X

สาธิตเมนู “แกงเลียงกะแท่งหอยนางรม” (1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่นตราด)

วัฒนธรรมจังหวัดตราด สาธิตเมนู “แกงเลียงกะแท่งหอยนางรม” เมนูรสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste 

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตราด จัดกิจกรรมสาธิตประกอบเมนู “แกงเลียงกะแท่งหอยนางรม” ซึ่งเป็นเมนูอาหารจากกิจกรรม  1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ของจังหวัดตราด ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดขึ้น ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566

โดยมีนางบุหงา  มนัสสนิท ครูภูมิปัญญาด้านอาหาร ตำบลท่าโสม อำเภอเขาสมิง  นำสาธิตการประกอบเมนูดังกล่าว มีนายชำนาญวิทย์  เตรัตน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด  ร่วมสาธิตการประกอบเมนูดังกล่าวให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม MORNING TALK  “จิบกาแฟรู้จัก พูดทักรู้ใจ ร่วมใจพัฒนา” หรือสภากาแฟของจังหวัดตราด จัดขึ้นที่วัดหนองเสม็ด ตำบลหนองเสม็ด  อำเภอเมืองตราด

นางบุหงา  มนัสสนิท ครูภูมิปัญญาด้านอาหาร ตำบลท่าโสม วัย 80 ปี  กล่าวว่า เมนู“แกงเลียงกะแท่งหอยนางรม” เป็นเมนูเก่าแก่ตนเกิดมาก็พบกับเมนูอาหารเมนูนี้แล้ว โดยเมนูแกงเลียงกะแท่งหอยนางรม จะหารับประทานทานได้แค่ในช่วงต้นฤดูฝน โดยช่วงฝนแรกต้นกะแท่งที่มีหัวจะงอกลำต้นขึ้นมา ส่วนที่ใช้หอยนางรมมาใช้ทำแกงเลียงกะแท่ง เนื่องจากพื้นที่ตำบลท่าโสมเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรเลี้ยงหอยนางรม อยู่จำนวนมาก  สำหรับการปรุงแกงเลียงกะแท่ง หลังจากลอกเปลือก และหั่นเป็นท่อน ๆ แล้ว นำกะแท่งไปต้มให้เปื่อย

จากนั้นนำ หอม กระเทียม กะปิ และพริกสด มาตำให้เข้ากัน จากนั้นตั้งน้ำให้เดือด ใส่เครื่องแกงเลียงลงไป ใส่กระแท่งลงไปต้มให้เปื่อย ถ้าไม่เปื่อยมันจะคันนิดๆ ใส่ระกำเปรี้ยวหรือน้ำมะขาม เพื่อแก้พิษคันของกะแท่ง  ใส่หอยนางรม ชิมรสตามชอบ ทั้งนี้กะแท่งเป็นพืชล้มลุก มีหัวใต้ดิน ต้นใหญ่ประมาณนิ้วมือ พอฝนเริ่มตกก็จะงอกขึ้นมา

การนำกะแท่งมาปรุงอาหารส่วนใหญ่จะนำต้นกะแท่งอ่อนๆมาลอกเอาเปลือกและใยออก โดยต้องดึงจากโคนถึงปลาย แต่ตอนที่ลอกต้องระวังอย่าให้มือเปียก เพราะอาจทำให้คันจากยางของต้นกะแท่ง โดยหลังจากลอกเสร็จแล้วจึงล้างน้ำหักเป็นท่อนๆแล้วนำไปแกงเลียงใส่เครื่องปรุงรสเปรี้ยว อย่าง ระกำเปรี้ยว หรือน้ำมะขามเปียก ที่ช่วยแก้พิษคัน

อย่างไรก็ตามกะแท่ง มีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือด ขับเสมหะ แก้ไอ แก้พิษงู รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก มีสารเคมีสำคัญ คือ กลูโคแมนแนน (glucomannan) ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายเพกติน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

กฤษฎาพงษ์ แววคล้ายหงษ์

กฤษฎาพงษ์ แววคล้ายหงษ์

ADmin : สำนักข่าวตราดทีวี จังหวัดตราด