X

บอร์ดควบคุมโรค ตั้งอนุ กก.บริหารจัดการโควิด รองรับเดินทางเข้าประเทศ ทำงานแบบไร้รอยต่อ

กรุงเทพฯ – คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบมาตรการรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทย ผู้เดินทางจากประเทศที่กำหนดให้มีผลตรวจ RT-PCR ขากลับ ต้องมีประกันสุขภาพโควิดวงเงิน 1 หมื่นดอลลาร์ ส่วนให้บริการวัคซีนโควิด ชาวต่างชาติ เป็นไปตามความสมัครใจ พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการป้องกันควบคุมโรคโควิด เพื่อให้การทำงานไร้รอยต่อ

วันที่ 12 มกราคม 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เห็นชอบ 3 เรื่อง ดังนี้

1.มาตรการรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 มี 3 เรื่องย่อย คือ
1.1 มาตรการด้านสาธารณสุขในการป้องกันควบคุมโรค 19 ของประเทศไทย สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ ให้มีการบูรณาการความร่วมมือ ด้านการท่องเที่ยว คมนาคม ต่างประเทศ สาธารณสุข และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมดูแลนักท่องเที่ยว และมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น เฝ้าระวังโรคกลุ่มผู้เดินทางที่มีอาการทางเดินหายใจให้ได้รับการตรวจด้วย ATK/PCR ตรวจสายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 เพิ่มกลไกการรายงานผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังและตรวจสายพันธุ์ในน้ำเสียจากเครื่องบิน

1.2 แนวทางการทำประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยว เน้นผู้เดินทางจากประเทศที่กำหนดให้ขากลับประเทศต้นทางต้องมีผลตรวจ RT-PCR คือ จีนและอินเดีย โดยต้องมีประกันสุขภาพวงเงินไม่น้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมการรักษาโควิด 19 ตลอดช่วงระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทยและบวกเพิ่มอีก 7 วัน กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย (เงื่อนไขตามที่กำหนด) สำหรับผู้มาประกอบภารกิจ รวมถึงลูกเรือ นักเรียน อาจจะใช้หนังสือรับรองจากหน่วยงานเจ้าภาพหรือเอกสารแสดงถึงการมีประกันรูปแบบอื่นรับรองแทน

โดยเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อ จะสุ่มตรวจเอกสารรับรองประกันสุขภาพ ของผู้เดินทางจากประเทศดังกล่าว หากพบว่าไม่มีเอกสารประกันสุขภาพ ผู้นั้นจะต้องซื้อประกันสุขภาพก่อนเข้าเมือง

1.3 แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 เน้นผู้ประกอบการท่องเที่ยวและประชาชนได้รับวัคซีนโควิดครบ 4 เข็ม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการป้องกันการป่วยหนัก

2.การให้บริการวัคซีนโควิด 19 ในชาวต่างชาติ ให้จัดระบบและกำหนดแนวทางการให้บริการตามความสมัครใจ และคิดค่าบริการที่เหมาะสม ภายใต้กลไก Medical hub วัคซีนที่ให้บริการจะเป็นวัคซีนที่รัฐบาลไทยจัดซื้อมาเท่านั้น และมีจุดบริการฉีดสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะนำร่อง แบ่งเป็น
กทม. ได้แก่ สถาบันโรคผิวหนัง รพ.นพรัตนราชธานี รพ.เลิดสิน รพ.ราชวิถี ศูนย์การแพทย์บางรัก สถาบันบำราศนราดูร และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง, เชียงใหม่ ได้แก่ รพ.ประสาทเชียงใหม่, ชลบุรี ศูนย์พัทยารักษ์, ภูเก็ต หน่วยบริการที่ดำเนินการโดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต

การบริหารจัดการวัคซีน ให้คำนึงถึงปริมาณวัคซีนคงคลัง ที่จะไม่กระทบต่อคนไทย และให้จัดสรรวัคซีนให้แก่ประชาชนไทยเป็นลำดับแรก

3.การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้มีกลไกการจัดการด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด มีการประสานงานมาตรการที่ใช้กับผู้เดินทางอย่างไร้รอยต่อ

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า บรรยากาศการท่องเที่ยวระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้นมาก แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ กำลังเพิ่มมากขึ้น สำหรับสถานการณ์เดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวจากจีน ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ส่วนภาพรวมสถานการณ์โควิด 19 ประเทศไทยสามารถผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรค ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ดี จำนวนผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตลดลง อัตราครองเตียงระดับ 2 และ 3 ยังต่ำกว่า 6% แต่ที่ต้องเร่งรัด คือ การฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ผู้เสียชีวิตมากกว่าครึ่ง เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ไม่ได้รับเข็มกระตุ้น หรือได้รับเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือน จึงต้องรณรงค์ให้รับวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม กระตุ้นทุก 4 เดือน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน เพราะหากติดเชื้อจะไม่ป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"