X

เชียงใหม่ – สดร.คาด แสงวาบเหนือท้องฟ้าในภาคเหนือและเสียงบึ้ม เป็น ‘ดาวตกชนิดระเบิด’

วันที่ 22 มิถุนายน 2564 เวลาประมาณ 18.30 น. เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความแตกตื่นให้แก่ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน หลังได้ยินเสียงดังสนั่นพร้อมเห็นแสงวาบสีเขียวเหนือท้องฟ้า โดยมีหลายพื้นที่ เช่นที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นกับตัวบ้าน เบื้องต้น เชื่อว่าอาจเกิดจากอุกกาบาตผ่านชั้นบรรยากาศของโลก และเกิดการเผาไหม้จนเกิดแสงและเสียงดัง หรือที่เรียกันว่าไฟร์บอล

ต่อมา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ชี้แจงว่า กรณีมีผู้พบเห็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า สีฟ้าอมเขียว หลังจากนั้น ได้ยินเสียงดังสนั่นพร้อมกันในหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือของไทย ทั้ง จ.เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง ฯลฯ ไม่พบรายงานความเสียหายหรือการได้รับบาดเจ็บ จากหลักฐานที่รวมรวมได้ อาทิ ข้อมูลการโพสต์จากหลายแหล่งและภาพถ่าย เบื้องต้น คาดว่าอาจเกิดจาก ‘ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide)’ เป็นเหตุการณ์ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. ระบุว่า ตามที่มีข้อมูลเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ช่วงเย็นวันที่ 22 มิถุนายน 2564 เวลาประมาณ 18.30 น. หลายพื้นที่ในจังหวัดทางภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง มีรายงานผู้พบเห็นแสงสีฟ้าอมเขียว พุ่งจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก หลังจากนั้นได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่น เกิดแรงสั่นสะเทือน สร้างความตกใจ อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานและไม่มีรายงานความเสียหาย

จากหลักฐานภาพและคลิปจากการโพสต์โดย คุณอาลิสา เซยะ ที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เบื้องต้น คาดว่าเป็นดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) ซึ่งโดยปกติแล้ว ดาวตกที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศ จะเริ่มเกิดความร้อนสูงจนเกิดการลุกไหม้ที่ความสูงประมาณ 80-120 กิโลเมตร จึงมักจะสูงเกินกว่าที่จะได้ยินเสียง อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งดาวตกอาจจะแผ่คลื่นเสียงกระแทก (sonic boom) ในลักษณะเดียวกันกับเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการพบเห็นที่ระบุว่า เห็นแสงวาบก่อนที่จะเห็นเสียงตามมา ระยะเวลาระหว่างการพบเสียงและแสงนั้น จะขึ้นอยู่กับระยะห่างของดาวตกในขณะที่พบเห็น

หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. ระบุด้วยว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า วัตถุดังกล่าวจะตกลงมาถึงพื้นโลกเป็นอุกกาบาตหรือไม่ ดาวตกส่วนมากที่ตกลงมาจะไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศ สำหรับอุกกาบาตที่ใหญ่พอตกลงมาถึงพื้นโลกได้ มีการประมาณการกันว่ามีอยู่ประมาณ 6000 ดวงในทุก ๆ ปี แต่ส่วนมากตกลงในมหาสมุทร หรือพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีผู้ใดพบเห็น ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ มีอุกกาบาตเพียงไม่กี่ชิ้นที่มนุษย์สามารถเก็บขึ้นมาได้ หลังจากมีผู้พบเห็นเป็นดาวตกอยู่บนท้องฟ้า

ในแต่ละวันจะมีอุกกาบาตเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกเป็นจำนวนมาก แต่โดยทั่วไปจะไหม้หมดไปตั้งแต่ความสูงนับร้อยกิโลเมตร ในชั้นบรรยากาศ ในทางดาราศาสตร์ถือเป็นเรื่องปกติและสามารถอธิบายได้ ไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจเพราะโอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมาก

ขอบคุณภาพจากทวิตเตอร์ : ZULI

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"