X

ครม.ต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพ-พลังงาน 3 เดือน ถึง ก.ย.65

กรุงเทพฯ – ครม.ออก 8 มาตรการ ลดค่าครองชีพประชาชน ช่วยภาคธุรกิจทั้งขยายส่วนลด LPG NGV กลุ่มเป้าหมาย 3 เดือน เพิ่มลดหย่อนภาษี 2 เท่า เอกชนจัดอบรมสัมมนา-อีเวนต์เมืองรอง ขอโรงกลั่น-โรงแยกก๊าซ ส่งกำไรค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันฯ พร้อมสั่งทำแผนรับมือวิกฤติพลังงานระยะยาว

วันที่ 21 มิถุนายน 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนและภาคธุรกิจอย่างเร่งด่วน เป็นเวลา 3 เดือน คือ ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.65 จากสถานการณ์วิกฤตพลังงาน ซึ่งมีแนวโน้มยืดเยื้อ จากความขัดแย้งในยุโรป คาดว่าจะส่งผลกระทบหนักหน่วงในหลายมิติ ขณะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการทั้งการลดค่าครองชีพ ประหยัดพลังงาน และลดภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว 8 มาตรการ ดังนี้

1.คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และให้สิทธิ์ผู้ขับขี่แท๊กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน เพื่อซื้อในราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 16 มิ.ย.-15 ก.ย.65

2.กำหนดเพดานการขายปลีกก๊าซ LPG ถัง 15 ก.ก. ตั้งแต่ ก.ย.- ก.ค. และการให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5,500 คน ออกไปอีก 3 เดือน

3.ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้เงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้ม สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน เดือนละ 100 บาทเท่าเดิมต่อไปอีก 3 เดือน

4.การช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นเกิน 35 บาทต่อลิตร ในสัดส่วนครึ่งหนึ่งของราคาที่เกิน เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบมากเกินไป และคงค่าการตลาดหน้าปั๊มไว้ที่ 1.4 บาทต่อลิตร

5.ขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมัน ส่งกำไรบางส่วนเข้าสู่ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

6.ให้ความช่วยเหลือค่าน้ำมัน แก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน และให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการ เพื่อให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม

7.ขอความร่วมมือในการประหยัดพลังงาน โดยสนับสนุนมาตรการประหยัดพลังงานทั้งภาครัฐและเอกชน

8.มาตรการการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ส่งเสริมการประชุม จัดสัมมนา หรือนิทรรศการ ในต่างจังหวัด ของบริษัทเอกชน ด้วยการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจังหวัดเมืองหลักจะลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ถ้าเป็นเมืองรองจะลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ตั้งแต่ 15 ก.ค.-31 ธ.ค.65

นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้ทำแผนรองรับระยะยาว ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปและราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง จนเกิดผลกระทบกับงบประมาณ หากต้องช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อการแก้ปัญหาที่มีความครอบคลุมทุกมิติ และไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินการคลังในอนาคต พร้อมให้ความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลตั้งใจจริงในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้ประกอบการ บนพื้นฐานของวินัยการเงินการคลังที่มีความสมดุล คุ้มค่า ประหยัด และไม่ก่อให้เกิดภาระในอนาคตมากเกินไป

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึง มาตรการประหยัดพลังงาน ดังนี้
ภาคประชาชน อาทิ มาตรการ ‘ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน’ ปิดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ ตั้งอุณหภูมิ เรื่องปรับอากาศ 26 องศาเซลเซียส
ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม อาทิ การเปิด-ปิด เครื่องปรับอากาศเป็นเวลา ขอความร่วมมือให้ปิดป้ายโฆษณาหลัง 22.00 น. เป็นต้นไป
ภาคขนส่ง อาทิ การส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะแทนยานพาหนะส่วนบุคคล รณรงค์ขับรถไม่เกิน 90 กม./ชม. ลดการเดินทาง โดยการใช้แอปพลิเคชันสั่งอาหารหรือรับส่งของ หรือการใช้ การประชุมออนไลน์แทนการเดินทางด้วยตนเอง
หน่วยงานราชการ อาทิ ลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงลงร้อยละ 20 และ กำหนดให้ลดการใช้พลังงานร้อยละ 20 เป็นตัวชี้วัดของส่วนราชการ – ผลักดันกลไก ESCO

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"