X

ประมงจังหวัดกาญจนบุรี แนะวิธีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรับมือหากเกิดฝนตกหนัก มีขั้นตอนแก้ปัญหาง่าย ๆ ในช่วงหน้าฝน

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2567 ประมงจังหวัดกาญจนบุรี ได้แจ้งประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ทราบ เมื่อเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนัก ค่าออกซิเจนในน้ำจะลดลงและน้ำในบ่อจะแบ่งชั้นกันอย่างชัดเจน ระหว่างน้ำฝนกับน้ำในบ่อ ส่งผลให้ปลาตกใจช็อคจากการ ปรับสภาพไม่ทัน ส่งผลให้ “ปลาตาย” นั้นเอง สาเหตุนี้ก็เป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ปลาจะน็อคน้ำ ปรับสภาพไม่ทัน

โดยมี 3 เทคนิค ง่าย ๆ แก้ปัญหาปลาตายในหน้าฝน

1.เมื่อฝนตกหนัก ทำให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลง ปลาจะลดการกินอาหาร ดังนั้นการให้อาหารปลา ควรลดปริมาณอาหารให้น้อยลง หรืองดอาหารในวันที่ฝนตกหนัก

2.เมื่อฝนตกหนักๆ จะพัดพาพวกปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ขี้เถ้าแกลบจากการเผาป่า ล้วนเป็นพิษต่อปลา ซึ่งอาจได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงที่ฝนตกใหม่ๆ น้ำฝนจะชะล้างความเป็นกรดจากอากาศและดินลงสู่บ่อ ทำให้ pH ของ น้ำในบ่อต่ำลง ความเป็นพิษของก๊าซไข่เน่า และแอมโมเนียจะมากขึ้น ทำให้ปลาลอยหัวขึ้นมาหาอากาศหายใจ ซึ่งอาจทำให้ปลาเครียด ป่วย และตายได้

3.หากสภาพอากาศมืดครึ้ม ฝนไม่ตก หรือสภาพอากาศอบอ้าวเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งมีผลต่อการแลกเปลี่ยนออกซิเจนระหว่างชั้นบรรยากาศกับผิวน้ำได้ลำบาก ทำให้ปลาเกิดสภาพขาดออกซิเจน ปลาจะขึ้นมาลอยหัวหาอากาศบนผิวน้ำจำนวนมาก และเมื่อฝนหยุดตก ควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อเพิ่มออกซิเจน และคลุกเคล้าน้ำฝนกับน้ำในบ่อให้เข้ากัน เพื่อป้องกันการแบ่งชั้นน้ำ และลดปัญหาปลาตาย

สำหรับวิธีแก้ไขปัญหาปลาตายที่เกิดจากอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันควรปฏิบัติดังนี้

1.การทำให้น้ำในบ่อมีการหมุนเวียนหรือเคลื่อนไหว โดยใช้เครื่องสูบน้ำ สูบน้ำในบ่อแล้วพ่นน้ำขึ้นบนอากาศให้น้ำตกลงในบ่อเหมือนเดิม หรือเครื่องตีน้ำ เพื่อให้น้ำในบ่อมีการหมุนเวียน

2.ควรถ่ายเทน้ำเก่าในบ่อออก แล้วใส่น้ำใหม่เข้าไปแทนในปริมาณเท่าเดิม เมื่อเลี้ยงครบรอบให้ตากบ่ออย่างน้อย 3 – 5 วัน

3.ใส่จุลินทรีย์ เช่น ปุ๋ยน้ำชีวภาพ พด. 6 หรือ EM ในบ่อ เพื่อให้น้ำมีสภาพดีขึ้น

4.ใส่ปูนขาวในอัตรา 5-10 กก./ไร่/ครั้ง ห่างกันอาทิตย์ละครั้ง ใส่รวมกันไม่เกิน 60 กก./ไร่ โดยละลายปูนขาวในน้ำ แล้วสาดเฉพาะส่วนที่น้ำปูนขาวลงในบ่อ

5.ใส่เกลือแกง ในอัตรา 160 กก. / ไร่ (ไม่ควรใส่เกลือแกงพร้อมกับปูนขาว เพราะจะเกิด การยับยั้งฤทธิ์ซึ่งกันและกัน) ควรใส่โดยการหว่านเป็นเม็ด

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน