X

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมถ์ มอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทาน

นครพนม – มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมถ์ มอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทาน แก่ราษฎรผู้ประสบภัยหนาวจังหวัดนครพนม

วันที่ 13 มกราคม 2564 เวลา 13.30 น. ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองนครพนม จัดพิธีมอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทานแก่ราษฎรผู้ประสบภัยหนาว มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม/ประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ประจำจังหวัดนครพนม มอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทานแก่นายอำเภอเมืองนครพนม นายอำเภอธาตุพนม นายอำเภอเรณูนคร และนายอำเภอปลาปาก อำเภอละ 500 ผืน รวม 2,000 ผืน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ศาล ทหาร ตำรวจ สำนักงานเหล่ากาชาดฯ สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ร่วมในพิธีดังกล่าวอย่างพร้อมเพรียง

นายสมลักษ์ ยกน้อยวงษ์ นายอำเภอเมืองนครพนม กล่าวต่อประธานฯ ว่า ประชาชนชาวจังหวัดนครพนม สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดสรรผ้าห่มกันหนาวพระราชทาน จำนวน 2,000 ผืน มามอบแก่ราษฎรผู้ประสบภัยหนาวในครั้งนี้

เนื่องจากจังหวัดนครพนมได้รับอิทธิพลจากสภาพอากาศหนาวเย็นบริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีอากาศหนาวเย็นทั่วทุกอำเภอ นำมาซึ่งความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยหนาวเป็นประจำทุกปี  และจากข้อมูลการสำรวจความต้องการเครื่องกันหนาวของประชาชนในพื้นที่ มีผู้เดือดร้อนทั้งสิ้น 32,479 คน และยังคงมีประชาชนมีความต้องการเครื่องกันหนาวอีกเป็นจำนวนมาก

จากนั้นประธานพร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และนายอำเภอ ร่วมมอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทาน และพระบรมฉายาลักษณ์แก่ผู้นำชุมชนในพื้นที่อำเภอเมืองนครนพนม จำนวน 50 ผืน

เมื่อเดือนตุลาคมปลายปี 2563 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเรื่อง การเริ่มต้นฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2563 ความว่า ประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563 โดยลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยที่ระดับความสูง 100 เมตร ถึงความสูง 3,500 เมตร ได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก

ส่วนลมระดับบนที่ความสูงตั้งแต่ 5,000 เมตรขึ้นไป ได้เปลี่ยนเป็นลมฝ่ายตะวันตก ประกอบกับอุณหภูมิต่ำสุดในช่วงเช้าบริเวณประเทศไทยตอนบนลดลงอยู่ในเกณฑ์อากาศเย็นเกือบทั่วไปแล้ว พร้อมเผย 7 จังหวัดที่จะหนาวที่สุดของปีนี้เอาไว้ด้วย ซึ่งได้แก่ จังหวัดพะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน สกลนคร เลย และ นครพนม ปรากฏว่าในพื้นที่จังหวัดนครพนมตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 เป็นต้นมา มีอุณหภูมิลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดวันที่ 13 มกราคม 2564 สถานีอุตุนิยมนครพนม มีอุณหภูมิวัดได้ 6.5 องศาเซลเซียล

ประวัติการก่อตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25-26 ตุลาคม 2505  ได้เกิดพายุโซนร้อน ชื่อ “แฮเรียต” พัดผ่านทางตอนใต้ของประเทศไทย ยังความเสียหายให้เกิดแก่จังหวัดภาคใต้ถึง 12 จังหวัด โดยในคืนวันที่ 27 ตุลาคม 2505 นายปกรณ์ อังศุสิงห์ นายกมูลนิธิราชประชานุเคราะห์(ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์) ได้รับโทรศัพท์จากคุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ อดีตเลขาธิการสำนักพระราชวัง (ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองมหาดเล็ก) ว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นห่วงผู้ประสบภัย และทรงติดต่อขอเครื่องบินจากกองทัพอากาศไว้แล้ว ขอให้รีบเดินทางไปช่วยเหลือโดยด่วน

ขณะนั้นกรมประชาสงเคราะห์ ได้เตรียมสิ่งของไว้พร้อมแล้ว จึงเดินทางไปในวันรุ่งขึ้น มีนายปกรณ์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย อาทิ หลวงอรรถวิภาคไพศาลย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และหลวงยุกตเสวีวิวัฒน์ อธิบดีกรมโยธาเทศบาล ได้เดินทางไปพร้อมกับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย

ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ องค์สภานายิกา ได้มีกระแสรับสั่งให้ร่วมเดินทางไปกับกรมประชาสงเคราะห์ เพื่อทำการสงเคราะห์ และบรรเทาทุกข์ในครั้งนี้ด้วย ต่อจากนั้น นายปกรณ์ อังศุสิงห์ และคณะได้เดินทางไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชและร่วมเดินทางกันไปยังแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง ปรากฏว่าสภาพของแหลมตะลุมพุกน่าสังเวชมาก ไม่มีบ้านเรือนราษฎรเหลืออยู่เลย และยังมีศพลอยน้ำอยู่เกือบจะไม่มีที่พอฝังศพ มีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้นทั้งสิ้นประมาณ 1,000 คน ส่วนผู้ที่รอดชีวิตได้อพยพไปอยู่ยังอำเภอปากพนัง และกลับภูมิลำเนาเดิม

สำหรับทางด้านกรุงเทพมหานครนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถานีวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประกาศโฆษณาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์และสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทรงรับเงินและสิ่งของด้วยพระองค์เอง ประชาชนได้หลั่งไหลเข้าสู่สถานีวิทยุ อส. ทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน มีผู้บริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลถึง 11 ล้านบาทเศษ และสิ่งของประมาณห้าล้านบาท

ส่วนผู้ที่ไม่สามารถบริจาคทรัพย์ และสิ่งของได้ก็บริจาคแรงงานช่วยขนสิ่งของ ที่น่าปลื้มใจก็คืองานนี้ทำโดยอาสาสมัคร ซึ่งส่วนมากเป็นนิสิต นักศึกษา ลูกเสือและนักเรียน ได้ทำการจัดและขนส่งสิ่งของเหล่านั้นไปบรรเทาภัยแก่ประชาชน โดยมีนายเจริญ มโนพัฒนะ รองอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ รักษาการแทน อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเงินและ สิ่งของไปดำเนินการตามพระราชประสงค์ตลอดเวลา

จังหวัดที่ได้รับความเสียหายมาก คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับกรมประชาสงเคราะห์ได้แจกอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค จัดซ่อมแซมบ้าน ที่พัก และสร้างที่พัก ชั่วคราว ให้ผู้ประสบภัยอยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องมือประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์ โดยมอบเงินให้เป็นทุนประเดิมแก่วัดวาอาราม มัสยิด ศาลเจ้าและสถานสงเคราะห์เด็กที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อรับบุตรหลานของผู้ประสบภัย ที่กำพร้าบิดา มารดาหรือผู้ปกครองเสียชีวิต โดยอยู่ในความดูแลของกรมประชาสงเคราะห์

นอกจากนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินให้กระทรวงศึกษาธิการสร้างโรงเรียนประชาบาลที่ถูกพายุพัดพัง รวม 12 โรงเรียน ใน 6 จังหวัดภาคใต้ และภายหลัง พระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 1-12” ตามลำดับ (โดยในปัจจุบันมีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทั้งสิ้น 58 โรงเรียน ทั่วประเทศ )

เมื่อได้ช่วยเหลือประชาชนในระยะแรกแล้ว ยังเหลือเงินอีกสามล้านบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริว่าเงินสามล้านบาทนี้ เป็นเงินที่ประชาชนมีส่วนร่วมอยู่ด้วยจึงควรตั้งเป็นทุนเพื่อหาดอกผลสำหรับสงเคราะห์เด็กที่ครอบครัวประสบวาตภัยภาคใต้ ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูประการหนึ่ง กับสำหรับสงเคราะห์ช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยกรณีต่างๆ ทั่วประเทศอีกประการหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงพระราชทานเงินสามล้านบาท ให้เป็นทุนประเดิมก่อตั้งมูลนิธิ และพระราชทานนามว่า “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ใน“พระบรมราชูปถัมภ์” กับทรงดำรงตำแหน่งพระบรมราชูปถัมภกแห่งมูลนิธินี้ด้วย ชื่อของมูลนิธินี้หมายความว่า “พระราชา” และ “ประชาชน” อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นการแสดงน้ำพระทัยว่า เวลาทำงานควรจะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วย

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2506 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์โดยได้ทรงมีพระราชดำริว่าภัยธรรมชาติ หรือสาธารณภัยอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ไม่มีผู้ใดจะคาดหมายได้ดังที่ได้เกิดขึ้นที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช และอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ เมื่อ พ.ศ.2505 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสำนักงานมูลนิธิอยู่ในบริเวณกรมประชาสงเคราะห์

โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้พระราชทานกำเนิดมูลนิธิฯ ได้ทรงแต่งตั้งนายปกรณ์ อังศุสิงห์ เป็นนายกมูลนิธิฯ คนแรก

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่างๆ ได้ปรับปรุงวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพระราชดำริของพระบรมราชูปถัมภก ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือด้านการศึกษา อาทิ มอบเงินสนับสนุนโครงการพัฒนาโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ทั้ง 58 โรงเรียน และโรงเรียนที่มูลนิธิฯ ให้การสนับสนุนอีก 8 โรงเรียน รวม 66 โรงเรียน มอบอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬาและมอบทุนพระราชทานเพื่อการศึกษาสงเคราะห์ต่อเนื่องให้แก่นักเรียนเรียนดีที่จบการศึกษาจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เด็กกำพร้าที่บิดาหรือมารดาเสียชีวิตจากสาธารณภัย ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาสูงสุดตามความสามารถ โดยได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากสถานศึกษาต่างๆ เป็นอย่างดี

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ในปัจจุบัน คือ เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ,เพื่อให้การสนับสนุนด้านการป้องกันสาธารณภัยทั่วประเทศ,เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือเป็นส่วนรวมแก่ประชาชนที่ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนประการอื่น ซึ่งคณะกรรมการบริหารพิจารณาเห็นสมควร และได้รับความเห็นชอบจากนายกมูลนิธิ

และเพื่อให้การสงเคราะห์ด้านการศึกษา ได้แก่ ทุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้าหรือเด็กอนาถาที่ครอบครัวประสบสาธารณภัย,ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์,ให้การสนับสนุนกิจการของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์,เพื่อดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับมูลนิธิไว้ในพระราชูปถัมภ์ และทรงดำรงตำแหน่ง “องค์พระราชูปถัมภก” แห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทรงห่วงใยทุกข์ยากของราษฎรเป็นอันดับแรก ได้พระราชทานแนวทางในการปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยให้เป็นระบบ รวดเร็ว และไม่ซ้ำซ้อน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ องคมนตรี ผู้แทนพระองค์ ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ นำสิ่งของพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค มอบแก่ราษฎรผู้ประสบภัย อีกทั้งได้รับการสนับสนุนความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆ ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเข้าถึง และทรงห่วงใยผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติ โดยพระราชทานทุนการศึกษา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ และเยียวยาผู้ได้รับความสูญเสีย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระราชูปถัมภ์ ได้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามแผนเร่งด่วน โดยการสนับสนุนอาหาร และน้ำดื่ม รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เข้าถึงพื้นที่ประสบภัยพิบัติอย่างรวดเร็ว และตรงจุด มอบถุงยังชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ประสบภัย ให้สามารถมีกำลังใจในการดำรงชีวิต ต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ต่อไป และการช่วยเหลือระยะยาวนั้น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้มีการสำรวจครอบครัวผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติ โดยมอบทุนพระราชทานเพื่อการศึกษาสงเคราะห์ให้แก่บุตร-ธิดา ในครอบครัวที่บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง เสียชีวิตจากภัยต่างๆ ให้สามารถมีโอกาสศึกษาเล่าเรียน สร้างอนาคตที่ดี และเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวต่อไป

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน