X

เปิดใจ หมอคนยาก นพ.ประสงค์  บูรณ์พงศ์  

นครพนม – วันที่ 5 ก.พ.62 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดนครพนม ระหว่างวันที่ 4-8 ก.พ. ณ ศาลายงใจยุทธ ภายในรั้วศาลากลางจังหวัดนครพนม ซึ่งวันนี้เป็นวันที่สองของการเปิดรับสมัคร โดยวันที่ 4 ก.พ.วานนี้ นายสมพล พงษ์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครพนม(ผอ.กกต.ฯ) เปิดเผยว่ามีผู้สมัคร ส.ส.ทั้ง 4 เขต รวมทั้งสิ้น 71 คน แยกออกเป็นเขต 1 จำนวน 20 คน เขต 2 จำนวน 17 คน เขต 3 จำนวน 15 คน และเขต 4 จำนวน 19 คน มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัคร 20 พรรค โดยมีพรรคที่ส่งผู้สมัครครบทั้ง 4 เขต คือพรรคเสรีรวมไทย,พลังประชารัฐ,ภูมิใจไทย และพรรคเพื่อไทย ซึ่งวันที่สองของการเปิดรับสมัคร ส.ส.ฯนี้ ยังมีผู้สมัครจากพรรคการเมืองทยอยยื่นเอกสารลงสมัครเพื่อขอหมายเลขอีกหลายราย

นายสมพลฯ ผอ.กกต.นครพนม กล่าวย้ำถึงผู้สมัคร ส.ส.ทุกพรรคการเมือง ให้เข้ารับฟังการชี้แจงเพื่อให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบวิธีปฏิบัติในการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้สนับสนุนผู้สมัคร และบุคคลผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว ในวันจันทร์ที่ 11 ก.พ. เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป ซึ่งการชี้แจงครั้งนี้ กกต.ฯ เกรงว่าผู้สมัครอาจจะพลั้งเผลอกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งโดยไม่รู้ตัว จึงต้องมีการอบรมติวเข้มกฎหมายดังกล่าวแก่ผู้สมัคร

อดีต ส.ส.นครพนม ที่ได้รับการไว้วางใจเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด มีอยู่ 3 คน คือ1.นายแพทย์ประสงค์ บูรณ์พงศ์ 2.นายไพจิต ศรีวรขาน และ 3.นายอรรถสิทธิ์ คันคาย ทรัพยสิทธิ์ โดยทั้งสามคนนี้เคยหัวหกก้นขวิด ร่วมหัวจมท้ายในพรรคการเมืองเดียวกันมาก่อน แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองในปัจจุบัน จึงทำให้สามเกลอต้องแยกกันอยู่กันคนละพรรค นายอรรถสิทธิ์ฯหลังผ่านพ้นการถูกตัดสิทธิ์ ก็ไปเป็นที่ปรึกษาพรรคเพื่อคนไทย ที่มี ดร.วิทยา อินาลา อดีตสมาชิกวุฒิสภาฯ(ส.ว.นครพนม) ส่วนนายไพจิตยังเหนียวแน่นกับพรรคเพื่อไทย และหมอสงค์ตัดสินใจในวินาทีสุดท้าย ลาออกจากพรรคเพื่อไทยไปเป็นรองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และยังให้รับหน้าที่ดูแลผู้สมัคร ส.ส.เขตอีสานเหนือ

สามสิงห์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง โคจรมาพบกันในวันเปิดรับสมัคร ส.ส.62 เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ศาลายงใจยุทธ ทักทายจับมือถามสารทุกข์สุกดิบกันหอมปากหอมคอ ก็กลับไปทำหน้าที่ที่ถูกมอบหมายมา

“หมอสงค์” ที่หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องย้ายพรรค นับว่าเป็นครั้งแรกที่หมอสงค์ยอมเปิดปาก ถึงสาเหตุของการย้ายพรรค เริ่มจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสกัดกั้น “เผด็จการรัฐสภา” ปิดทางไม่ให้พรรคหนึ่งพรรคใดครองเสียงในสภาเกินกึ่งหนึ่ง หรือมี ส.ส. มากกว่า 250 เสียง จึงเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองขนาดย่อม มีสิทธิ์เข้าไปนั่งในสภา โดยได้สัดส่วนจากการรวบรวมคะแนนผู้สมัคร ส.ส.ทั่วประเทศ มาคำนวณตามสูตรที่รัฐธรรมนูญระบุ ดังนั้นพรรคการเมืองจะใหญ่โตแค่ไหนก็มี ส.ส.ได้สูงสุดแค่ 250 คน เท่านั้น

สมัยที่ผ่านมาตนเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 84 บังเอิญมีอดีต ส.ส.แบบแบ่งเขตรายหนึ่ง ย้ายไปอยู่พรรคอื่น จึงมีที่ว่างให้ตนสลับจากปาร์ตี้ลิสต์ไปลงแบบแบ่งเขต และมีการคุยกันในโต๊ะเล็กกับผู้บริหารพรรคหลายคนว่า เขตดังกล่าวเห็นควรให้ตนลงสมัครรับเลือกตั้งแทนคนเก่า ด้วยความไว้วางใจจึงไม่ฉงนว่าจะมีคนแอบเสียบแทนในช่วงเข้าด้ายเข้าเข็ม โผเปิดออกมาไม่มีชื่อตนเป็นผู้สมัครในเขตดังกล่าว แต่ก็ยอมรับในการตัดสินใจของพรรค

แม้จะอยู่ในวัย 83 ปี ยังมีเรี่ยวแรงไปไหนมาไหนได้สบาย ก็อยากจะทำงานด้านการเมือง เพื่อรับใช้ประชาชน เหมือนบุญเคยสร้างร่วมกันมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่เคยทำงานร่วมกันตั้งแต่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครพนมด้วยกัน เพราะสมัยที่ตนเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม (2517-2526) ในห้วงนั้นท่านเสรีพิศุทธ์มารับราชการเป็นนายตำรวจอยู่ที่อำเภอนาแก(2515-2524) ได้ต่อสู้ปราบปรามผู้หลงผิดอย่างเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ จนบ้านเมืองบังเกิดความสงบเรียบร้อย และได้รับฉายา”วีรบุรุษนาแก”ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ส่งเทียบเชิญให้ไปร่วมงานในพรรค ในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค โดยจะลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเช่นเดิม “วันนี้ผมรู้สึกมีความสุขที่ได้ทำงานกับบุคคลที่คลุกคลีกันมาอย่างยาวนาน พร้อมจะรับใช้ประชาชนให้ถึงที่สุด”

“นอกจาก 6 นโยบายหลักของพรรคแล้ว ผมยังมีโครงการบำนาญประชาชน เพราะทุกคนล้วนเสียภาษีให้แก่รัฐหมด เมื่อถึงเวลาก็ต้องคืนเขาบ้าง โดยมีเป้าหมายคนละ 3,000 บาท หากพรรคเสรีรวมไทยได้เป็นรัฐบาลผมผลักดันโครงการนี้แน่นอน” นพ.ประสงค์กล่าว

นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ได้รับฉายาว่าเป็น “หมอคนยาก” ช่วงเป็น ผอ.รพ.นครพนม  ให้ความช่วยเหลือคนจนมานับไม่ถ้วน(โดยใช้สิทธิสงเคราะห์ของทางการ) ก่อนจะถอดชุดกาวน์ หันเข้าสู่ถนนการเมือง ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.นครพนม สมัยแรกปี 2526 และในปี  2531 ได้รับแต่งตั้งเป็น รมช.สาธารณสุข จากนั้นปี 2533 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) ต่อมาในปี 2538 รัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จวบถึงปี 2539 ได้เป็น รมช.แรงงานและสวัสดิการสังคม และเป็นรมว.แรงงานฯ ในปีเดียวกัน นอกจากนี้เคยได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) และเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีถึง 2 คน คือนายชวน หลีกภัย และ พล.อ.ชาติชาย ชุนหะวัณ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน