X

แจ้งความแก๊งตุ๋นเกษตรกร แอบอ้างเป็นบอสกองทุนฟื้นฟูฯ” ถูกหลอกเรียกรับเงิน เพื่อแลกเงินกู้-ลดหนี้ เตือนระวังมีหลายจังหวัด

เพชรบูรณ์-เกษตกรโร่แจ้งความเอาผิด “กลุ่มแอบอ้างเป็นบอสกองทุนฟื้นฟูฯ” หลังถูกล่อลวงเรียกรับเงินเพื่อแลกเงินกู้-ลดหนี้ ด้านรอง ปธ.กก.บริหารกองทุนฯ ชี้มีขบวนการฉ้อโกงอ้างกองทุนฯ หลายจังหวัดเตือนเกษตรกรระมัดระวัง

เวลา 14.00 น วันที่ 27 เมษายน 2564 ที่สถานีตำรวจชุมชนวังชมภู ต.วังชมภู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เกษตรกรจากอำเภอหนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 5 ราย นำโดย นายยุพราช บัวอินทร์ รองประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้รุดเข้าพบพ.ต.ท.อัคร์บุณย์ สอนจันทร์ รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองเพชรบูรณ์ หัวหน้าสถานีตำรวจชุมชนวังชมภู พร้อมพ.ต.ต.แสวง สังข์ทอง สว.(สอบสวน) สภ.เมืองเพชรบูรณ์ ร้อยเวรฯ เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกลุ่มบุคคลที่อ้างตนเองเป็นผู้บริหารระดับสูงของกองทุนฟื้นฟูฯ กระทำการเรียกเก็บค่าสมัครสมาชิกค่าเข้าร่วมชุมนุมและอื่นๆ รวมประมาณรายละ 3,000 บาท โดยหว่านล้อมให้หลงเชื่อว่าผู้จ่ายเงินจะได้รับเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ยจากกองทุนฟื้นฟูฯ รายละ 200,000-500,000 บาท รวมถึงจะได้รับการลดหนี้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงินเหลือกึ่งหนึ่งของยอดหนี้

โดยผู้กล่าวอ้างได้มีการนัดหมายกับเกษตรกรว่าจะได้รับเงินกู้ดังกล่าวหลายครั้ง แต่ก็มีการเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด กระทั่งต่อมาเกษตรกรทั้ง 5 รายจึงได้เดินทางไปยังสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยได้รับข้อมูลยืนยันที่ถูกต้องจากนายชูชาย บุญรอด หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสาขาจังหวัดเพชรบูรณ์  จึงได้เดินทางมาแจ้งร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีกับกับกลุ่มบุคคลที่แอบอ้าง เป็นผู้บริหารระดับสูงของกองทุนฟื้นฟูฯ ดังกล่าว

นายยุพราช บัวอินทร์ กล่าวว่า บุคคลที่อ้างเป็นประธานกลุ่มองค์กรไปผลัดผ่อนเกษตรกรหลายครั้งว่า จะได้เงินกู้ภายในกำหนดเวลาวันนั้นวันนี้ แต่เมื่อถึงกำหนดเกษตรกรก็ยังไม่ได้เงินแต่อย่างใด ทั้งที่ความจริงแล้วกลุ่มองค์กรยังไม่ได้จัดทำแผนและโครงการขอกู้เงินตามที่ระเบียบกฎหมายกำหนด กลุ่มฯยังไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้จากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร แต่ไปบอกเกษตรกรด้วยความเท็จว่ากลุ่มมีเงินให้เกษตรกรกู้ยืมเงินอยู่ในบัญชีแล้ว ประธานกลุ่มจะให้ใครหรือไม่ให้ใครกู้ก็ได้ใครไม่จ่ายเงินจะเสียสิทธิ เกษตรกรหลงเชื่อก็จะถูกเรียกเก็บเงินไปครั้งละ 20 บาทถึงหลักพันบาทเรื่อยมา รวมระยะเวลาราว 1 ปีเป็นเงิน 2,000- 3,000 บาทเศษ บางคน 2 คน สามีภรรยาเสียเงินไปแล้วหลักหมื่นบาทก็มี เพราะหวังว่าจะได้ลัดคิวได้เงินกู้จำนวนหลายแสนบาทเป็นต้น

รองประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวย้ำว่า “ขบวนการฉ้อโกงเกษตรกรโดยอ้างกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีอยู่จริงในหลายจังหวัด และตนในฐานะฝ่ายบริหารจึงมีหน้าที่กำจัดกระบวนการที่หลอกลวงเก็บเงินกับคนจน เพื่อให้เกษตรกรได้เข้าถึงกองทุนฟื้นฟูฯ อย่างแท้จริงและถูกต้อง อย่างไรก็ตามฝากแจ้งเตือนไปยังพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ ให้ระมัดระวังการถูกล่อลวงในลักษณะแบบเดียวกันนี้”

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน