X

แรงงานพม่า 271 คน ประท้วงเรียกร้องค่าชดเชยจากโรงงาน

ปราจีนบุรี – แรงงานพม่า 271 คน รวมตัวประท้วงเรียกร้องค่าชดเชย ถูกให้ออกไม่เป็นธรรทั้งหมดหลังออกมาเรียกร้อง โดยมีเจ้าหน้าที่สถานทูตพม่าประจำประเทศไทย และกลุ่ม NGO ให้ข้อมูลสิทธิการเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมายไทย เตรียมเจรจาหาข้อสรุปเพิ่มวันนี้

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่กลุ่มแรงงานพม่าจำนวน 271 คน อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับค่าแรงงานและสวัสดิการจากนายจ้าง รวมตัวกันไปหารือหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ภายในศูนย์ราชการจังหวัดปราจีนบุรี อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีตัวแทนกลุ่มแรงงานดังกล่าว เข้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี โดยระบุว่า บริษัทท๊อปฟิชชิ่ง เน็ทแอนด์โรป จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 195 หมู่ 3 ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตแห อวน เครื่องมือประมงของคนไทย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เรื่องเกี่ยวกับสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าทำงานล่วงเวลา และค่าจ้างแรงงานในวันหยุด

ทั้งนี้ พนักงานที่เข้ามาทำงานในโรงงานแห่งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า บอกว่า ได้รับค่าจ้างรายวันตามกฎหมายกำหนดจริง แต่ต้องทำงานตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น.รวมเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ซึ่งในความเป็นจริงช่วงนั้น แรงงานต้องได้ล่วงเวลาในการปฏิบัติงานด้วย เป็นจำนวนเงิน 170 บาทเศษ แต่พนักงานทุกคนกลับไม่ได้เงินดังกล่าว นอกจากนี้ ทางลูกจ้างยังถูกหักค่าประกันสังคมทุกเดือน บางคนก็ยังไม่ได้บัตรประกันสังคม จึงไม่สามารถไปรับการรักษาพยาบาลได้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

ขณะเดียวกัน สวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี ได้เชิญตัวผู้ประกอบการรายดังกล่าวมาพบ และให้ดำเนินการตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ซึ่งพนักงานซึ่งเป็นแรงงานพม่าในโรงงานดังกล่าวก็รอว่า ทางผู้ประกอบการจะจ่ายเงินตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าทางโรงงานกลับไม่ดำเนินการตามที่ตกลงกัน และยื่นเงื่อนไขให้กับกลุ่มแรงงานพม่าทั้งหมด ว่าทางโรงงานจะจ่ายให้รายละ 5,000 บาท พร้อมทั้งให้คนงานทั้งหมดสมัครเข้ามาทำงานใหม่

จากการกรณีดังกล่าว ทำให้กลุ่มคนงานเห็นว่า ทางโรงงานไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และยังถูกโรงงานให้ออกทั้งหมด จึงได้มารวมตัวกันที่วัดคลองกลาง หมู่ที่ 11 ตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี ซึ่งใกล้กับโรงงานเป็นที่พักอาศัย เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเองไปยังหน่วยงานภาคราชการ รวมถึงสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเย็นวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา Mr U SAN MAUNG OO เจ้าหน้าที่จากสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย พร้อมด้วย นายอ่องโจ ผู้แทนเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ พร้อมเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ปราจีนบุรี ได้เดินทางลงมาพื้นที่โรงงานดังกล่าว โดยได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเข้ารับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้น Mr U SAN MAUNG OO เจ้าหน้าที่สถานทูตพม่าประจำประเทศไทย พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้เข้าไปที่โรงงานดังกล่าว เพื่อที่จะรับฟังข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ภายหลังใช้เวลาการพูดคุยกันประมาณ 1 ชั่วโมง ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ทางด้าน นายอ่องโจ ผู้แทนเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ พร้อมเจ้าหน้าที่ ได้เดินทางมาพบกลุ่มแรงงานพม่า ที่วัดคลองกลาง เพื่อมาชี้แจงข้อกฎหมายแรงงานของไทย ให้กับกลุ่มคนงานพม่ารับทราบ และรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงาน เพื่อต้องการทราบสาเหตุที่กลุ่มคนงานถูกนายจ้างเลิกจ้างทั้งหมด ก่อนที่จะเชิญตัวแทนมาพูดคุยหารือถึงข้อเรียกร้องที่กลุ่มคนงานต้องการ เพื่อนำตัวแทนแรงงานพม่าไปพบกับผู้ประกอบการด้วย

นายตอเซน อายุ 21 ปี คนงานพม่า กล่าวว่า ทางโรงงานยื่นข้อเสนอว่า ถ้าใครต้องการทำงานต่อจะจ่ายเงินชดเชยให้คนละ 5,000 บาท และให้สมัครงานเข้าไปใหม่ แต่พวกตนอยู่ทำงานมาตั้ง 8-10 ปี จะให้เริ่มต้นกันใหม่ได้อย่างไร พอพวกเราออกมาต่อรอง ก็ให้พวกเราออกเลย

ทางด้าน นายอ่องโจ ผู้แทนเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ที่เดินทางในวันนี้ เพื่อมาพบกับกลุ่มแรงงานพม่า พร้อมทั้งมาชี้แจงเรื่องกฎหมายแรงงานที่ทุกคนมีสิทธิตามกฎหมาย และปัญหาที่รับทราบประเด็นหลัก ๆ คือ เรื่องค่าจ้างจ่ายไม่ครบ และถูกนายจ้างไล่ออก ส่วนรายละเอียดอย่างอื่นกำลังเก็บข้อมูลอยู่ ขณะนี้ได้ให้ตัวแทนมาพูดคุยหารือว่าจะเรียกร้องสิทธิอะไรบ้าง พร้อมทั้งจะนำตัวแทนแรงงานไปพบกับทางโรงงาน เพื่อหาข้อตกลงกันอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม นายอภิชา ขอสงวนนามสกุล เจ้าของโรงงานดังกล่าว เล่าว่า ทางด้านของโรงงานไม่เคยคิดจะไล่คนงานหรือแรงงานชาวพม่าออกเลย ทั้งนี้ เพราะแรงงานไปเชื่อกลุ่มแกนนำที่ได้รับข้อมูลมาจากกลุ่ม NGO ที่ทางการของพม่าต้องการตัวอยู่ ซึ่งหลังจากที่คนงานได้บัตรอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ทางโรงงานเป็นคนทำให้ แล้วใช้คืนภายหลัง ก็เริ่มมีกลุ่มแกนนำที่ว่า มาปลุกปั่นให้แรงงานชาวพม่าเริ่มมีการไม่ปฏิบัติตามกฎของโรงงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม กลุ่มแรงงานพม่าก็เชื่อกลุ่มแกนนำไปเรียกร้องที่ศูนย์ราชการมาแล้ว ถึงทางหน่วยงานก็มีการเรียกเข้าไปพูดคุยกันแล้วในส่วนหนึ่งและมาเมื่อวานที่ผ่านมา ก็ได้มีการเรียกแกนนำของกลุ่มแรงงานเข้าไปพูดคุยกันอีก จนยอมรับได้ว่าจะชดเชยให้ส่วนหนึ่ง คือจ่ายค่าล่วงเวลา ให้คนละ 5500 บาท แล้วให้เรื่องเก่ายุติลง

เจ้าของโรงงานรายเดิม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ต่างคนก็ต่างผิด คร่าวๆที่ได้รับทราบว่ามีแกนนำบางคนปล่อยข่าวว่า ทางบริษัทได้ชดเชยในส่วนที่เรียกร้องไปแล้ว ซึ่งทำให้กลุ่มคนงานอยากได้ในส่วนนั้นบาง ซึ่งจริงแล้ว ทางโรงงานยังไม่เคยจ่ายในส่วนนั้นเลย ทั้งนี้ จะต้องมีการตกลงกัน ส่วนในเรื่องของการยึดบัตร ยึดโทรศัพท์นั้น ทางโรงงานมีนโยบายอยู่แล้วว่า การเข้าประชุมที่เป็นเรื่องที่สรุปไม่ได้ เราจะไม่ให้มีการไลฟ์สดหรือแพร่ภาพออกไปเพราะจะทำให้โรงงานเกิดความเสียหาย

“ที่ผ่านมาแรงงานพม่ามักจะติดไลฟ์สดในกลุ่มของตนเอง และในกลุ่มของประเทศเค้า ทำให้เข้าใจกันเองและเข้าใจผิดว่า ทางบริษัทเอาเปรียบคนงาน ซึ่งเราขอยืนยันว่า ไม่ได้ไล่คนงานออก แต่เป็นเพราะแรงงานเหล่านั้นเชื่อกับกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็น NGO ซึ่งหลังจากที่กลุ่มแรงงานพม่าได้บัตร และมีการปรึกษากับกลุ่มที่อ้างเป็น NGO พฤติกรรมเปลี่ยนไปมาก จนคนงานที่เป็นคนไทยรับไม่ได้ก็มี ส่วนในวันนี้ หลังจากที่สถานทูตพร้อมคณะได้เข้าพูดคุยแล้ว ก็ได้รายงานไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งในวันพรุ่งนี้(19 มิ.ย.) จะได้มีการพูดคุยกันอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปที่ดีทั้งสองฝ่าย” เจ้าของโรงงานระบุ

——————————
ข่าว-ภาพโดย/สายชล หนูแดง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ธนภัท กิจจาโกศล

ธนภัท กิจจาโกศล

"ธนภัท กิจจาโกศล" ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สระแก้ว "ประสบการณ์ยาวนานกับงานสื่อสารมวลชนระดับประเทศ ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จับงานด้านข่าว สกู๊ปและรายงานพิเศษ กว่า 22 ปี มุ่งสื่อสารความจริงและข่าวสารที่เป็นธรรม สู่ประชาชนในภูมิภาค ด้วยจรรยาบรรณของฐานันดรที่ 4 เพื่อสร้างความโปร่งใสการรับรู้ข่าวสารของสังคม"