X

เครือข่ายองค์กรชุมชนภาคอีสาน ยื่น 6 ข้อเสนอ รมว.พาณิชย์ หนุนเศรษฐกิจชุมชน

นครราชสีมา/ วันที่ 27 มกราคม 2561 ณ หอประชุม อำเภอลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน 20 จังหวัด ร่วมกับอำเภอลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ ท้องที่ ท้องถิ่น และภาคประชาสังคม กว่า 30 องค์กร ร่วมกันจัดงานสมัชชาสภาพลเมืองอีสาน “ตุ้มโฮมฮักแพงแบ่งปันอีสานหนึ่งเดียว” ซึ่งได้รับเกียรติจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และเป็นประธานพิธีปิด โดยมีรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ และข้าราชการ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายอำเภอลำทะเมนชัย หัวส่วนหน่วยในพื้นที่ และขบวนองค์กรชุมชนจากภาคอีสาน 20 จังหวัด เข้าร่วมการประชุม

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในหัวข้อนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยระบุว่า ตนตั้งใจมาเยี่ยมเยียน เป็นกำลังใจกับขบวนองค์กรชุมชน ตนเองทำงานกับ พอช.มาหลายปี ตอนนั้นทำในนามมูลนิธิสัมมาชีพ ที่อยากสร้างให้เกิดสัมมาชีพเต็มพื้นที่ กินดีอยู่ดี ชาวบ้านมีรายรับมากกว่ารายจ่าย แต่ข้อเท็จจริงประเทศไม่ได้เป็นดังนั้น เมื่อรายได้มากกว่ารายจ่าย ชีวิตก็จะไม่ทุกข์ ทุกวันนี้รายรับน้อยกว่ารายจ่ายจึงเกิดปัญหาขึ้นตามมา

รมว.พาณิชย์ แนะว่า ชาวบ้านต้องไม่เบียดเบียนตนเอง อะไรที่ไม่ดีก็อย่าไปทำ ตนเบียดเบียนตนก็จะเกิดการเบียดเบียนคนอื่นที่ต้องเข้ามาช่วย กระทรวงพยายามหาทางแกให้พี่น้องมีรายได้มากกว่ารายจ่าย ก็ต้องทำให้พี่น้องชุมชนแข็งแรง

วันนี้ตั้งใจมา ขบวนองค์กรชุมชนมารวมตัวกันที่นี่ พี่น้องมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ เมื่อพี่น้องคิดและทำแล้วรัฐบาลไม่มาเชื่อมก็จะเกิดการติดขัด การเชื่อมโยงของขบวนชุมชนก็เป็นกันไปได้ยาก ที่เชื่อมโยงดีก็แข็งแรง พลังของชุมชนอยู่ที่การร่วมมือ ร่วมคิดร่วมทำ ถ้าชุมชนรวมกันร่วมกันไม่ได้ก็ไม่มีแรง คนตัวแล็กไม่แข็งแรง ถ้าเชื่อมโยงกันได้เมื่อไหร่จะมีพลังมากกว่าคนตัวใหญ่

ร้านค้าในชุมชนร้านขายของชำ 20 ปีที่ผ่านมาทยอยเลิก เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง มีห้างสมัยใหม่เข้ามาจากจังหวัดสู่อำเภอ ร้านของชำค่อนปิดร้านค่อยๆ ตาย เพราะขายแพงกว่าเขา ของเก่า แต่ร้านค้าใหม่มีของทันสมัยสะดวกดูดีกว่า เปรียบพี่น้องในชนบทก็เหมือนร้านค้าของชำ ตนจะผลักดันให้ร้านค้าชุมชนเกิดขึ้น 40,000 ร้านค้า จาก 20,000 ร้านค้าบัตรสวัสดิการในปัจจุบัน ประเทศไทย 80,000 หมู่บ้าน 1 ร้านค้าต่อ 2 หมู่บ้าน ให้กระจายทั่วประเทศ

เราจะทำให้คนตัวเล็ก ให้ร้านค้าเล็กๆ แข็งแรงขึ้น ถ้าเราคนตัวเล็ก ต่างคนต่างอยู่ ไม่ต่างจากร้านของชำที่ค่อยตายไป สิ่งที่พี่น้องทำเดินมาถูกทาง ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของเราได้นอกจากเราลุกขึ้นมารวมกันเปลี่ยนแปลง รัฐบาลมีข้อจำกัด คนน้อย เงินไม่เยอะต้องกระจายทั่วประเทศ เป็นที่มาของนโยบายประชารัฐ ลำพังต่างคนต่างทำประเทศนี้เอาดีไม่ได้ จะช่วยให้ประชาชนพ้นความยากจน ต้องใช้การจับมือกัน ประชาชนจับมือกับรัฐบาล แล้วดึงเอกชนเข้ามาเพราะมีความชำนาญ

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจฐานรากคือนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ล่าสุดลงเม็ดเงิน 35,000 ล้านบาท ทำบัตรสวัสดิการเฟส 2 พี่น้องลำบากรายได้น้อย 11.4 ล้านคน ที่ต่ำกว่า 30,000 บาท พี่น้องอยู่ลำบาก ให้พี่น้องเดือนละ 300 เดือนละ 200 แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ใช้วิธีการแจกบัตรสวัสดิการ ไม่แจกตังค์เพราะซื้อเหล้าเบียร์และใช้หนี้ เงินไม่ถึงมือพี่น้อง ลูกเมียไม่ได้กินได้ใช้

และได้ช่วยร้านค้าเล็กๆ ได้อยู่รอด จาก 20,000 ร้านค้า จะเป็น 40,000 ร้านค้า และต่อไปจะเอาสินค้าชุมชน และบังคับให้ร้านค้าที่ร่วมกับกระทรวงฯ ต้องให้สินค้าชุมชนไปวางขายได้ เอาบัตรไปรูดปลาร้าก็ต้องได้ ให้พาณิชย์ทุกจังหวัดเป็นคนคัดสินค้าที่มีคุณภาพ ทำข้าวก็ให้มาตรฐาน ทำปลาร้าให้ได้มาตรฐาน

ทุกวันนี้ชาวบ้านมีสินค้าที่ดีแต่ไม่รู้ขายที่ไหน แลจะจัดมุมสินค้าธงฟ้าประชารัฐวางขายช่วยพี่น้อง และกระทรวงพาณิชย์ก็จะมีสินค้าราคาถูกลงในร้านค้าบัตรสวัสดิการ กาฬสินธุ์จนที่สุด ที่อำเภอคำม่วง มีพุดซานมสดที่อร่อย แต่กลับขายได้ราคาถูก 20 บาท แต่ที่ตลาดขาย 90 บาท รัฐบาลจะพัฒนาอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ให้เกิดอีคอมเมิรซ์ ขายสินค้าที่เป็นของดีชุมชน กระทรวงพาณิชย์จะทำของดีของชุมชน เป็นตลาดสินค้าชุมชนออไลน์

และที่สำคัญอีสานเป็น 1 ใน 17 แห่งของโลกที่นักท่องเที่ยวอยากมาเที่ยวที่สุด อีสานติดอันดับ 6 ของโลก การท่องเที่ยวจะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก การท่องเที่ยวทำให้ประเทศไทยอยู่ได้ ปีที่แล้วคนมาเที่ยวเมืองไทย 35 ล้านคน อีสานจะเป็นดินแดนทองคำของการท่องเที่ยว เป็นเส้นทางที่ตัดผ่านภูมิภาค การท่องเที่ยวจะเป็นจุดคานงัด

ตราบใดที่เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์จะต่อสู้เพื่อให้สินค้าเกษตรราคาดี  รัฐบายมุ่งเน้นนโยบายเศรษฐกิจฐานราก รัฐบาลต้องการช่วยประชาชน รัฐบาลจะใช้เวลาที่เหลือ จับมือร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อขจัดปัญหาความยากจน นายสนธิรัตน์ กล่าวในตอนท้าย

อย่างไรก็ตามตัวแทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน นายวิรัตน์ สุขกุล ได้ยื่นข้อเสนอ เพื่อให้รัฐบาลโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำข้อเสนอของขบวนองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบาย แผนงาน ยุทธศาสตร์สำคัญ 6 ข้อ คือ

1.ขอให้รัฐบาลมีปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาประเทศ ปฏิรูปวัฒนธรรมระบบการผลิตมุ่งสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ที่เน้นการวางรากฐานเศรษฐกิจประเทศ โดยให้เน้นการพัฒนา “คน ชุมชน” เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ให้มีความเข้มแข็งมีเสถียรภาพ

มีภูมิคุ้มกัน ต่อการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญนำไปสู่การขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างเป็นความธรรม ที่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในการพัฒนาที่ยั่งยืน

2.ขอให้รัฐบาลพัฒนาขีดความสามารถของ คน ครอบครัว และชุมชน ให้มีหลักประกันด้านรายได้ โดยยกระดับขีดความสามารถของ  “คน ชุมชน” จากผู้บริโภค ให้เป็นผู้ประกอบการ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกัน ที่เกิดจากการ “ระเบิดจากภายใน” เรียนรู้การพึ่งตนเอง เชื่อมโยงสู่การฟื้นฟูการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักสากล

3.ขอให้รัฐบาลกำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเป็นวาระแห่งชาติด้วยการจัดตั้งกองทุน “การสร้างเศรษฐกิจชุมชนฐานรากตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” ภายใต้การดำเนินงานขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี มีคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ครอบคลุมพื้นที่ 5 ภูมิภาค กำหนดพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์แบบบูรณาการตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับประเทศ โดยใช้ “สภาองค์กรชุมชนตำบล” จำนวน 6,590 แห่ง เป็นแกนกลางสำคัญในการขับเคลื่อนโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งสร้างความร่วมมืออย่างเป็นระบบ

4.ขอให้กระทรวงพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด เชื่อมโยงสินค้าการเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าผลิตภัณฑ์ของชุมชน และธุรกิจบริการของชุมชน เข้ามาจำหน่ายและเพิ่มทางเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย เพิ่มเติมจากสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป และตามร้านธงฟ้าประชารัฐ

5.ขอให้กระทรวงพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และการส่งเสริมสนับสนุนผลิตผล ผลิตภัณฑ์ ท่องเที่ยวโดยชุมชน การแปรรูป และการตลาด ของชุมชน ตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับจังหวัด โดยใช้ “สภาองค์กรชุมชนตำบล” เป็นแกนกลางสำคัญในการขับเคลื่อนโดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

6.ขอให้พาณิชย์จังหวัดต้องปรับบทบาทเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนทำงานเชิงรุกร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ตำบล จังหวัดต้องมีแผนการทำงาน ตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและสร้างชุมชนผู้ประกอบการ ช่วยเพิ่มโอกาสช่องทางการขายสินค้าของชุมชน รวมทั้งมาตรการ สร้างแรงจูงใจ ต่อการทำธุรกิจเพื่อสังคม

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

คนทำงานในแวดวงการพัฒนาที่อยากเห็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง