X

ชาวตรังพร้อมใจทำบุญใหญ่วันส่งตายาย-สารทเดือนสิบ ภายใต้มาตรการโควิด19

ตรัง พุทธศาสนิกชนชาวตรัง หิ้วปิ่นโตเข้าวัดร่วมทำบุญให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับเนื่องในวันสารทเดือนสิบ (วันส่งตายายหรือวันทำบุญใหญ่)ประจำปี 2564 พร้อมถวายอาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ ภายใต้มาตรการโควิด19

วันที่ 6 ตุลาคม เวลา 07.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พุทธศาสนิกชนใน จ.ตรัง ต่างนำปิ่นโต หิ้วถุงกับข้าว ขนม เข้าวัดทำบุญกันตั้งแต่เช้า เนื่องในวันสารทเดือนสิบ หรือที่พี่น้องชาวบ้านภาคใต้เรียกว่าทำบุญเดือนสิบ หรือชิงเปรต ตามวัดต่างๆ ทำกับข้าวอาหารคาวหวานขนมและผลไม้ มาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติที่ล่วงลับ
โดยเฉพาะที่วัดกุฏยาราม ถ.เพลินพิทักษ์ ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง บรรยากาศช่วงเช้า ประชาชนชาวตรังจูงมือครอบครัวหิ้วปิ่นโตเข้าวัด ร่วมทำบุญใหญ่วันสารทเดือนสิบ หรือ วันส่งตายาย ที่จังหวัดตรัง ได้มีการนำอาหารคาวหวานไปร่วมทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่พรรพบุรุษปู่ย่าตายาย หรือผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความสามัคคี และความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับตามความเชื่อที่ว่าจะกลับมาเยี่ยมลูกหลานในช่วงวันสารทเดือนสิบของทุกปี ภายใต้มาตรการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยและตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายแบบนิวนอร์มอล อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ประเพณีวันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งการทำบุญในเดือน 10 ก็จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันบุญแรก หรือวันทำบุญเล็ก หรือ วันรับตายาย ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 22 กันยายน 2564 และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นบุญหลัง หรือวันทำบุญใหญ่ หรือวันส่งตายาย ซึ่งตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ถือว่าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10

สำหรับอาหารคาวหวานที่นำมาทำบุญในวันนี้ โดยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซัมหรือขนมรู ขนมเทียน และขนมกงหรือขนมไข่ปลา เพราะมีความเชื่อที่ว่า ขนมทั้งหมดนี้ จะเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งของเครื่องใช้ซึ่งผู้ล่วงลับไปแล้วสามารถนำไปใช้เป็นยานพาหนะ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ เงินทอง และของเล่นตามประเพณี มีการถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์ พร้อมกับกรวดน้ำให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ถือเป็นการทำส่งบรรพบุรุษผู้ล่วงลับอย่างสมบูรณ์ นอกจากนั้น ยังได้มีการนำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปตั้งบริเวณรอบนอกวัดหรือที่เรียกว่า หลาเปรต เพื่อเป็นการตั้งเปรต หรือสัมภเวสีอย่างละเล็กอย่างละน้อย หรือตามความเชื่อที่เรียกว่า การตั้งเปรต เมื่อตั้งเปรตเสร็จแล้วก็จะมีการให้ลูกหลานได้แย่งชิงจึงเป็นที่มาของชิงเปรต โดยจะนิยมไปตั้งเปรตที่บริเวณโคนต้นไม้หรือบริเวณกำแพงวัด เพื่อให้เปรตที่บาปหนาไม่สามารถเข้าวัดได้ ได้ส่วนบุญส่วนกุศลในครั้งนี้ด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน