X

สมาคมไทย-เวียดนามฯ นครพนม จัดงานรำลึก 60 ปีหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์

นครพนม – สมาคมไทย-เวียดนามฯนครพนม จัดงานรำลึก 60 ปี หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ คราวย้ายกลับปิตุภูมิ หลังฝรั่งเศสพ่ายสงครามเดียนเบียนฟู

วันที่ 20 ธันวาคม 2563 นายศิวรัตน์ ตันติพิพัฒกุลชัย นายกสมาคมไทย-เวียดนามจังหวัดนครพนม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม เป็นหอนาฬิกาที่ชาวเวียดนามได้สร้างไว้เป็นอนุสรณ์แก่ชาวนครพนม เมื่อคราวย้ายกลับปิตุภูมิประเทศเวียดนาม ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2503 มีความสูงประมาณ 50 เมตร เป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเมืองนครพนม ที่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนมักจะไม่พลาดที่จะต้องมาถ่ายรูปเช็คอินกันตรงจุดนี้

นายศิวรัตน์ฯนายกสมาคมไทย-เวียดนามฯ กล่าวต่อว่าหลังหารือกับนายวิศรุต จินธนะเสถียร นายกสมาคมชาวเวีดนามแห่งประเทศไทย และ นายนิวัต เจียวิรยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม คณะกรรมการแล้ว มีความเห็นพ้องตรงกันจึงได้กำหนดจัดงานรำลึก 60 ปี หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์คราวย้ายกลับปิตุภูมิ ในวันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2563 โดยช่วงเช้ามีพิธีตักบาตรและถวายสังฆทานพระสงฆ์ 9 รูป ภาคเย็นท่านฟาน จี๋ แถ่ง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมเวียดนาม ประจำประเทศไทย เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีและอวยพร โดยมีนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมเปิดงาน พร้อมร่วมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมชาวเวียดนาม  ซึ่งผู้มาร่วมงานต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และปฎิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยทางผู้จัดได้เตรียมคัดกรองเพื่อความปลอดภัยไว้ทั้งหมด 6 จุด

ประวัติหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์คราวย้ายกลับปิตุภูมิแห่งนี้ เป็นเหมือนการขอบคุณคนไทยของชาวเวียดนาม ที่ได้สร้างขึ้นเมื่อครั้งนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในสงครามเดียนเบียนฟู ดังนั้นชาวเวียดนามที่ขอลี้ภัยภายใต้พระบรมโพธิสมภารในนครพนม ได้ร่วมกันสร้างหอนาฬิกาขึ้นเพื่อระลึกถึงไมตรีจิตของคนไทยไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ก็ยังคงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไว้เสมอมา ตัวอาคารหอนาฬิกา ออกแบบและก่อสร้างโดยชาวเวียดนาม  ซึ่งสมัยนั้นมีฝีมือและเชี่ยวชาญในการก่อสร้างมาก

กล่าวคือราวปลายเดือนมีนาคม  ค.ศ.1946 (พ.ศ.2489) ฝรั่งเศสโจมตีลาวใต้เพื่อกลับเข้ามาปกครองลาวอีกครั้ง และเคลื่อนทัพขึ้นมาถึงลาวกลาง โดยวันที่ 21 มีนาคม ถูกบุกโจมตีเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเขตเทศบาลเมืองนครพนม  ในเหตุการณ์ครั้งนี้ผู้คนสองฝั่งโขงเรียกว่า “วันท่าแขกแตก” (The battle of Thakhek; ThàKhẹt bị thất thủ) จึงมีชาวเวียดนามจำนวนมากอพยพข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาอาศัยอยู่ในเมืองนครพนม

ในระหว่างปี ค.ศ.1946 – 1960 (พ.ศ.2489-2503) พบว่ามีชาวเวียดนามได้อาศัยอยู่ในหลายพื้นที่ของนครพนม ทั้งในเขตเทศบาลเมือง และอำเภอต่าง ๆ เช่น บ้านแพง ท่าอุเทน ธาตุพนม เรณูนคร และนาแก

ต่อมาถึงปี ค.ศ.1959 (พ.ศ.2502) ในเดือนสิงหาคมกาชาดสากลอำนวยการให้สภากาชาดไทย และสภากาชาดเวียดนามเจรจาเกี่ยวกับผู้อพยพชาวเวียดนาม  ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้จัดส่งชาวเวียดนามที่สมัครใจเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยมีผู้ยื่นความประสงค์จำนวน 22,620 คน ประกอบด้วยจากอำเภอเมืองนครพนม ธาตุพนม นาแก บ้านแพง ศรีสงคราม และคำชะอี มุกดาหาร (ขณะนั้นยังเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครพนม)

ปี ค.ศ.1959 – 1960 (พ.ศ.2502-2503) ชาวเวียดนามในนครพนมแสดงความประสงค์ในการสร้างหอนาฬิกาเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณของแผ่นดินและประชาชนชาวไทยที่ได้ให้การช่วยเหลือเมื่อครั้งลี้ภัยมายังประเทศไทย  โดยวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) พิธีวางเสาเอกได้มีการนิมนต์พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) และพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ในนครพนมมาร่วมในพิธีฯ เพื่อความเป็นสิริมงคล และในเดือนมกราคมของปีนี้ จึงมีการส่งกลับชาวเวียดนามอพยพโดยเรือเดินสมุทรเที่ยว แรกเริ่มต้นขึ้นที่ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ

ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) วันที่ 1 มีนาคมได้มีพิธีเฉลิมฉลองและส่งมอบหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ให้แก่เทศบาลเมืองนครพนม โดยมีตัวแทนจากฝ่ายไทยและเวียดนามเข้าร่วมจำนวนมาก  พื้นที่แห่งความทรงจำแห่งนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า “หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์” หรือ “VIỆT KIỀU LƯU NIỆM DỊP HỒI HƯƠNG” 2053

กระทั่งถึงปี ค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) เดือนสิงหาคมเกิดเหตุการณ์ที่ฝ่ายอเมริกันอ้างว่าเป็น “อุบัติการณ์อ่าวตังเกี๋ย” (Gulf of Tonkin incident; Sự kiện Vịnh Bắc Bộ)  เกิดความตึงเครียดบริเวณน่านน้ำเวียดนามตอนเหนือ ส่งผลให้การจัดส่งผู้อพยพทางเรือหยุดชะงักและยุติลงในที่สุด

ซึ่งชาวเวียดนามที่เดินทางออกจากนครพนมเมื่อปี ค.ศ.1960 – 1964 (พ.ศ.2503-2507) จำนวน 14,208 คน หลังได้เดินทางกลับสู่ปิตุภูมิ ก็เกิดชุมชนชาวเวียดนามที่ย้ายกลับมาจากประเทศไทยหลายแห่งในประเทศเวียดนาม  จึงมีการเดินทางไปมาหาสู่กันจนถึงปัจจุบัน

และวันอังคารที่ 22 ธันวาคม ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) ครบรอบ 60 ปีของการก่อสร้างหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์  สมาคมไทย-เวียดนาม จังหวัดนครพนมและเทศบาลเมืองนครพนมได้จัดพิธีรำลึก 60 ปี หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์

ปัจจุบันนอกจากการเป็นเครื่องมือในการบอกเวลาอย่างเที่ยงตรงแล้ว หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ยังเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต และเป็นสัญลักษณ์ของการรำลึกถึงบุญคุณแผ่นดินไทยของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินแห่งนี้

แม้เวลาจะผ่านร้อน ฝน และหนาวมาถึง 60 ปีแล้ว(2503-2563) หอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ ยังคงมีมนต์เสน่ห์ต้อนรับผู้มาเยือนถิ่นนครพนมอย่างโดดเด่น  นอกจากนี้รอบๆหอนาฬิกายังมีบ้านเรือนเก่า กลิ่นอายของสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นสวยงามแบบอิทธิพลของฝรั่งเศสบนวิถีวัฒนธรรมเมืองนครพนมที่เป็นการรับเอาศิลปะแบบผสมผสานระหว่างช่างญวนและฝรั่งเศส

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน