X

ดันลิ้นจี่นครพนม สู่ระดับอาเซียน ทุบสถิติ กก.ละ 200 บาท

นครพนม – วันที่ 30 เม.ย.62 เวลา 09.30 น. บริเวณสวนลิ้นจี่ของนางรัศมี อุทาวงษ์ บ้านขามเฒ่า หมู่ 2 ต.ขามเฒ่า อ.เมือง จ.นครพนม ที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขง  ถูกเนรมิตให้เป็นแปลงสาธิตลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 มีนายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม เป็นประธานในการเปิดงานรณรงค์ “การผลิตลิ้นจี่ นพ.1 ปลอดภัย พืช GI นครพนม” ซึ่งนายอเนก รัตน์รองใต้ เกษตรจังหวัดนครพนม กล่าวถึงวัตถุประสงค์ว่า เป็นการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ลิ้นจี่ นพ.1 ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงแนวทางในการพัฒนา และการส่งเสริมการผลิตลิ้นจี่ที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น  โดยจะมีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน พร้อมร่วมกันกำหนดแนวทางในการพัฒนา และผลักดันให้ลิ้นจี่เป็นพืชเศรษฐกิจระดับแถวหน้านี้ ก้าวขึ้นสู่ระดับอาเซียนได้มากขึ้น  เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูก

“สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมงานในวันนี้ จะได้รับความรู้จากการจัดสถานีเรียนรู้ 4 สถานี คือ 1.เกี่ยวกับเรื่องดิน และการปรับปรุงดิน วิทยากรมาจากสถานีพัฒนาที่ดินนครพนม 2.เรื่องพันธุ์และการขยายพันธุ์ วิทยากรมาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม 3.การป้องกัน กำจัดศัตรูลิ้นจี่ วิทยากรเป็นผู้แทนจากบริษัทเอกชน และสถานีที่ 4 คือ การเก็บเกี่ยว แปรรูป และการตลาดลิ้นจี่ โดยสำนักงานเกษตรฯนครพนม แม้ปีนี้อากาศจะหนาวน้อย จึงส่งผลกระทบต่อดอกของลิ้นจี่ แต่ทางสำนักงานเกษตรฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการดูแลรักษา และการผลิตกิ่งตอนเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้ทดแทนอีกทางหนึ่ง มีแนวโน้มความต้องการของประชาชน ในการซื้อกิ่งพันธุ์ไปปลูกยังพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ”นายอเนก กล่าว

ด้าน นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม กล่าวกับเกษตรกรและประชาชนที่มาร่วมงานกว่า 200 คน ว่า จังหวัดนครพนมมีพืชเศรษฐกิจสำคัญ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนพืช GI จำนวน 2 ชนิด คือ สับปะรดหวาน อ.ท่าอุเทน และ ลิ้นจี่ นพ.1 ซึ่งลิ้นจี่มีความโดดเด่นกว่าที่อื่นตรง มีผลขนาดใหญ่ เปลือกสีแดงอมชมพู รูปทรงเหมือนไข่ เนื้อผลแห้งสีขาวขุ่น รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่มีรสฝาด โดยได้ขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และได้ตราสัญลักษณ์ GI ไทย เป็นการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรที่มีการเพาะปลูกลิ้นจี่ มีช่องทางการตลาดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีรายได้ในชุมชนเพิ่ม จึงต้องรักษาคุณภาพ และพัฒนาให้ลิ้นจี่นครพนม เป็นที่ต้องการในตลาดผลไม้ต่างประเทศ

สำหรับลิ้นจี่ปีนี้ได้ผลผลิตน้อย เนื่องจากสภาพอากาศไม่อำนวย เพราะหนาวไม่เพียงพอ ลิ้นจี่จึงไม่ออกดอกเหมือนปีที่ผ่านมา จึงได้ผลผลิตต่ำกว่าปีที่แล้วมาก ทำให้ราคาลิ้นจี่ขยับสูงถึง กก.ละ 200 บาท ขณะที่ปี 61 อยู่ กก.ละ 100 บาท และไม่สามารถส่งออกต่างประเทศได้ แม้จะมีออเดอร์สั่งเข้ามาจำนวนหลายตันก็ตาม เกษตรกรจึงสูญเสียรายได้เพราะอากาศไม่เป็นใจ

สำหรับตรา GI (Geographical Indcation) หรือตราสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ คือสัญลักษณ์ที่รับรองถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ อันมีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นพิเศษแต่ละพื้นที่ ผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับการรับรอง GI จะต้องเกิดจากภูมิปัญญาของคนในภูมิภาค และใช้วัตถุดิบที่หาได้เฉพาะในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อก่อให้เกิดความเป็นพิเศษเฉพาะตัวโดดเด่นเหนือผลิตภัณฑ์เดียวกันจากท้องถิ่นอื่น สำหรับสินค้าที่จะขอตรา GI ได้นั้น ผู้ผลิตต้องผ่านการตรวจสอบระบบควบคุมภายใน ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพของสินค้า อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งกำเนิดของวัตถุดิบด้วย หมายความว่าผู้บริโภคสามารถรู้กระทั่งว่า วัตถุดิบของผลิตภัณฑ์นั้นมาจากสวนไหน ชุมชนใด หรือพื้นที่ใด ทำให้มั่นใจได้ว่า สินค้า GI ในมือผู้บริโภค มีต้นกำเนิดมาจากภูมิภาคนั้นอย่างแท้จริง

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน