X

จับตากลุ่มก่อสร้าง “ผึ้งแตกรัง” เผ่นกลับบ้านเกิด หลังล็อกดาวน์ กทม.และปริมณฑล

นครพนม – จับตากลุ่มก่อสร้าง “ผึ้งแตกรัง” เผ่นกลับบ้านเกิด หลังล็อกดาวน์ กทม.และปริมณฑล นครพนมเจอพรวดเดียว 10 ราย เน้นใช้กฎหมายเข้มข้นคนที่ไม่มีสำนึกต่อส่วนรวม

ผู้สื่อข่าวรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดนครพนม ว่า จากกรณีโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เตียงรักษาคนป่วยโควิดเต็ม โดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤตสีแดงต้องใช้อุปกรณ์ขั้นสูง ผู้ป่วยยืนยันผลอาจไม่สามารถหาเตียงรักษาได้หรือต้องรอคิวนานหลายวัน

โดยล่าสุดมีราชกิจจานุเบกษา ล็อกดาวน์ กทม. ปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร) และ 4 จังหวัดภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา) ได้แก่ 1.ปิดสถานที่ก่อสร้าง แคมป์คนงาน ห้ามเคลื่อนย้าย 2.ให้ร้านอาหาร ขายกลับบ้านเท่านั้น (เฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑล) 3.ให้ห้างปิด 3 ทุ่ม และงดให้บริการโรงหนัง-สวนน้ำ (หลังก่อนหน้านี้ปริมณฑลบางจังหวัดยังเปิดให้บริการ) 4.ห้ามจัดประชุม สัมมนา งานเลี้ยง 5.ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และ 6.ให้ตั้งจุดตรวจควบคุมการเดินทางข้ามเขตจังหวัด ทั้งหมดนี้มีระยะเวลา 30 วัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันจันทร์ 28 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้มีข่าวเล็ดลอดออกมาต่อเนื่อง ว่า จะมีการสั่งปิดพื้นที่แคมป์คนงาน อาจทำให้กลุ่มทำงานก่อสร้างกังวลใจ จึงตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะอยู่ไปก็ไม่มีงานทำไม่มีรายได้ และยังอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง จึงชักชวนกันกลับบ้านเกิด ทำให้จังหวัดนครพนม หลังไม่พบผู้ป่วยยืนยันผลรวมแล้วกว่า 1 เดือน มียอดพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดติดๆกัน  3-4 วัน บางคนมีความรับผิดชอบต่อสังคมก็เข้ารับการตรวจ Rapid Antigen test ที่โรงพยาบาลทันที แต่ก็มีบางรายที่เป็นส่วนน้อยที่ขาดจิตสำนึกในสังคมส่วนรวม ทั้งๆที่รู้ว่าเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสูง ก็ไม่ยอมไปรายงานตัวต่อผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นำเชื้อมาแพร่สู่คนในครอบครัว ซึ่งกรณีหลังนี้ทางจังหวัดนครพนมได้แจ้งความดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 2 ราย

ล่าสุด วันที่ 27 มิถุนายน 2564  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม รายงานว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม จำนวน 10 ราย สรุปยอดผู้ป่วยสะสม 173 ราย โดยจำแนกผู้ป่วยที่พบทั้ง 10 ราย มีดังนี้ รายที่ 164 เพศชายอายุ 43 ปี รายที่ 165 เพศหญิงอายุ 42 ปี รายที่ 166 เพศหญิงอายุ 19 ปี ทั้งหมดเป็นชาวอำเภอปลาปาก รายที่ 167 เพศหญิงอายุ 39 ปี เป็นชาวอำเภอเรณูนคร รายที่ 168 เพศชายอายุ 48 ปี รายที่ 169 เพศหญิงอายุ 46 ปี รายที่ 170 เพศหญิงอายุ 20 ปี รายที่ 171 เพศชาย อายุ 2 ขวบ เป็นชาวอำเภอปลาปาก กลับจากพื้นที่เสี่ยง รายที่ 172  เพศชายอายุ 36 ปี ชาวอำเภอปลาปาก กลับจากพื้นที่เสี่ยง และสัมผัสผู้ป่วยรายที่ 146-147 และ 156  รายที่ 173 เพศชายอายุ 54 ปี ชาวอำเภออำเภอปลาปาก มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยรายที่ 152-153 รักษาที่ รพ.ปลาปาก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม มีมติฟื้นศูนย์กักตัว Local Quarantine (LQ) เตรียมพร้อมทุกอำเภอ รวมทั้งการเตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนามเอาไว้ล่วงหน้า ผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงทุกคนต้องรายงานตัวทุกคน เพื่อตรวจหาเชื้อ กักตัวเฝ้าระวังดูอาการ โดยเน้นย้ำว่ากลับมาแล้วต้องทำตามกติกาเพื่อความปลอดภัยของคนที่ตนเองรัก การปกปิดไทม์ไลน์หรือการไม่รายงานตัว ไม่กักตัวตามมาตรฐานที่ถูกต้อง ก่อความเสี่ยงแพร่เชื้อ มีความผิดตามกฎหมายต้องถูกดำเนินคดี

ทั้งนี้ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม  ย้ำเสมอว่าไม่มีการห้ามกลับบ้าน แต่กลับมาแล้วต้องทำตามกติกาให้ถูกต้อง ไม่นำเชื้อไปติดคนที่บ้าน กลับจากพื้นที่เสี่ยง มาถึงรายงานตัว ตรวจหาเชื้อและกักตัว 14 วัน อย่าปกปิดอย่าไปหาเลาะ พร้อมฝากชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียงช่วยกันดูแล หากพบเห็นผู้หลีกเลี่ยงการกักตัวแจ้งผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. หรือร้องเรียนไปยังนายอำเภอ เจ้าหน้าที่พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบทันทีไม่มีละเว้น เพื่อความปลอดภัยของชาวนครพนม

นครพนมไม่บ้าจี้ปิดเมือง ตามคำแนะของผู้อวดรู้ แต่ยังคงมาตรการกักตัว 14 วัน ผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, นครปฐม, สมุทรสาคร, ฉะเชิงเทรา, สระบุรี, ชลบุรี, เพชรบุรี, ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, สงขลา, ตรัง

โดยมีมาตรการใหม่ได้เพิ่มความเข้มงวดและเข้มข้น เพื่อป้องกันการระบาดจากภายนอก ผู้มาจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัวทันทีทั้งหมดทุกคนห้ามไปเลาะไหน ประเมินตามความเสี่ยงโดยเจ้าหน้าที่ กักตัวที่บ้าน(HQ) และสถานกักตัวของอำเภอ(LQ) ตามระดับความเสี่ยง แม้มีผลตรวจ COVID-19 มาก่อน เพื่อความชัวร์ก็ต้องแยกกักตัว 14 วัน

ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในข่าย 15 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง สามารถเดินทางข้ามจังหวัด เข้า-ออกนครพนมได้ปกติ แต่จังหวัดนครพนมขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงการเดินทางถ้าไม่มีเหตุจำเป็น และผู้เดินทางเข้าจังหวัดนครพนมไม่ว่ามาจากที่ไหน ขอให้บันทึกลง app NPM-COVID-19 และควรรายงานตัวต่อผู้นำชุมชน/เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อประเมินความเสี่ยง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 082-8498155, 061-0192999, 097-0594655 สายด่วนข้อมูล COVID-19 นครพนม เปิด 24 ชั่วโมง

สำหรับผู้ได้รับฉีดวัคฺซีนซิโนแวค (Sinovac) ครบ 2 เข็มเกิน 2 สัปดาห์, แอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) 1 เข็ม 4 สัปดาห์ ไม่ต้องกักตัว ถ้ายังไม่ครบวัน แล้วมาจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัวเหมือนผู้อื่น

ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกคนต้องป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ลดการรวมกลุ่ม ไม่ไปในที่แออัด หมั่นล้างมือด้วยเจลหรือแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัดถ้าไม่จำเป็น ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและแพร่เชื้อ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน