X

ทน.ขอนแก่น ปั้นโครงการครู-หมอ-พ่อแม่ ดูแลเด็กมีปัญหาการเรียน

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนทัน นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เยี่ยมให้กำลังใจคณะครูผู้เข้าอบรม “โครงการพัฒนาระบบการดูแลเด็กที่มีปัญหาการเรียน โดย ครู-หมอ-พ่อแม่ ของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น ประจำปีการศึกษา 2565” โดยมี ผู้อำนวยการสถานศึกษา / รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ทั้ง 11 โรงเรียน ให้การต้อนรับ และได้รับการสนับสนุนวิทยากรจาก สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งในวันนี้เป็นการอบรมบุคลากรครูระดับมัธยมศึกษา โดยการอบรมแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา กลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรทางการศึกษาในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น ทั้ง 11 โรงเรียน จำนวน 440 คน


โดยนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้กล่าว ให้กำลังใจและขอบคุณครูผู้เข้าอบรมทุกท่าน ที่เสียสละเวลามาเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ซึ่งปัญหาการเรียนเป็นปัญหาสำคัญที่สังคมไทยให้ความใส่ใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โรคไวรัสโคโรน่า -19 ในปีการศึกษาที่ผ่านมา ทำให้เด็กไม่ได้รับการดูแล และมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป จากการรายงานสถานการณ์ IQ เด็กไทยพบว่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย ทำให้เกิดความตื่นตัวในการดูแลเรื่องสติปัญญา IQ รวมไปถึง EQ ของเด็กมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ “โครงการพัฒนาระบบการดูแลเด็กที่มีปัญหาการเรียน โดย ครู-หมอ-พ่อแม่” เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น ร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงพยาบาลขอนแก่น ร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาระบบการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการเรียนโดยครู-หมอ-พ่อแม่ ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2558 และในปี 2562-2564 มีการจัดอบรมโปรแกรมเสริมพลังครูและผู้ปกครอง เพื่อการปรับพฤติกรรมเด็กวัยเรียน (School and Family Empowerment for Behavioral Modification; SAFE B-MOD ให้แก่ครูระดับชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนของเทศบาลนครขอนแก่น จำนวนประมาณ 325 คน ผลลัพธ์ คือ มีการคัดกรองพบเด็กกลุ่มเสี่ยง 440 คน และมีเด็กกลุ่มเสี่ยงมารับบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเป็น 140 คน (ร้อยละ 21.9) ภายในเวลา 10 เดือน และในปี 2563 ได้มีการพัฒนาระบบ โดยการคัดกรอง การให้คำปรึกษา และการส่งต่อ ผ่านระบบ Application HERO เพื่อให้ครูและผู้ปกครองเข้าถึงบริการสุขภาพจิตเด็กได้ โดยไม่จำเป็นต้องนำเด็กมาโรงพยาบาล เป็นการเชื่อมต่อบริการจากการป้องกันปัญหาพฤติกรรมเด็กสู่การให้คำปรึกษาและดูแลรักษาเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม ผ่าน Application HERO ดังกล่าว โดยมุ่งหวังให้เด็กกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงบริการได้มากขึ้นและเป็นต้นแบบในการขยายผลไปใช้ต่อในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป


ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น