X

เนรมิตบ้านฝรั่งเศสโบราณ  เป็นศูนย์รวมสินค้าพื้นเมือง และแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์นครพนม

นครพนม – วันที่ 20 ก.พ.62 เวลา 10.00 น. บริเวณบ้านโบราณแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก สไตล์เฟรนช์โคโลเนียล ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร ตัดกับหัวมุมถนนกูบาถวาย เขตเทศบาลเมืองนครพนม นางสาว วสุมน เนตรกิจเจริญ หรือคุณอุ๊ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิน วิน สมาย ซึ่งเป็นออแกไนซ์เซอร์ตัวแทนนำเที่ยวในเชิงอนุรักษ์  ได้เนรมิตบ้านพักของคหบดี บุคคลสำคัญของจังหวัดนครพนม เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันทรงคุณค่า เปิดประตูต้อนรับแขกผู้มาเยือนทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ โดยมีนางวิไลวรรณ ไกรโสดา นายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รอง ผวจ.นครพนม และนายสุหฤทธิ์ ชาญวนังกูร ผอ.ททท.นครพนม ร่วมแสดงความยินดี ในการร่วมกันอนุรักษ์และเผยแพร่ของดีอันทรงคุณค่าของจังหวัด และเป็นการชักชวนนักท่องเที่ยว เข้ามาเที่ยวภายในจังหวัดนครพนมเพิ่มขึ้

น.ส.วสุมนหรือคุณอุ๊ เปิดเผยว่าอาคารหลังนี้ มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ นอกจากจะก่อสร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก สไตล์เฟรนช์โคโลเนียลที่งดงามแล้ว เจ้าของบ้านยังเป็นคหบดีผู้รับเหมาก่อสร้าง เชื้อสายเวียดนาม ชื่อ “โองกูบา” ซึ่งเป็นชื่อที่คนในครอบครัวเรียกขานกัน โดยจากผู้รู้อธิบายว่า “โอง หมายถึงผู้ที่ได้รับความเคารพ” คำว่า”กู” หมายถึงคำเรียกนำหน้า เช่น ภาษาไทยก็คือ”นาย…” ถ้าเป็นภาษาอีสานคือ “บัก…” ส่วนคำว่า “บา” ภาษาเวียดนามแปลว่า “สาม” รวมแล้วคำว่า “กูบา” คือ “ลูกคนที่ 3” นั่นเอง

โองกูบา มีชื่อเป็นไทยว่า นายสุนทร วิจิตรเจริญ มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ผลงานที่จารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ก็คือ ศาลากลางจังหวัด(หลังแรก) ปัจจุบันปรับปรุงเป็นหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ ริมถนนอภิบาลบัญชา ใกล้กับศาลหลักเมืองจังหวัดฯ และ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม(หลังเก่า) ตั้งอยู่ริมถนนสุนทรวิจิตร ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน  และจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำจังหวัดนครพนม ปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาวนครพนม โดยอาคารทั้งสองหลังสร้างในช่วงสงครามอินโดจีน(2455-2457) และออกแบบมาคล้ายๆกัน (ต่อมาภายหลังชื่อของนายสุนทร วิจิตรเจริญ ได้รับการยกย่องนำชื่อของท่านไปตั้งเป็นชื่อถนนคือ ถนนสุนทรวิจิตร และโรงเรียนสุนทรวิจิตร ส่วนถนนกูบาถวาย ที่อยู่หัวมุมอาคาร คาดว่าท่านน่าจะมอบที่ดินส่วนหนึ่ง ให้สร้างเป็นถนนไปบรรจบกับถนนสุนทรวิจิตรในปัจจุบัน)

ก้อนอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างนั้น โองกูบาใช้พื้นที่ตรงที่สร้างบ้านหลังนี้ เป็นสถานที่เผาอิฐ เพื่อขนไปก่ออาคารทั้งสองแห่ง หลังจากเสร็จมีเศษไม้เหลือก็นำมาสร้างเป็นบ้านพักอาศัย ในตัวอาคารออกแบบให้มีห้องหลบภัยจากกระสุนปืนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีร่องรอยเป็นอุโมงค์ลอดทะลุแม่น้ำโขงได้ (ปัจจุบันอุโมงค์ดังกล่าวถูกกลบไปตามกาลเวลา) อายุอาคารกูบาหลังดังกล่าวประมาณ 100 ปี

คุณอุ๊นักธุรกิจสาวกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในตัวอาคารสองชั้น ถูกแบ่งออกเป็นห้องๆ เริ่มจากชั้นล่างมีห้องโถงใหญ่ ซึ่งได้ปรับปรุงเป็นจุดต้อนรับนักท่องเที่ยว และขายของที่ระลึก มีสินค้าที่มีเอกลักษณ์ และสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม โดยได้รวบรวมผ้าอีสานโบราณ ที่มีลวดลายการทอเฉพาะตัวที่ประณีตบรรจง ซึ่งผ้าบางชิ้นหลังจากชาวบ้านทอเสร็จก็เก็บรักษาไว้ ต่อมามีทีมงานไปค้นพบผ้าเหล่านี้ก็นำมาตั้งโชว์ และยังมีผ้าทอฝีมือของประเทศลาวอีกด้วย ซึ่งตนได้รวบรวมผ้าทอทั้งไหมและฝ้ายจาก 20 จังหวัดภาคอีสานมาไว้ที่นี่ แจมด้วยผ้าทอจากทางภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย เป็นต้น ติดกับห้องโถงชั้นล่างจะเป็นห้องนอนของโองกูบาเจ้าของบ้าน ที่จัดเป็นห้องนั่งเล่น พักผ่อน จิบชาเวียดนาม และชาสมุนไพร

ส่วนชั้นบนมีทางเดินขึ้นบันไดโค้งที่สวยงาม เป็นห้องโถงเหมือนชั้นล่าง โดยได้แปลงเป็นห้องรับรอง รับฟัง เรื่องเล่า และเทคนิคการสร้างบ้านของกูบา และยังสามารถใช้เป็นห้องประชุมวีไอพี มีความจุดประมาณ 10-30 คน หรือจะจัดเลี้ยงงานมงคลก็เก๋ไก๋ ติดห้องโถงเป็นห้องบรรพบุรุษ ที่โองกูบาจัดไว้อย่างลงตัว ในห้องนี้เองที่มีแผ่นกระดานสำหรับเปิดลงไปหลบกระสุนใหญ่ แล้วลอดลงอุโมงค์ไปโผล่ริมแม่น้ำโขง

นอกจากนั้นบริเวณข้างตัวบ้าน ยังมีบ้านหลังเล็กๆ ที่ตกแต่งให้นั่งจิบชากาแฟ พร้อมขนมใบป่าน (อาหารว่างที่ชาวเวียดนามนิยมรับประทานมาถึงปัจจุบัน) และลานกลางแจ้งที่จุคนได้ถึง 200 คน โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชม”บ้านกูบา” ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมมีเจ้าหน้าที่นำชมบ้าน วันละ 6 รอบ คือเช้า 3 รอบ บ่ายอีก 3 รอบ ติดต่อได้ที่หมายเลข 098-5916551,086-3669708

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน