X

นราธิวาส-สู้ความยากจน! “ชุมชนเกาะปูลาโต๊ะบีซู”

นราธิวาส-ชุมชนบนเกาะที่ตากใบ “ยากจนที่สุดของนราธิวาส” สู้ขาดใจ! ทำประมงพื้นบ้าน ก่อนที่ มหา’ลัยนราธิวาสฯ เป็นตัวกลางผลักดันให้มีการแปรรูปอาหารทะเลเพื่อเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ ยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน 127 ครัวเรือน

หากจะเอ่ยถึงความยากจนในพื้นที่ของจังหวัดต่างๆทั่วประเทศไทย มีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว และหนึ่งในนั้นซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดปลายด้ามขวานติดชายแดนไทย-มาเลเซีย คือ “ชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะปูลาโต๊ะบีซุ” ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีประชากรอาศัยอยู่ จำนวน 784 คน รวม 127 หลังคาเรือน อาชีพหลักคือการทำประมงชายฝั่ง และจัดเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านมีฐานะยากจนที่สุดของ จ.นราธิวาส ส่วนใหญ่ชาวบ้านบนเกาะแห่งนี้ที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน จะเดินทางไปขายแรงงานร้านต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย คงเหลือเพียงผู้ที่ยังคงปักหลักต่อสู้กับความยากจน


โดย “หมู่บ้านปูลาโต๊ะบีซุ” แห่งนี้จะมีสภาพเป็นเกาะ โดยด้านหนึ่งจะเป็นทะเล อีกด้านหนึ่งจะเป็นแม่น้ำตากใบ ซึ่งการเดินทางเข้า-ออกในหมู่บ้านจะต้องใช้เรือเป็นพาหนะข้ามฟาก มีระยะทางประมาณ 500 เมตร อย่างไรก็ตามยังสามารถเดินเท้าข้ามสะพานของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งนราธิวาสได้เช่นกัน โดยในอดีตพบว่า ชาวบ้านที่ออกเรือไปจับสัตว์ทะเล เช่น หมึก ปลา ปูและกุ้ง เมื่อได้มาต้องนำไปจำหน่ายให้กับนายทุน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของชาวบ้านในการหักกลบลบหนี้ จนแทบจะไม่เหลือรายได้ที่จะนำมาจุนเจือครอบครัว


ต่อมาทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ สุทธิยาพิวัฒน์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เดินทางฝ่าคลื่นข้ามเกาะ ไปสอบถามความเป็นอยู่พร้อมทำประชาพิจารณ์ ก่อนที่จะไปพูดคุยกับนายทุน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของชาวบ้าน เพื่อขอแบ่งสัตว์ทะเลจำนวนหนึ่งให้ชาวบ้านได้นำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า นำรายได้ส่วนต่างจากการแปรรูปสัตว์ทะเลไปหักกลบลบหนี้ ให้ชาวบ้านสามารถชำระหนี้ที่ติดค้างได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และรายได้อีกส่วนหนึ่งชาวบ้านสามารถนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแบบไม่ขัดสน โดยชาวบ้านและนายทุนต่างยินยอมในข้อตกลงดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้านปูลาโต๊ะบีซุ ในการเพิ่มมูลค่าของสัตว์น้ำที่เป็นอาหารทะเล


ตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่เริ่มทำโครงการดังกล่าว มีชาวบ้านเข้าร่วมเป็นสมาชิก จำนวน 30 คน โดยมี น.ส.รูฮานี ยูโซ๊ะ และ น.ส.ซูไบด๊ะ บือราเฮง เป็นหัวหน้าและร่วมบริหารกลุ่ม โดยสินค้าอาหารทะเลที่นำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นไปตามฤดูกาล มีการแปรรูปปลากระบอกและหมึกตากแห้งตามธรรมชาติ โดยไม่ใช้สารเคมี ปัจจุบันมีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


สำหรับขั้นตอนการแปรรูปปลากระบอกตากแห้งหรือแดดเดียว หากปริมาณปลากระบอกหรือภาษายาวีท้องถิ่น เรียกว่า อีแก บลาเนาะ มีปริมาณไม่เพียงพอ ก็จะซื้อเพิ่มจากชาวบ้านในราคากิโลกรัมละ 60 บาท มาทำการขอดเกล็ดปลาให้เกลี้ยง ผ่าท้องควักไส้ ล้างทำความสะอาด จากนั้นนำไปแช่น้ำทะเลส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งนำไปแช่เกลือ ซึ่งกรรมวิธีทั้ง 2 แบบ จะได้รสชาติต่างกันตามใจชอบของผู้บริโภค ที่จะเลือกชื้อปลากระบอกแดดเดียวหรือตากแห้ง โดยส่วนใหญ่จะชื่นชอบปลากระบอกที่แช่ด้วยน้ำทะเล เพราะได้รสชาติแบบธรรมชาติมากที่สุด ส่วนผู้บริโภคที่ชื่นชอบแบบแช่เกลือ ก็จะชื่นชอบรสชาติที่ออกเค็ม เพื่อนำไปรับประทานกับแกง ซึ่งการตากแห้งจะใช้เวลา 2 ถึง 3 ชั่วโมง ไว้ในมุ้งไนล่อนสีขาวก่อนที่จะนำมาบรรจุในถุงพลาสติกใสสูญญากาศ น้ำหนัก 1 กิโลกรัม และจำหน่ายในราคาถุงละ 350 บาท


ส่วนหมึกตากแห้งมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ หมึกหอม ภาษายาวีพื้นถิ่น เรียกกว่า ซูตง งาแบ และหมึกกล้วย ภาษายาวีพื้นถิ่นเรียกว่า ซูคง เตาะเง่าะ หากปริมาณหมึกไม่เพียงพอ ก็จะซื้อจากชาวบ้านกิโลกรัมละ 250 บาท ก่อนนำมาแปรรูป ด้วยการนำหมึกไปผ่าท้องทำความสะอาดแล้วนำไปแช่เกลือ ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำไปตากเรียงไว้ในมุ้งไนล่อนสีขาว ประมาณ 2 วัน จากนั้นนำมาบรรจุในถุงพลาสติกใสสุญญากาศ น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ขนาดเล็กบรรจุ 5 ตัว ราคาถุงละ 1,000 บาท ส่วนหมึกตัวใหญ่ ซึ่งบรรจุถุงละ 2 ตัว ราคา 1,800 บาท มีการติดสติ๊กเกอร์ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชาวบ้าน เป็นรูปวงกลม ด้านในมีรูปปลาและกุ้งพร้อมพิมพ์คำว่าเกาะหัวใจเป็นสีแดง พร้อมด้วยหมายเลขโทรศัพท์ 080 7696090 เป็นช่องทางในการสั่งซื้อและการันตีคุณภาพ


ด้าน น.ส.รูฮานี ยูโซ๊ะ หัวหน้าและผู้บริหารกลุ่มประมงปูลาโต๊ะบีซุ กล่าวว่า ชาวบ้านที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการมีจำนวน 30 คน ขณะนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเดือนคนละ 1,500 บาท โดยจะมีการนำไปออกบูธตามงานต่างๆในอำเภอตากใบและอำเภอเมืองนราธิวาส รวมทั้งทางเพจหมู่บ้านปูลาโต๊ะบีซู อีกด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน