้วยพระราชทานฯ ซึ่งุเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศมาแล้ว ตอนนี้ออเดอร์สั่งจองมะขามหวานพันธุ์เพชรบัวทองเริ่มเข้ามากันเพียบ แต่เนื่องจากเป็นมะขามพันธุ์หนัก โดยจะเริ่มสุกพร้อมเก็บเกี่ยวในราวปลายเดือนกุมภาพันธุ์นี้ ทำให้ขณะนี้มีคิวรอจนยาวเหยียด นอกจากนี้ยังมีห้องเย็นหลายแห่งติดต่อเข้ามา เพื่อจะส่งออกไปยังประเทศยุโรป แต่จำเป็นต้องปฏิเสธ เพราะแค่จำหน่ายหน้าสวนผลผลิตก็ไม่เพียงพอแล้ว”

“ส่วนราคาจำหน่ายหน้าสวน ณ เวลานี้ หากแบบคัดเกรดตกราวกิโลกรัมละ 100-120 บาท สำหรับการจำหน่ายกิ่งพันธุ์เพชรบัวทองนั้น ทางญาติรับไปดำเนินการทั้งหมด โดยจำหน่ายต้นละ 50 บาท ซึ่ง ณ เวลานี้ก็มีออเดอร์เข้ามามากเช่นกัน” เจ้าของสวนมะขามหวานไร่มณเฑียรกล่าว

นายมณเฑียรยังกล่าวด้วยว่า “ปัจจุบันครอบครัวผมมีพื้นที่ปลูกมะขามหวาน พันธุ์เพชรบัวทอง,พันธุ์ประกายเพชร, พันธุ์ขันตี ทั้งภายในไร่มณเฑียร 1 และ 2 รวม 2 แปลง เนื้อที่ราว 40 ไร่เศษ ซึ่งในอนาคตเตรียมจะขยายพื้นที่ปลูกมะขามพันธุ์เพชรบัวทองเพิ่มเติมอีกราว 100 ต้น ส่วนต้นมะขามที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ก็จะเตรียมโค่นลง ตามคำชี้แนะของนักวิชาการซึ่งให้เหตุผลว่า ต้นมะขามที่อายุมาก นอกจากจะให้ผลผลิตน้อยแล้วยังมีไม่ค่อยมีคุณภาพอีกด้วย”

ฉะนั้นคงต้องติดตามดูกันว่าในอนาคตอันใกล้นี้ มะขามหวานพันธุ์เพชรบัวทอง จะก้าวเดินตามมะขามหวานสายพันธุ์รุ่นพี่ๆ ที่จะช่วยฉุดกระชากความหวังให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะขามหวานเพชรบูรณ์ พร้อมช่วยเติมเต็มคำที่ว่า “เพชรบูรณ์เมืองแห่งมะขามหวาน” ให้สมกับความภาคภูมิใจได้มากน้อยเพียงไร?…

: สุนทร คงวราคม / ทีมข่าว 77ข่าวเด็ด รายงาน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน