X

ชาวบ้านติดป้ายคัดค้านการทำเหมืองแร่หินแกรนิต หวั่นกระทบการดำรงชีวิต

(เชียงราย) ชาวบ้านติดป้ายคัดค้านการทำเหมืองแร่หินแกรนิต หวั่นกระทบการดำรงชีวิต

วันที่ 21 ก.พ. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่ ต.แม่จัน และ ต.สันทราย อ.แม่จัน จ.เชียงราย ได้มีการนำป้ายคัดค้านการทำเหมืองแร่ ไปติดตามข้างถนนและทางแยกในหมู่บ้าน เพราะหวั่นผลกระทบจากการทำเหมือง จากการลงพื้นที่ของผู้สื่อข่าว พบว่าตามบริเวณริมถนน ตั้งแต่บ้านหนองแว่น ม.9 ต.แม่จัน ไปถึงบ้านธรรมจาริก ม.13 ต.แม่จัน และบ้านดงสุวรรณ ม.5 ต.สันทราย อ.แม่จัน ได้มีป้ายคัดค้านการทำเหมืองแร่มาติดตลอดเส้นทางโดยจากการพูดคุยสอบถามกับชาวบ้านในพื้นที่บ้านธรรมจาริก และบ้านดงสุวรรณ ทราบว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีนายทุนได้มากว้านซื้อที่ดินตามป่าเขาของชาวบ้าน โดยระยะแรกชาวบ้านก็เข้าใจกันว่าจะมาทำสวนยางพาราจึงยินยอมขายให้ แต่ปรากฏว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ได้เริ่มมีการปรับหน้าดิน เพื่อทำเหมืองแร่หินแกรนิต โดยได้รับการอนุญาตในระยะแรกกว่า 60 ไร่ และทราบว่ามีการติดต่อขอซื้อที่ดินเพื่อที่จะขยายขอบเขตการทำเหมืองแร่ไปเป็น 400 กว่าไร่ ชาวบ้านที่ทราบข่าวและอยู่ในพื้นที่ หวั่นได้รับผลกระทบ จึงรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อยื่นคัดค้านทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด หรือถ้ามีช่องทางต่อสู้ในระดับประเทศก็จะขอต่อสู้เพื่ออนาคตของลูกหลาน เพราะหวั่นว่าหากปล่อยให้เกิดเหมืองแร่ขึ้นในพื้นที่จริง ก็จะส่งผลกระทบกับชาวบ้าน 4 ด้านหลักๆประการแรกก็คือ “ระบบนิเวศน์” ในพื้นที่ หากมีการระเบิดหินเกิดขึ้น สัตว์ป่าจะไม่มีที่อยู่ ต้นน้ำจะถูกทำลายจากการปนเปื้อนของฝุ่นหรือสารเคมีที่มาจากการทำเหมือง โดยเฉพาะที่บ้านธรรมจาริก ม.13 ต.แม่จัน ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่ได้รับอนุญาติประทานบัตรเหมืองไปแค่ประมาณ 1.5 กม. มีต้นน้ำคือห้วยช้างตาย เป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้อุปโภคและการเกษตรแห่งเดียวของหมู่บ้าน ซึ่งหากทำเหมืองหินขึ้น แหล่งต้นน้ำอาจจะถูกทำลายจากการปนเปื้อนฝุ่น สารเคมี หรือแม้แต่แรงระเบิดอาจทำให้คันดินหรือภูเขาถล่มลงทับแหล่งน้ำ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบไปถึงหมู่บ้านที่อยู่ปลายน้ำด้วยเช่นกันประการที่ 2 คือ ผลกระทบด้าน “สุขภาพ” เมื่อมีการระเบิดหินขึ้น ก็จะเกิดฝุ่นควันฟุ้งกระจายไปถึงพื้นที่โดยรอบ ซึ่งมีหมู่บ้านที่ใกล้กับเหมืองแร่ที่สุดก็คือบ้านธรรมจาริก ม.13 ต.แม่จัน มีระยะห่างจากหมู่บ้านถึงเหมืองแร่แค่ 1.5 กม. และบ้านดงสุวรรณ ม.5 ต.สันทราย ก็ห่างจากเหมืองแร่เพียง 2 กม. ชาวบ้านในพื้นที่รอบเหมืองแร่ก็มีโอกาสเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง หรือแม้แต่เสียสุขภาพจิตด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและคนชรา ซึ่งมีภูมิคุ้มกันน้อยข้อเป็นห่วงประการที่ 3 คือ “วิถีชีวิต” ของคนในชุมชนจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะที่บ้านธรรมจาริก และชุมชนใกล้เคียง ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตชนเผ่าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของ จ.เชียงราย หากปล่อยให้มีการทำเหมืองแร่ก็หวั่นว่าฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นหรือแม้แต่รถที่ขนหินเข้าออกหมู่บ้าน จะส่งผลให้วิถีชีวิตแบบเดิมของชาวบ้านหายไป เพราะคงไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนที่อยากมาดูหมู่บ้านที่มีแต่ฝุ่นและรถขนหินเข้าออกหมู่บ้านอีกต่อไป รวมถึงประเพณีบางอย่างก็อาจจะหายไปด้วย เช่น การทำบุญเลี้ยงผีขุนน้ำ เป็นต้นและข้อห่วงใยประการสุดท้ายก็คือ “สิ่งปลูกสร้าง” ในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ได้ก่อสร้างโดยคำนวนถึงเรื่องการรองรับแรงสั่นสะเทือนสูง หากมีการทำเหมืองหิน แรงระเบิดก็จะส่งผลกระทบกับโครงสร้างบ้านเรือนของชาวบ้าน หรือแม้แต่ถนนภายในหมู่บ้านก็เป็นถนนที่ใช้สัญจรทั่วไปของชาวบ้าน หากมีรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้ามาวิ่งในหมู่บ้านก็จะส่งผลให้ถนนได้รับความเสียหายอย่างแน่นอน  ที่ผ่านมาชาวบ้านได้เคลื่อนไหวร้องเรียนไปแล้วหลายหน่วยงาน แต่ไม่ได้รับการใส่ใจกับปัญหาเท่าที่ควร แถมยังมีหน่วยงานระดับจังหวัดแห่งหนึ่งได้พูดค่อนแคะให้ชาวบ้านซ้ำใจว่า “หากไม่ยอมรับการพัฒนาก็อยู่กันไปแบบผีตองเหลืองก็แล้วกัน” ซึ่งเป็นคำพูดที่ชาวบ้านได้บันทึกไว้ดูกันเอง แต่ก็แอบน้อยใจว่าไม่ควรเป็นคำพูดที่ออกมาจากเจ้าหน้าที่ ที่ควรจะดูแลปัญหาให้ประชาชนตาดำๆ จึงต้องขอวอนสื่อมวลชนช่วยนำเสนอปัญหาออกไปสู่สังคม เพื่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยเข้ามาดูแลแก้ปัญหาให้ชาวบ้านอย่างแท้จริง ซึ่งทุกวันชาวบ้านยังหวั่นกับภัยมืด

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สราวุธ คำฟูบุตร

สราวุธ คำฟูบุตร

เสนอข่าวทุกมิติ เจาะลึกทุกประเด็น ID LINE : yai8881