X

สคร.ที่ 5 ร่วมกับ หน่วยงานในเพชรบุรี ลงตรวจสอบที่เกิดเหตุแข่งขันดื่มเบียร์จนเสียชีวิต (มีคลิป)

เพชรบุรี- สคร.ที่ 5 ราชบุรี และ สสจ.เพชรบุรี ประสานทุกหน่วย ลงตรวจโรงแรม ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุแข่งดื่มเบียร์จนมีผู้เสียชีวิต พร้อมตรวจสอบอีกหลายโรงแรมในเขตอำเภอชะอำ เรื่องการจำหน่ายเครื่องดื่ม ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ พ.ศ.255 พบทั้งโรงแรมที่เกิดเหตุแข่งดื่มเบียร์ และอีกบางโรงแรม ทำความผิดกฎหมาย เกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

จากกรณีที่ เมื่อวันเสาร์ ที่ 29 มิถุนายน 2562 บริษัทแห่งหนึ่งได้จัดการแข่งขัน ดื่มเบียร์แบบใครหมดก่อนชนะ ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ในเขตอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี แล้วเกิดทำให้ นายสุวัชพงศ์อายุ 35 ปี ชาวจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ร่วมแข่งขันรายหนึ่งเสียชีวิต ต่อมา เมื่อเวลา 18.00 น.ของวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 ทีห้องประชุม 1 ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรค(สคร.) ที่ 5 ราชบุรี ,นายบุญลาภ ทิพย์จันทร์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี ,สมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ ปลัดจังหวัดเพชรบุรี พร้อมหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือและวางแผน ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ ภายในโรงแรม ในเขต อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงค่ำของคืนวันที่ 3 ก.ค.62

โดยเมื่อเวลา 19.00 น.วันที่ 3 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุแข่งขันดื่มเบียร์จนเสียชีวิต ภายในโรงแรมชื่อดังที่ อ.ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีนางสุกัญญา จันทร์ชู ผู้จัดการโรงแรมและคณะเจ้าหน้าที่โรงแรมซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมชี้แจง

เบื้องต้น พบว่าเหตุการณ์ด้งกล่าวเกิดในห้องประชุมจัดเลี้ยงของโรงแรม ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยคณะที่เกิดเหตุมีกว่า 150 คน เป็นผู้เข้าพัก และมีการเช่าห้องเพื่อจัดกิจกรรม โดยคณะผู้เข้าพักจัดกิจกรรมแข่งขันกันเอง โดยที่โรงแรมไม่มีส่วนรับรู้  นางสุกัญญา ผู้จัดการโรงแรม กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุ ได้รับแจ้งว่ามีผู้เข้าพักที่มาจัดงานเลี้ยงไม่สบายอาการหนักลงไปนอนแน่นิ่งกับพื้น จึงจัดส่งทีมปฐมพยาบาลโรงแรมที่ได้รับการอบรมเข้าไปช่วยเหลือขั้นต้น พร้อมประสานรถกู้ชีพโรงพยาบาลชะอำมารับผู้ป่วย แต่ปรากฏว่าผู้เข้าพักเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ด้าน นพ.สมาน กล่าวว่า อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นห่วง จึงสั่งการให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 5 ราชบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และทราบว่า กรณีดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่คณะลูกค้าที่เข้าพักโรงแรมจัดงานสังสรรค์ขึ้นเอง โดยมีผู้ร่วมงานประมาณ 150 คน และทราบว่ามีการสั่งเบียร์มาดื่มในงานจำนวน 7 ถัง แต่ละถังบรรจุ 30 ลิตร รวมเป็นเบียร์ทั้งหมด 210 ลิตร เมื่อหารเฉลี่ยคร่าวๆ แล้ว ผู้ร่วมงาน 1 คน อาจดื่มเบียร์ไปกว่า 1 ลิตรครึ่ง เพราะทางโรงแรมแจ้งว่า เบียร์ทั้ง 210 ลิตรไม่มีส่งคืนกลับมาให้ทางโรงแรมแต่อย่างใด

นพ.สมาน กล่าวต่อว่า สำหรับการเกิดเหตุเสียชีวิตขึ้นภายในสถานที่จัดเลี้ยงของโรงแรม เป็นลักษณะที่เสียชีวิตผิดปกติ จึงต้องรอผลการชันสูตรก่อนว่า การเสียชีวิตเกิดจากสาเหตุอะไร เพราะมีโอกาสเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสำลักจากการกินดื่มอย่างรวดเร็ว ทำให้ทางเดินหายใจอุดกั้น หรือการดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมากๆ ในเวลาสั้นๆ ทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายสูงเกินกว่าระดับร่างกายทนไหว ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องสอบสวนต่อไปว่าใครเป็นตัวการร่วม ใครเป็นผู้สนับสนุน และใครเป็นใช้ให้ดำเนินกิจกรรมต่อไป

นพ.สมาน ระบุด้วยว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณแบบนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางซึ่งอันตราย การแข่งดื่มเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ จึงจัดว่ายิ่งอันตรายขึ้นเป็นทวีคูณ จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญให้ไม่มีการดำเนินการเช่นนี้อีก สิ่งที่อยากเตือน คือ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากๆ ในเวลาสั้นๆ อย่างรวดเร็ว และแอลกอฮอล์ก็ไม่ส่งผลดีสุขภาพ รวมถึงต้องไม่มีการสนับสนุนการเอื้ออำนวยให้จัดกิจกรรมเช่นนี้ด้วย

นพ.สมาน ย้ำว่า นอกจากนี้ ประเด็นที่พบและที่ต้องระมัดระวัง คือ การกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ขายโดยการชิงโชค ชิงรางวัล มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนรายการส่งเสริมการขาย เหล้าเบียร์ โดยผิดกฎหมาย อาทิ ซื้อ 1 แถม 1 ลด แจก การสื่อสารเขียนบนกระดาน ติดป้าย ในเว็บไซต์ ใน Social Media ฯลฯเป็นความผิดฐานการโฆษณา จึงถือว่ามีความผิดในฐานการขายด้วยวิธีการต้องห้าม มีโทษ จำคุก 6 เดือนปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีก วันละ 50,000 บาท ตลอดช่วงที่มีการโฆษณา จนกว่าจะยกเลิกการโฆษณานั้นๆ

และหากจัดเป็นอีเวนต์ มีสาวเชียร์มาด้วย ถือเป็นกิจกรรมสื่อสารการตลาด จะเข้าข่ายผิดตามมาตรา 32 เรื่องการโฆษณาสื่อสารการตลาด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ด้านนางสุกัญญา ผู้จัดการโรงแรมที่เกิดเหตุ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า “ผู้เสียชีวิตมางานประชุมและร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ตอนเย็นเป็นรูปแบบทั่วไปของบริษัทต่างๆ โดยกิจกรรมในการจัดเลี้ยงบริษัทจะไม่แจ้งให้โรงแรมทราบและโรงแรมไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยว โรงแรมจะมีหน้าที่เพียงเตรียมห้องที่จะจัดเลี้ยง อาหาร หรือเครื่องดื่ม หรือสิ่งที่ลูกค้าร้องขอเท่านั้น หลังทราบว่าเกิดเหตุโรงแรมพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือต่างๆทุกวิถีทาง และรีบประสานรถพยาบาลจาก รพ.ชะอำนำส่งรักษา แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตได้ทัน รู้สึกเสียใจในเหตุการณ์ดังกล่าว และเป็นสิ่งที่โรงแรมไม่อยากให้เกิดขึ้น”

นางสุกัญญา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในโรงแรม ดีใจที่สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี และคณะลงพื้นที่มาตรวจสอบกรณีดังกล่าว เพราะจะได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด และคำแนะนำการป้องกันแก้ไข และให้คำแนะนำชัดเจนต่อผู้นิยมดื่มว่า การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นสิ่งที่อาจเกิดอันตราย และการแข่งขันดื่มเป็นเรื่องที่อันตรายแก่ชีวิต และอยากให้สาธารณสุขได้ออกมาทำความเข้าใจตลอดจนให้คำแนะนำข้อกฎหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สาธารณสุข กับผู้ประกอบการต่างๆ ด้วย

หลังจากนั้น คณะได้เข้าตรวจสอบโรงแรมในพื้นที่ในละแวกใกล้เคียงอีกหลายแห่ง และจากการตรวจสอบพบว่า บางโรงแรมมีการสื่อสารซึ่งผิดฐานโฆษณา และมีลักษณะการขายด้วยวิธีการต้องห้ามตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดทุกรายต่อไป.

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน