X

ผู้ใหญ่บ้านแฉปัญหาโรงไฟฟ้าขยะนิคมฯ สระแก้ว ในเวทียุทธศาสตร์ประชาชนตะวันออก

สระแก้ว – ชาวบ้าน ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ยืนยันกับเวทียุทธศาสตร์ประชาชนตะวันออก ระบุปัญหาการเปลี่ยนนิคมสีเขียวของนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว เป็นพื้นที่รองรับโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 5 โรง ชาวบ้านไม่เห็นด้วยและไม่ต้องการให้ชุมชนเป็นที่รองรับขยะจากพื้นที่อื่น

เมื่อวันที่ 27 ก.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เดินทางเข้าร่วมอภิปรายและนำเสนอปัญหากรณีที่นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว กำลังดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ จากนิคมสีเขียวไม่มีปล่อง เป็นโรงงานไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมกว่า 5 โรงงานเต็มพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านไม่เห็นด้วยและได้ร่วมกันล่ารายชื่อคัดค้านกว่า 1,200 คนในขณะนี้ โดยในการประชุมยุทธศาสตร์ประชาชนตะวันออก โครงการส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนและสุขภาวะชุมชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่โรงแรมไพร์มไทม์ บางแสน จ.ชลบุรี จัดโดย กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai) ,กลุ่มจับตาอีอีซี (EEC Watch) และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) โดยระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่จำนวนมากไม่เห็นด้วยที่จะนำป่าชุมชนที่ชาวบ้านมอบให้เป็นนิคมฯสีเขียว ไปแลกกับโรงงานไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจากนอกพื้นที่ พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการยกเลิกโครงการดังกล่าว

 

นายสมพร ก่อเกิด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านป่าไร่ ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว กล่าวว่า ปัญหาในพื้นที่ตำบลป่าไร่ตอนนี้ในปี 2563 นิคมอุตสาหกรรมสระแก้วจะขอแก้ไขอีไอเอนิคมฯ เป็นโรงงานไฟฟ้าขยะ 5 โรง และมีการกำจัดขยะประเภท 101 ,105 และ 106 ตอนแรกชาวบ้านไม่รู้เลยว่า สิ่งที่เขาจะเอาเข้ามาคืออะไร รู้แต่ว่า โรงไฟฟ้าอาร์ดีเอฟ เผาที่ 800 องศา ไม่มีมลพิษและสารที่ออกมาสามารถอยู่กับมนุษย์ได้ แต่จริง ๆ ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ มีทั้งคนที่อ่อนแอและไม่อ่อนแอ ซึ่งก่อนหน้านั้นทั้งจังหวัดไม่มีโรงงานแบบนี้ ตอนแรกจะขอสร้างแค่โรงเดียว แต่ตอนนี้จะมีทั้งหมด 5 โรง เมื่อตนรับทราบข่าวสาร ก็ได้ประท้วงไม่เห็นด้วย เพราะตั้งแต่ต้นเอาป่าชุมชนของเราไปแลกกับขยะ มันไม่น่าจะใช่ ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ที่หน่วยงานต่าง ๆ รับปากเรามา แม้ชาวบ้านจะไม่มีทุนแต่ก็ตั้งโต๊ะมีการบริจาคช่วยกันคัดค้าน ซึ่งตอนนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,200 คน คาดว่า จุดประสงค์ของการทำกิจการไฟฟ้าเหล่านี้ เพื่อขายไฟให้กับฝั่งประเทศกัมพูชา ดังนั้น ชาวบ้านจึงต้องการเสนอให้มีการจัดการขยะชุมชนของใครของมัน ไม่จำเป็นที่ต้องย้ายขยะเหล่านั้นข้าม 2-3 จังหวัด ไม่จำเป็นต้องให้ขยะเหล่านั้นไปให้จังหวัดอื่นรับผิดชอบ

“จังหวัดไหนที่ท่านสร้างขยะท่านต้องรับผิดชอบ บางสิ่งบางอย่างโรงงานอาร์ดีเอฟมันก็จำเป็นที่ต้องมีในบางจังหวัด แต่จังหวัดนั้น ๆ ต้องรับผิดชอบขยะของตัวเอง ไม่ใช่จะเอามาจากที่อื่นหรือนำเข้าจากต่างประเทศ หรือกากอุตสาหกรรมจากที่อื่นที่ท่านรับผิดชอบไม่ไหว ไปโยนให้กับจังหวัดอื่น ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐแบบนี้ มันมีความขัดแย้งอยู่ อบต. เทศบาล ไม่เคยคิดเรื่องการคัดแยกขยะ เวลาเก็บขยะให้ชาวบ้านคัดแยก แต่คุณใช้รถคันเดียวไปเก็บ เอาไปถมที่เดียว แล้วมาบอกว่า รับไม่ไหว ความจริงต้องเริ่มคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ตราบใดที่เอาไปฝัง เอาไปกองไว้ ไม่มีวันจบ แล้วมาบอกว่า เป็นวาระแห่งชาติ มาโยนภาระให้คนป่าไร่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขาดทุนแล้วนะ ทำอะไรไม่ได้ ต้องช่วยชาตินะ ลักษณะนี้ผมคิดว่า มันไม่ใช่ตามนโยบาย และการเข้ามาแต่ละโรง วางฝังไว้ 5 โรง พร้อมหลุมฝังกลบ 105, 106 โรงผลิตอีก ซึ่งแผนผังอีไอเอในโลกนี้ไม่มีแบบนี้ มีแต่ป่าไร่ที่เดียวที่วางผังไว้แบบนี้ อีกอย่างมีการจองพื้นที่ไว้ล่วงหน้าแล้ว แล้วเพิ่งมาทำอีไอเอ” ผู้ใหญ่บ้านป่าไร่ จ.สระแก้ว กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับเวทียุทธศาสตร์ประชาชนตะวันออกครั้งนี้ มีการนำเสนอปัญหาการขอใช้พื้นที่บริเวณชายแดนอำเภอตาพระยา โคกสูง อรัญประเทศ และคลองหาด จ.สระแก้ว ของกองทัพบก ,ปัญหาพื้นที่ตำบลเขาดิน อ.บางปะกง ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ประเด็นที่ดินนิคมอุตสาหกรรม-ผังเมืองอีอีซี ,ปัญหาพื้นที่ตำบลแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ประเด็นที่ดินทหารเรือ, ปัญหาพื้นที่ตำบลโยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ประเด็นที่ดินทหารเรือ ,ปัญหาพื้นที่อ่าวบางละมุง อ่าวอุดม จ.ชลบุรี ประเด็นโครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและโครงการถมทะเล ,ปัญหาพื้นที่เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี ตำบลกรอกสมบูรณ์ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ประเด็นขยะและเหมืองทรายหิน ,ปัญหาพื้นที่ป่ารอยต่อในอำเภอแก่งหางแมว จ.จันทบุรี ประเด็นน้ำและเหมืองทอง ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเวทีได้แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อสังเคราะห์ แลกเปลี่ยนและระดมความเห็นเชิงยุทธศาสตร์ แลกเปลี่ยนความเห็นแนวทางการดำเนินการระดับพื้นที่ ประเด็นน้ำ ที่ดิน เหมืองแร่ ขยะและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อแลกเปลี่ยนกับคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการทหาร คณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรมหาชนและกองทุนด้วย

—————————-

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ธนภัท กิจจาโกศล

ธนภัท กิจจาโกศล

"ธนภัท กิจจาโกศล" ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สระแก้ว "ประสบการณ์ยาวนานกับงานสื่อสารมวลชนระดับประเทศ ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จับงานด้านข่าว สกู๊ปและรายงานพิเศษ กว่า 22 ปี มุ่งสื่อสารความจริงและข่าวสารที่เป็นธรรม สู่ประชาชนในภูมิภาค ด้วยจรรยาบรรณของฐานันดรที่ 4 เพื่อสร้างความโปร่งใสการรับรู้ข่าวสารของสังคม"