X

คนเลี้ยงหมูต้องปล่อยคอกหมูร้าง เพราะพิษโรคระบาด สาเหตุที่ทำให้ราคาหมูแพง

ราชบุรี     ในวันนี้ ( 5 ม.ค.65 ) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพบกับ น.ส.สุภาวดี จุมพลเดชาพันธ์ ชาว ต.ดอนกระเบื้อง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี หลังทราบว่าต้องจำใจต้องปล่อยคอกหมูทิ้งร้าง เนื่องจากหมูที่เลี้ยงอยู่ตายยกฟาร์ม เพราะโรคระบาด และไม่มียารักษา ทำให้ขาดทุนกว่าแสนบาท

ซึ่ง น.ส.สุภาวดี  ก็เปิดเผยว่า ครอบครัวของตนมีอาชีพเลี้ยงหมูมานานกว่า 30 ปี เป็นฟาร์มหมูขนาดเล็ก มีหมูรวมกว่า 100 ตัว แบ่งเป็นแม่พันธุ์ 15 ตัว ที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้หมุนเวียน สำหรับเลี้ยงดูครอบครัวเดือนละประมาณ 20,000 – 30,000 บาท    จนกระทั่งเมื่อช่วงเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา จู่ ๆ แม่หมูในฟาร์มเริ่มมีอาการป่วย ซึม ไม่กินอาหาร ช่วงแรกคิดว่าเกิดจากสภาพอากาศ จึงซื้อยามาฉีดรักษาตามอาการ ต่อมาบริเวณผิวหนังมีจุดแดงทั่วทั้งตัว ก่อนที่แม่หมูจะแท้งลูก และตายในที่สุด ซึ่งอาการทั้งหมดใช้เวลาเพียง 2 วันเท่านั้น  และหมูตัวอื่น ๆ ก็เริ่มมีอาการตามมา วันละตัว 2 ตัว บางวันก็เป็น 10 ตัว ต้องหมดค่ายารักษาไปเป็นเงินหลักหมื่นบาท แต่ก็ไม่สามารถรักษาหมูในฟาร์มไว้ได้แม้แต่ตัวเดียว   ตลอดระยะเวลา 15 วัน ในทุกเช้า ตนจะต้องตื่นขึ้นมาพร้อมกับความสูญเสีย ยืนดูซากหมูที่ตายคาคอก นำไปขุดหลุมฝังกลบจนแทบจะไม่เหลือที่ฝัง หมูที่ยังไม่เป็นโรค ก็จำต้องรีบปล่อยขายในราคาถูก เพราะเกรงจะตายคาคอกซ้ำ   จนมาทราบว่า ก่อนหน้านี้ฟาร์มหมูทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็กในพื้นที่ มีหมูตายในลักษณะเดียวกันเป็นจำนวนมาก จึงคาดว่าหมูที่ฟาร์มน่าจะป่วยเป็นโรคติดต่อ และเป็นสาเหตุให้หมูตายยกฟาร์ม ทำให้ขาดทุนกว่า 100,000 บาท และนอกจากนั้นยังทำให้ทราบว่า มีเพื่อนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยในพื้นที่อีกหลายราย ต้องเจอกับปัญหาดังกล่าวจนต้องปล่อยคอกร้างเช่นเดียวกัน

     ส่วนโรคระบาดที่เกิดขึ้นในฟาร์ม คาดว่าเกิดจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือ ASF ซึ่งอาจจะติดต่อมาจากคนงานจับหมู หรือ จากนกต่าง ๆ ที่จะบินไปกินอาหารในฟาร์มหมูข้างเคียงที่มีโรคระบาด แล้วนำมาแพร่เชื้อในฟาร์มของตน   ทั้งนี้ ตนต้องออกไปทำงานรับจ้างบรรจุขนม ได้ค่าจ้างเดือนละประมาณ 6,000 บาท ซึ่งก็ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว ทำให้ต้องกินอยู่อย่างประหยัด รวมไปถึง นำเงินเก็บส่วนที่เหลือ มาลงทุนเลี้ยงไก่ไข่ เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งแทน ในส่วนของฟาร์มหมู คงต้องหยุดพักไปก่อน เนื่องจากไม่มีทุนเหลืออีกแล้ว ประกอบกับต้องทำให้พื้นที่ปลอดเชื้อ  ซึ่งการที่หมูตายยกเล้า  และไม่ใช่เพียงแค่ของตนรายเดียว  แต่มีอีกจำนวนมาก  จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาหมูนั้นแพงขึ้นเป็นอย่างมาก  เพราะจำนวนหมูลดลงไม่เพียงพอต่อผู้บริโภค

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สายชล โอชะขจร

สายชล โอชะขจร

ผู้สื่อข่าวราชบุรี