X

วช. ร่วมภาคีจัดงาน “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว จ.เชียงราย”

เชียงราย-วช. ร่วมภาคีเครือข่ายจัดงาน “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว อ.แม่ลาว” จ.เชียงราย เพื่อรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหว อ.แม่ลาว และสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ และเตรียมความพร้อมรับมือในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว จากอดีตถึงปัจจุบัน และเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว เพื่อเตรียมแผนในการรับมือต่อไปในอนาคต

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงาน “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ณ จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 5 – 7 พฤษภาคม 2567 ณ จ.เชียงราย เพื่อรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว และสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ และเตรียมความพร้อมรับมือในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว รวมถึงถอดบทเรียนจากอดีตถึงปัจจุบัน และเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2557 – จนถึงปัจจุบันก็ยังมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมแผนในการรับมือต่อไปในอนาคต พร้อมจะพาสื่อมวลชนพร้อมผู้เข้าร่วมสัมมนาลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.เชียงราย ไปสู่การขับเคลื่อนสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และมูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคี เครือข่าย และหน่วยงานภาคีเครือที่เกี่ยวข้อง ทั้ง จังหวัดเชียงราย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรธรณี กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ร่วมกันจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว”

นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คนเชียงรายไม่มีวันลืม สำนักงานจังหวัดเชียงราย ในฐานะหน่วยงานบริการภาครัฐเพื่อประชาชนจังหวัดเชียงราย ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เป็นการรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ครบรอบ 10 ปี และสร้างความตระหนักรู้ ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรง ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ จึงได้ร่วมมือกับเครือข่าย ทำการวิจัย ลงพื้นที่ และมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จากสหสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ตลอดจนนำผลงานการวิจัยตลอด 10 ปีมาจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว และการประชุมวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว รวมทั้งแสดงต้นแบบการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
ผศ.ดร.ศศิชา สุขกาย อาจารย์โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ให้สัมภาษณ์ว่า คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และ UDC ศูนย์การออกแบบสภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ร่วมกับ มูลนิธิมดชนะภัย ได้ออกไปสำรวจสภาพพื้นที่ บ้านเรือน ตลอดจนสำรวจร่างกายผู้สูงอายุ ในพื้นที่ อำเภอแม่ลาว พาน และ อำเภอแม่สรวย เพื่อออกแบบ ซ่อมแซม ปรับปรุงภูมิทัศน์ บ้านเรือนเพื่อให้ผู้อายุดำเนินชีวิตได้อย่างสะดวก สบาย และมีสุขภาวะที่ดีขึ้น
“ในงานวันนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายยังได้มาสาธิตแผ่นดินไหว โดยการนำรถเขย่า สาธิตแผ่นดินไหว ของ โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีก่อสร้าง คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ร่วมออกบูธบรรยาย และสาธิตจำลองแผ่นดินไหว โดยการนำของ ดร.เขมวิชญ์ วรรณศิริ อาจารย์โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีก่อสร้าง คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และร่วมออกบูธบรรยาย ภายในงานอีกด้วย” ผศ.ดร.ศศิชา กล่าว
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย กล่าวว่า มูลนิธิมดชนะภัย ตั้งอยู่ที่บ้านสิงหไคล จังหวัดเชียงราย เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อร่วมส่งเสริมด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรมให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองที่น่าอยู่ และเป็นเมืองศิลปะ รวมทั้งมุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์เข้ามามีส่วนช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ โดยทางมูลนิธิมดชนะภัยได้ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหว ผ่านสื่อศิลปะและวิทยาศาสตร์ ให้กับผู้ที่สนใจตลอดเดือนพฤษภาคมนี้ และเป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่เรื่องราวเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเป็นการสะท้อนให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการจัดการ ภัยพิบัติที่ดีร่วมกัน “แผ่นดินไหว เราไหวอยู่”

ข่าวโดย : นางจันทร์ฉาย สมศักดิ์ศรี

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สราวุธ คำฟูบุตร

สราวุธ คำฟูบุตร

เสนอข่าวทุกมิติ เจาะลึกทุกประเด็น ID LINE : yai8881