X

นครพนมบูมท่องเที่ยว เอาใจสายธรรม เปิดมหัศจรรย์ทางบุญ 3 วัด 3 จังหวัด

นครพนม – วันที่ 21 มิ.ย.61 บริเวณลานกว้างหน้าหอสมุดแห่งชาติฯ จังหวัดนครพนม นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผวจฯ นายตระกูล อานัด ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดฯ(ทกจ.) นายสุหฤทธิ์ ชาญวนังกูร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานนครพนม และ นายธนิตศักดิ์ อุ่นตา วัฒนธรรมจังหวัดฯ ร่วมกันแถลงข่าวโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว 3 ธรรม ในกลุ่มจังหวัดสนุก(นครพนม-มุกดาหาร-สกลนคร) ประเดิมกิจกรรมแรก ด้วยการเอาใจผู้สูงวัยและสายธรรมทั่วประเทศ เปิดมหัศจรรย์เส้นทางบุญ ไหว้พระธาตุสำคัญ 3 วัด 3 จังหวัด ประกอบด้วย 1.วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร นครพนม 2.วัดภูมโนรมย์ มุกดาหาร และ 3.วัดพระธาตุเชิงชุม สกลนคร ทั้งสามวัดที่กล่าวมา สายธรรมสามารถเดินทางไปกราบไหว้ได้ครบภายในวันเดียว และยังมีเวลาเหลือที่จะแวะชมความงาม ความมหัศจรรย์ของภูผาเทิบ ทิวทัศน์หนองหาร ฯลฯ

นายสมชายฯเผยว่า โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว 3 ธรรมกลุ่มจังหวัดสนุก เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ เน้นการพัฒนาการท่องเที่ยว เป้าหมายอยู่ในกลุ่มผู้สูงวัย นักปฏิบัติธรรมที่แสวงหาความร่มเย็นทางจิตใจ โดยสามจังหวัดในกลุ่มสนุกมีความเชื่อมโยงเป็นอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ศรัทธาต่อองค์พระธาตุ และความเชื่อเกี่ยวพญานาค นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมที่สวยงาม ในรูปแบบฮีต 12 ครอง 14 วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เป็นการสร้างความรับรู้และการมีส่วนร่วม จากการถ่ายทำสารคดีมหัศจรรย์เส้นทางบุญ ไหว้พระธาตุสำคัญ 3 วัด 3 จังหวัด จากนั้นจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ แม้แต่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็จะติดตั้งป้ายโฆษณาเชิญชวนไปท่องเที่ยวแหล่งธรรมะในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชนไปในตัว เพราะสามจังหวัดในกลุ่มสนุกมีสินค้าทำจากมือหลายผลิตภัณฑ์ที่นักท่องเที่ยวต่างชื่นชมเป็นจุดขาย

ในเส้นทางมหัศจรรย์สายบุญ แต่วัดล้วนมีตำนานเล่าขานกันมาอย่างยาวนาน เช่น วัดพระธาตุพนมฯ สถานที่บรรจุพระอุรังคธาตุ(กระดูกส่วนหน้าอก) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีเรื่องเล่าปรากฏอยู่ตำนานพระอุรังคธาตุ ส่วนวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ตั้งอยู่ถนนเจริญเมือง เขตเทศบาลเมืองสกลนคร ในตำนานกล่าวว่าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอานนท์ ได้เสด็จจากพระวิหารเชตวัน เสด็จตามลำแม่น้ำโขง ทรงประทับรอยพระบาทไว้หลายแห่ง เช่นพระพุทธบาทบัวบก พระพุทธบาทโพนเพล พระพุทธบาทเวินปลา.ฯลฯ

ต่อมาพระเจ้าสุวรรณภิงคาระทรงทราบข่าว จึงเสด็จออกมาต้อนรับ พร้อมกับพระนางนารายณ์เจงเวงราชเทวี พระพุทธเจ้ามีพุทธประสงค์ให้พระเจ้าสุวรรณภิงคาระ ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น จึงทรงแสดงปาฏิหาริย์บันดาลให้มีดวงมณีรัตน์มีรัศมีพวยพุ่งออกจากพระโอษฐ์พร้อมกัน 3 ดวง พระเจ้าสุวรรณภิงคาระทรงเห็นเป็นอัศจรรย์ก็บังเกิดศรัทธา เปล่งวาจาสาธุการด้วยความปิติ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ณ ที่นี้เป็นสถานที่อันอุดมประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ จะได้มาประชุมรอยพระพุทธบาทไว้ เพื่อเป็นที่สักการะแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระเจ้าสุวรรณภิงคาระ บังเกิดความปิติโสมนัส จึงได้ถอดพระมงกุฎทองคำของพระองค์ สวมบูชารอยพระพุทธบาท แล้วทรงสร้างเจดีย์ครอบไว้ จึงได้ชื่อว่า พระธาตุเชิงชุม นอกจากนี้ในพงศาวดารลาวสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต ล้านช้าง เรียกพระธาตุเชิงชุมว่าพระธาตุหนองหาน ไม่ห่างจากวัดพระธาตุเชิงชุมเป็นทะเลสาบหนองหาร เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นรองจากบึงบอระเพ็ด มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผาแดงนางไอ่ กล่าวว่าบริเวณดังกล่าวเป็นเมืองเก่าที่ล่มสลายเพราะอิทธิฤทธิ์ของพญานาค

และจังหวัดมุกดาหารเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่อยู่ติดแม่น้ำโขง ชาวบ้านจึงมีความเชื่อเกี่ยวกับตำนานของพญานาค บนยอดภูเขามีรูปปั้นพญานาคชื่อ พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช ลักษณะนอนขดตัวไปมา ชูลำคอสูงหันไปทางแม่น้ำโขงที่อยู่เบื้องล่าง ลำตัวยาว 122 เมตร สูงประมาณ 20 เมตร สีเขียวอมฟ้า สะท้อนแสงสวยงาม พร้อมกับมีลวดลายที่ละเอียดอ่อนวิจิตรบรรจง มีความน่าเกรงขามแฝงอยู่ในตัวจาก บริเวณที่ตั้งขององค์พญานาคนี้ นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นแม่น้ำโขงได้ชัดเจน พร้อมทั้งจุดชมวิวของตัวจังหวัดมุกดาหาร และฝั่งแขวงสะหวันเขต ประเทศลาว
นอกจากนี้ที่วัดภูมโนรมย์ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น พระธาตุภูมโนรมย์ รอยพระพุทธบาทจำลอง พระอังคารเพ็ญ และพระพุทธรูปเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 นามพระเจ้าใหญ่แก้วมุกดาศรีไตรรัตน์ เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 39.99 เมตร สูง 59.99 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอดเศียร 84 เมตร

อยู่ไม่ไกลจากวัดภูมโนรมย์จะเป็นอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ ห่างจากชายฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 4 กิโลเมตร มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทราย ประกอบด้วยเทือกเขาน้อยใหญ่แบบลูกคลื่นหลายลูกติดต่อกัน วางตัวในลักษณะแนวเหนือ-ใต้ ขนานกันไปมา และเป็นส่วนปลายสุดของเทือกเขาภูพาน ภายในอุทยานฯ ประกอบด้วยภูหมากยาง ภูมโน ภูโปร่ง ภูรัง ภูจอมนาง ภูหมากมี่ ภูผาเทิบ ภูนางหงส์ ภูถ้ำพระ ภูหลักเสและยอดเขาสูงสุดคือ ยอดภูจอมศรี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 170-420 เมตร บริเวณภูผาเทิบและลานหิน มีสภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยหลายสาย

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน