X

ราชกิจจาฯ ประกาศแล้ว มาตรการคุมโควิด เคอร์ฟิว 10 จว.แดงเข้ม 14 วัน เริ่ม 12 ก.ค.64

กรุงเทพฯ – ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนด มาตรการยกระดับคุมเข้มโควิด-19 รวมถึงการห้ามออกนอกบ้าน 3 ทุ่ม-ตี 4 ใน 10 จังหวัด กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ จังหวัดชายแดนใต้ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา เริ่ม 12 ก.ค.นี้ เป็นเวลา 14 วัน

วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27) ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ลงนามโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

รายละเอียด ดังนี้

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ 12 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 นั้น โดยที่การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทวีความรุนแรงจนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศ โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่เชื้อโรคได้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่สูงมาก ประกอบกับเชื้อโรคได้กลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์และสามารถแพร่กระจายได้ง่าย อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศอันอาจกระทบต่อประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่รุนแรงจนไม่อาจวางใจได้ รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุข

จึงจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็ว โดยการกำหนดมาตรการที่มุ่งลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคลเพื่อลดการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน สำหรับใช้ในพื้นที่เป้าหมายเพื่อสกัดกั้นการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด พร้อมกับควบคุมการระบาดให้ได้อย่างรวดเร็ว โดยเป็นมาตรการทำนองเดียวกับที่เคยใช้เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 แต่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น โดยมาตรการนี้ยังคงมุ่งจำกัดการเคลื่อนย้าย ลดการรวมกลุ่มของบุคคล และเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันและการควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของโรค ขณะเดียวกันก็ยังคงมาตรการเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจพื้นฐานยังคงดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งมาตรการทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนเพื่อให้ฟันฝ่าวิกฤตินี้ให้ผ่านพ้นไปด้วยกัน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์เสียใหม่ โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการขั้นสูงสุดที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่างๆ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564 และข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้ และประกาศให้ประชาชนทราบด้วย

ข้อ 2 การห้ามออกนอกเคหสถาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นตามข้อ 4 ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา ออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วันนับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ
ผู้ใดฝ่าฝืนข้อนี้ ย่อมมีความผิดและต้องระวางโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ข้อ 3 การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งของทางราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือพลเรือนซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เข้าปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 2 ได้
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมในการรับแจ้งเบาะแส เหตุฉุกเฉิน และเข้าปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนตามหน้าที่และอำนาจ รวมทั้งปราบปรามผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องที่อาศัยช่วงเวลาวิกาลในการละเมิดกฎหมายด้วย

ข้อ 4 บุคคลที่ได้รับยกเว้น ให้บุคคลตามกรณีดังต่อไปนี้ ได้รับยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานในห้วงเวลาดังกล่าว
(1) การสาธารณสุข ได้แก่ ผู้ป่วยหรือผู้มีความจำเป็นต้องพบแพทย์หรือเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมทั้งผู้ดูแลบุคคลดังกล่าว แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ต้องปฏิบัติงานในการให้บริการด้านสาธารณสุข
(2) การขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน ได้แก่ ผู้ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง ไปรษณีย์ พัสดุภัณฑ์ สิ่งพิมพ์ สินค้าเพื่อการส่งออกหรือนำเข้า
(3) การขนส่งหรือขนย้ายประชาชน ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานขนส่งสาธารณะ ผู้ขนส่งและผู้เดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยานหรือสถานีขนส่ง ผู้ขนส่งและประชาชนที่เดินทางไปยังที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือระบบแยกกักเพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้นแรก ผู้โดยสารและผู้เกี่ยวข้องที่จำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในห้วงเวลาดังกล่าว
(4) การให้บริการหรืออำนวยประโยชน์หรือความสะดวกแก่ประชาชน ได้แก่ ผู้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ คนไร้ที่พึ่ง หรือผู้ประสบภัย ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและอาหาร ผู้บริการตรวจสอบหรือซ่อมบำรุงระบบสาธารณูปโภค ระบบระบายน้ำ ระบบท่อส่งน้ำมันและก๊าชธรรมชาติ ผู้จัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอย ผู้บริการซ่อมแซมและปรับปรุงโครงข่ายและอุปกรณ์ในการสื่อสารโทรคมนาคม ผู้บริการงานช่วยเหลือกู้ภัย การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภัยพิบัติ ผู้บริการด้านธนาคาร ตลาดทุน การประกันภัย ผู้จำเป็นต้องดำเนินงานกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือต้องติดต่อราชการกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่
(5) การประกอบอาชีพที่จำเป็น ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานตามรอบเวลา กะ หรือการทำงานตามผลัดเปลี่ยนเวรยาม หรือตามเวลาที่กำหนดไว้ตามปกติของทางราชการและเอกชน การทำงานในโรงงาน งานก่อสร้าง งานบำรุงรักษาหรืองานเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินงานได้ งานดูแลรักษาความปลอดภัย งานด้านเกษตรกรรม ประมง ปศุสัตว์ หรือการตรวจรักษาสัตว์
(6) กรณีจำเป็นอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะรายจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้บุคคลที่มีความจำเป็นตาม (1) ถึง (5) แสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอย่างอื่น และเอกสารรับรองความจำเป็น เอกสารเกี่ยวกับสินค้า บริการ การเดินทาง หรือหลักฐานอื่นๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
ให้บุคคลที่มีความจำเป็นตาม (6) แสดงเหตุจำเป็นพร้อมหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่ออนุญาต

ข้อ 5 การกำหนดกรณียกเว้นเพิ่มเติม ในกรณีที่สมควรเพิ่มเติมข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อ 4 เป็นการทั่วไปเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอผ่านศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุญาต

ข้อ 6 มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เต็มความสามารถที่จะทำได้ เพื่อลดจำนวนการเดินทางของเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่อยู่ในความรับผิดชอบ และเพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

ส่วนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่ต้องให้บริการแก่ประชาชนโดยตรง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค การรักษาความปลอดภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย หรืองานที่มีกำหนดเวลาปฏิบัติชัดเจนและได้นัดหมายไว้แล้วล่วงหน้า ทั้งสามารถจัดมาตรการป้องกันโรคได้ เช่น การรักษาพยาบาล การติดต่อกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ให้พิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นและเหมาะสม

สำหรับการปฏิบัติงานของภาคเอกชน ให้เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการ หรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบการ พิจารณาสนับสนุนปรับรูปแบบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และบุคลากรในสังกัดให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วงระยะเวลานี้ ทั้งนี้ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคลากรและเพื่อมิให้กิจการต้องหยุดชะงักหากเกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อนขึ้นในองค์กร

ข้อ 7 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ให้เปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบและมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจากที่ได้เคยกำหนดไว้แล้ว ดังต่อไปนี้

(1) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ โรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย หรือสถานประกอบการอื่นใดที่มีการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา แต่คงห้ามการบริโภคในร้าน โดยให้ดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น
(2) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา และเปิดให้บริการเฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำป็นต่อการดำรงชีวิต ยาและเวชภัณฑ์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต เครื่องมือช่างและอุปกรณ์การก่อสร้าง ธนาคาร สถาบันการเงินหรือธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ การให้บริการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษา การให้บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขอื่นๆ และส่วนที่เป็นที่ทำการของรัฐหรือเอกชน
(3) ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัด ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา โดยจำกัดเวลาสำหรับร้านสะดวกซื้อซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืนให้ปิดให้บริการในระหว่างเวลา 20.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น
(4) สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังกายที่เป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ให้เปิดได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา
(5) สถานประกอบการนวดแผนไทย (รวมทั้งบริการนวดฝ่าเท้า) สปา สถานเสริมความงามและสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ให้ปิดดำเนินการ สำหรับร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมให้ยังคงเปิดดำเนินการได้เท่าที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้และให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
(6) ห้ามการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน โดยให้เป็นไปตามข้อห้ามและข้อยกเว้นตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดการอบรม การสัมมนา หรือการประชุมในช่วงระยะเวลานี้โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนด
กิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่เคยอนุญาตให้จัดกิจกรรมได้ตามข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ หากประสงค์จะจัดกิจกรรมในช่วงระยะเวลานี้ให้ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบและทบทวนมาตรการป้องกันโรคในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับห้วงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนด
(7) โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานศึกษาต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่กวดขันการมั่วสุมประชุมกันเพื่อเล่นการพนัน ดื่มสุรา เสพยาเสพติดหรือการกระทำผิดกฎหมายอื่นใดอย่างเคร่งครัดและให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่

ข้อ 8 การขนส่งสาธารณะ ให้กระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท โดยให้จัดระบบและระเบียบ จำนวน และห้วงเวลาของการเดินรถ เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนด ทั้งนี้ การลดหรือจำกัดรอบการให้บริการอาจทำให้ผู้เดินทางไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจรตามปกติในระหว่างเวลา 21.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา

ข้อ 9 การเดินทางข้ามจังหวัด ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงหรือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดในช่วงระยะเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม กรณีที่จำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่อาจไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและอาจต้องใช้ระยะเวลามากกว่าปกติ
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติงานตรวจคัดกรองการเดินทางในเส้นทางคมนาคมเข้าออกกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการเดินทางเข้าออกจังหวัดอื่นๆ เพื่อควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน และคัดกรองการเดินทางของประชาชนทั่วไป ตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2564 และตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนด

ให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ สำหรับการขนส่งคนโดยสารระหว่างจังหวัดซึ่งมีพื้นที่ต้นทางจากกรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล หรือพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามข้อกำหนดนี้โดยเพิ่มความเข้มงวดเพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติ รวมทั้งการตรวจคัดกรองการเดินทาง การจัดระบบและระเบียบให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนด เพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ในการลดหรือจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคลในห้วงเวลานี้
สำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัด ให้กระทรวงคมนาคมจัดระเบียบหรือแนวปฏิบัติเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เหมาะสมและลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

ข้อ 10 มาตรการป้องกันและรองรับผู้ติดเชื้อ เพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น ให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยประสานความร่วมมือกับภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่ และสนับสนุนให้มีการใช้สมุนไพรหรือการแพทย์แผนไทยในการบำบัดหรือรักษาตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มโอกาสการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้ออย่างเพียงพอ เร่งรัดจัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราว โรงพยาบาลสนาม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาล

รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการวางระบบ หรือจัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือระบบแยกกักเพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้นแรกตามแนวทางและมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมทั้งการเพิ่มจำนวนจุดบริการตรวจคัดกรองและเร่งรัดการให้บริการตรวจคัดกรองและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยง (กลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด) รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในพื้นที่การแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน โดยให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการที่ ศบค. กำหนด

สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดนี้ ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

ข้อ 11 มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ข้อ 12 การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน (จนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564) เว้นแต่จะได้มีการประเมินความเหมาะสมของสถานการณ์ต่อไป แต่การเตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ และการประชาสัมพันธ์ เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมเป็นการล่วงหน้าให้ทำได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ยังเผยแพร่ คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 9/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมีเนื้อหาว่า

ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ 12 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 นั้น

เพื่อให้การบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแนวทางการจัดเขตพื้นที่สถานการณ์ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 (2) ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยคำแนะนำของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย

จึงมีคำสั่งให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการตามข้อกำหนดฯ สำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่งนี้

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"