X

ตรัง ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ติดตามปัญหาดูดทราย

คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่ อ.ย่านตาขาว เพื่อติดตามการแก้ปัญหาผลกระทบจากการขุด ตัก ดูดทราย ทำตลิ่งพัง คอสะพานชำรุด หลังจากชาวบ้านร้องเรียนว่าเกิดจากการดูดทรายที่ไม่ได้รับอนุญาต

วันที่ 9 ตุลาคม 2563 พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายเมธี มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 และคณะ ร่วมกับ นายไพบูลย์ โอมาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการขุด ตัก ดูดทราย ในพื้นที่อำเภอย่านตาขาว โดยเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา ทั้งปลัดอำเภอย่านตาขาว อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ตัวแทนโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตรัง แขวงทางหลวงชนบทตรัง สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาตรัง ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง คณะกรรมการตรวจสอบการดูดทรายในท้องที่อำเภอย่านตาขาว และผู้นำชุมชน ให้ข้อมูล และลงติดตามสถานที่จริงบริเวณหลังวัดช่องหาย ต.ในควน อ.ย่านตาขาว ที่ได้รับผลกระทบจากการขุด ตัก ดูดทราย ทำตลิ่งพัง คอสะพานชำรุด และตรวจสอบบางบ่อที่ยกเลิกกิจการหันทำการเกษตรแทน

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 คณะผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่มาตรวจสอบตามข้อร้องเรียนของประชาชนว่า มีการดูดทรายโดยไม่รับอนุญาต จำนวน 6 บ่อ ในพื้นที่ 3 ตำบล ติดคลองลำพิกุล ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของชาว อ.ย่านตาขาว ประกอบด้วย ต.ในควน, ต.โพรงจระเข้ และ ต.หนองบ่อ จนทำให้ตลิ่งทรุดพังเสียหาย รวมทั้งถนนทรุด และคอสะพานชำรุด โดยพบผู้ประกอบการกระทำการฝ่าฝืนกฎระเบียบ ข้อกฎหมายในหลายข้อ แม้จะดำเนินการในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง และได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจากกระทรวงอุตสาหกรรม อย่างถูกต้องก็ตาม เช่น ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันเริ่มการประกอบกิจการ, เลิกประกอบกิจการโรงงานโดยไม่มีการแจ้งให้เจ้าพนักงานทราบไม่น้อยกว่า 15 วัน รวมถึงระยะห่างจากชอบบ่อกับคลองลำพิกุลไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ดินอ่อนตัว ทรัพยากรธรรมชาติโดยรวมพังเสียหาย ส่งผลต่อทิศทางการไหลเวียนของน้ำ หรือไม่จัดทำเครื่องหมายเพื่อแสดงขอบเขตพื้นที่กรรมสิทธิ์กับลำคลองหรือที่ดินสาธารณะ ป้องกันความเสียหายที่เกิดกับทรัพยากร โดยคณะผู้ตรวจการแผ่นดินได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวให้ถูกต้อง ให้เรียกประชุมผู้ประกอบการทำความเข้าใจ ,ตรวจสอบบ่อทรายที่หยุดดำเนินกิจการและยังดำเนินกิจการว่ามีจำนวนกี่บ่อ รวมทั้งผลความคืบหน้าในการแก้ไขตามข้อสั่งการ ทั้งนี้ พบว่าหน่วยงานในพื้นที่กำลังเร่งปรับปรุงแก้ไขสะพานข้ามคลองลำพิกุล และสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง พร้อมย้ำให้ทุกอำเภอที่มีการขออนุญาตดูดทรายใกล้แหล่งน้ำ ก่อนจะอนุญาตให้ประกอบกิจการจะต้องไปดูสภาพแวดล้อมว่าจะกระทบกับแหล่งน้ำ, ทรัพยากรธรรมชาติ สะพาน ถนนหนทางหรือไม่ เพราะจังหวัดตรังเกิดฝนตกตลอด ทำให้ดินอ่อนตัว เมื่อขออนุญาตดูดทรายจะต้องตรวจสอบปริมาณความเหมาะสมของตะกอนดิน หรือปริมาณทรายที่จะดูดขึ้นมา และเกิดใหม่ว่าเหมาะสมกับหัวดูดหรือไม่ ต้องทราบปริมาณการดูด ปริมาณการขนจะต้องเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับแหล่งน้ำ และสิ่งสาธารณูปโภคอื่นตามมา เหมือนที่เกิดกับในพื้นที่ อ.ย่านตาขาว

พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า วันนี้เป็นการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนกรณีผลกระทบจากการประกอบกิจการดูดทรายในพื้นที่ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ทำให้ตลิ่ง ถนนทรุดพังเสียหาย และคอสะพานข้ามคลองลำพิกุลชำรุด โดยล่าสุดได้รับรายงานความคืบหน้าว่า อ.ย่านตาขาว ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดูดทรายในท้องที่ อ.ย่านตาขาว และเข้าตรวจสอบพื้นที่ที่มีการดูดทรายในพื้นที่แล้ว สรุปผลมีผู้ประกอบกิจการโรงงานขุด ตัก ดูดหรือร่อน คัดขนาดทรายในที่ดินกรรมสิทธิ์ในท้องที่ อ.ย่านตาขาว จำนวน 6 ราย ยังประกอบกิจการโดยอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงแก้ไข จำนวน 3 ราย และแจ้งเลิกประกอบกิจการ จำนวน 3 ราย ซึ่งบ่อทรายที่เคยเป็นปัญหาบริเวณที่ตลิ่งพังเสียหาย ได้แจ้งเลิกประกอบกิจการดูดทราย ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมสำหรับปลูกปาล์มน้ำมันแล้ว นอกจากนั้น ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ยังมีโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองลำพิกุล บริเวณหมู่ที่ 1 ระยะทาง 1,457 เมตร งบประมาณ 79 ล้านบาท โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 ซึ่งจะช่วยชะลอความเร็วของน้ำและลดความเสียหายในเวลาที่มีน้ำหลากจากเทือกเขาบรรทัด ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการขยายถนนและสะพานบริเวณหลังวัดช่องหาย จากเดิมกว้าง 7 เมตร ขยายเป็น 9 เมตร ระยะทางจาก 65 เมตร ขยายเป็น 90 เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและออกแบบโดยกรมทางหลวงชนบท คาดว่าจะได้รับการอนุมัติงบประมาณจำนวน 24 ล้านบาท ในปี 2565 ซึ่งจะทำให้การสัญจรไปมาสะดวก ปลอดภัย ทนทานต่อสภาพอากาศในพื้นที่นี้มากขึ้น เชื่อว่าเมื่อโครงการเหล่านี้สำเร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า พื้นที่ตรงนี้จะสามารถรองรับน้ำเมื่อเวลาฝนตกหนักหรือน้ำท่วมมากๆ ได้ และป้องกันความเสียหายจากน้ำกัดเซาะตลิ่งเป็นอย่างดี และขอให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดเอาแนวทางนี้ไปกำกับดูแลพัฒนาพื้นที่ดูดทรายอื่นๆ โดยต้องกระทำการบนพื้นฐานขององค์ความรู้ ถูกต้องตามกฎหมาย ความเหมาะสม และคำนึงถึงผลกระทบให้ครอบคลุมทุกด้าน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน