X

‘วิศัลย์’จวกเวทีรับฟังฯหรือโฆษณาชวนเชื่อ ปลุกสังคมกดดันหยุดทำ EIA ขุดเจาะน้ำมันใกล้เมืองศรีเทพ

เพชรบูรณ์-‘วิศัลย์จวกเวทีรับฟังฯหรือโฆษณาชวนเชื่อ ปลุกสังคมกดดันหยุดทำ EIA ขุดเจาะน้ำมันใกล้เมืองศรีเทพ ยก 4 เหตุผลทำให้ชาวเพชรบูรณ์หมดความไว้วางใจ

วันที่ 20 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความเคลื่อนไหวคัดค้านการขุดเจาะปิโตรเลียมใกล้กลุ่มโบราณสถานเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งกระแสต่อต้านยังคงมีความร้อนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะล่าสุดทางบริษัทฯจัดทำรายงานอีไอเอส่งเอกสารผลสรุปผลการรับฟังฯมีการโชว์ตัวเลขประชาชนเห็นด้วย 62.6% กับการขุดเจาะน้ำมันหลุม STN-2 ให้กับส่วนราชการในจังหวัดเพชรบูรณ์ช่วยปิดประกาศ จนกลายเป็นประเด็นร้อนจุดกระแสต่อต้านให้ชาวเพชรบูรณ์ลุกฮือขึ้นมาอีกระลอก เนื่องเพราะผลสรุปผลการรับฟังความเห็นฯในครั้งแรกนี้ ค่อนข้างสวนกระแสความรู้สึกของชาวเพชรบูรณ์ กระทั่งทางจังหวัดเพชรบูรณ์ เตรียมเชิญบริษัทฯจัดทำรายงานฯเข้าชี้แจงในวันที่ 28 มีนาคมที่จะถึงนี้ ถึงกระบวนการจัดเวทีและเชิญผู้เข้าร่วมเวทีรับฟังฯถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่

ล่าสุดนายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ยังคงเดินหน้าคัดค้านหลุมขุดเจาะน้ำมัน STN-2 ดังกล่าวอย่างไม่ลดละ โดยได้โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊กที่ชื่อ “วิศัลย์ โฆษิตานนท์” ซึ่งเนื้อหาชี้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลและท่าทีของบริษัทน้ำมันทุนต่างชาติ โดยที่ผ่านมาแม้จะประกาศชะลอโครงการฯก็ตาม แต่ในทางตรงก้นข้ามยังเดินหน้าโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยนายวิศัลย์ถึงกับตั้งข้อสังเกตถึงการรายงานอีไอเอฉบับนี้จัดทำแบบโฆษณาชวนเชื่อ จนยากที่ชาวเพชรบูรณ์จะวางใจต่อการกระทำบริษัทเอกชนรายนี้ ขณะเดียวกันยังหยิบยก 4 เหตุผล ที่ทำให้หมดความเชื่อใจบริษัททุนต่างชาติรายนี้ โดยวิศัลย์โพสต์ข้อความระบุว่า….

4 เหตุผลที่ เราไม่ไว้วางใจคำพูดของบริษัทขุดเจาะน้ำมันศรีเทพเสียแล้ว ….

1.แม้บริษัทแถลงต่อสื่อมวลชนว่าจะชะลอฐานหลุมผลิต STN-2 แต่กลับไม่ได้ยุติกระบวนการทำ EIA แต่อย่างใด แต่กลับมีการเดินเก็บแบบสอบถามเพิ่มเติม จัดทำสรุปรายงาน และส่งมาให้ทางราชการเผยแพร่ว่า มีคนเห็นด้วย 62.6 %

2.ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 เชื่อว่าประชาชนชาวเพชรบูรณ์และภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่น่าจะได้มีโอกาสในการมีส่วนร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็น ทั้งที่ เมืองโบราณศรีเทพเป็นทรัพย์สมบัติของคนเพชรบูรณ์และสังคมไทย และกำลังอยู่ในประบวนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกกับ UNESCO ดังจะเห็นได้จากทั้ง 3 เวทีมีผู้เข้าร่วมแค่ 247 คนเท่านั้น และในจำนวนนี้ตอบแบบสอบถาม 195 คน นอกจากนั้น คนที่เข้าร่วมส่วนหนึ่งคือ ผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้าน ซึ่งบางคนมีท่าทีเชียร์โครงการอยู่แล้ว และมีความคาดหวังที่ผิด ๆ เช่น จะทำให้คนท้องถิ่นมีงานทำ หรือสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่น ดังที่สื่อมวลชนได้รายงานความเห็นของผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง

3.การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเจตนารมณ์เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย มีส่วนร่วมในการกำหนดขอบเขตการศึกษาและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการและประเมินทางเลือกโครงการ ซึ่งย่อมไม่ได้หมายถึงการถามความคิดเห็นแบบหยาบๆ โดยฟังข้อมูลด้านเดียวเช่นนี้

4.ในการจัดเวทีมีลักษณะของเตรียมคำตอบไว้หมดแล้วดังในตารางคำชี้แจง/คำชี้แจงเพิ่มเติม ทั้งที่ควรนำคำถามของผู้เข้าร่วมไปประมวลเพื่อกำหนดขอบเขตการศึกษาและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ และประเมินทางเลือกโครงการ เวทีแบบนี้จึงกลายเป็น “เวทีโฆษณาชวนเชื่อ” และข้อเท็จจริงนี้ก็ตอกย้ำให้เห็นจากการทำแบบแสดงความคิดเห็นแบบหยาบๆ ออกมาหลังการจัดเวที

การทำเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทไม่ได้มีความจริงใจว่าจะยกเลิกฐานหลุมผลิตนี้ และจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมต้องร่วมกันเรียกร้องให้บริษัทหยุดทำ EIA เพราะหากปล่อยให้ทำต่อไปจนเสร็จ ก็จะเข้าตำราอ้อยเข้าปากช้างเหมือนกับหลายโครงการที่ผ่านมา!!

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน