X

ภูมิปัญญาชาวบ้าน ผลิตกี่ทอผ้าขนาดเล็กส่งขายต่างประเทศ

              นายจรูญ   พาระมี อายุ 70 ปี หรือที่วงการผ้าทอเรียกว่า อาจารย์จรูญได้ใช้บ้านเลขที่ 6/2 หมู่  ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นแหล่งผลิตกี่ทอผ้าแบบโบราณมากว่า 16 ปี ส่งขายไปทั่วประเทศไทย และยังดังไกลไปถึงต่างประเทศ ด้วยภูมิปัญญา ความรักในการทอผ้าแล้วพัฒนาต่อยอดให้กี่ทอผ้าแบบโบราณมีความสามารถทอผ้าหลากหลายลวดลายได้รวดเร็วขึ้นและมีขนาดเล็กลง  สามารถเคลื่อนย้ายไปสร้างงานในพื้นที่จำกัดอีกด้วย

       โดยนายจรูญ พาระมี หรือครูช่างศิลปหัตถกรรม ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) ให้การยกย่องในฐานะเป็นปราชญ์ชาวบ้านอันทรงคุณค่าของการทอผ้า เผยว่า ตนเองสนใจการทอผ้ามาตั้งแต่ 8 ขวบ เนื่องจากที่บ้านมีอาชีพทอผ้ามานาน ตนพยายามศึกษาเรียนรู้วิธีการทอผ้าทุกขั้นตอน รวมทั้งกี่ทอผ้าแบบโบราณ จนพอมีความรู้ความชำนาญจึงมีการต่อยอดหาวิธีการทอผ้าที่ทันสมัยและเพิ่มขีดความสามารถของกี่ทอให้ทอผ้าได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะขนาดของกี่ทอผ้าให้มีความแตกต่าง กะทัดรัด  ประมาณ  16 นิ้ว ตนเองใช้เวลาเกือบ 16 ปี ในการคิดค้นและแก้ไขข้อบกพร่องของกี่แต่ละขนาดให้เหมาะสมกับการใช้งาน โดยแรกเริ่มได้ผลิตให้กับศูนย์ฯทอผ้าตีนจกที่ ต.คูบัว  อ.เมือง ก่อนขยายไปยังอีกหลายตำบลใน จ.ราชบุรี กระทั่งมาตั้งฐานการผลิตอยู่ที่ ต.ท่าราบ และได้ให้คนในครอบครัว 4 คน โดยเฉพาะนายมานพ พาระมี อายุ 43 ปี ลูกชายที่รักและสนใจในการทอผ้าเช่นกันเป็นกำลังสำคัญในการผลิตกี่ทอผ้าแบบใหม่ที่ดีที่สุดในประเทศไทยนี้

 

    กี่ทอผ้ารุ่นแรกๆนั้น ใช้เวลานานกว่าจะทอได้แต่ละผืน ตนเองได้แก้ไขเพิ่มประสิทธิภาพกี่ทอผ้า จากกี่ทอมือซึ่งทอได้ช้าและมีขนาดใหญ่เปลี่ยนมาเป็นกี่กระตุกที่มีขนาดเล็กลงเหลือเพียง 16 นิ้ว แล้วยังมีความเร็วในการทอได้ถึงกว่า 10 เท่า ซึ่งกี่ทอผ้าที่ตนเองผลิตเดิมใช้ต้นทุนประมาณ 3,000 บาท ต่อมามีการแก้ไขข้อบกพร่องส่วนประกอบต่างๆ ก็ใช้ตนทุนอยู่ที่ 7,000 กว่าบาท แล้วจำหน่ายในราคาเพียง 10,000 บาท มีศูนย์ฯทอผ้าตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศ  ให้ตนเองผลิตเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ผ้าทอกันอย่างกว้างขวาง แต่ที่ตนเองภูมิใจมากก็คือ เมื่อศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) ให้การสนับสนุนและมีโอกาสได้ไปออกงานประชาสัมพันธ์ จนมีต่างประเทศสั่งซื้อกี่ทอผ้าของตนเองไป เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา  ซึ่งทางนายมานิต นพอมรบดี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งนางจินตนา ศักดิ์สมบูรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าราบ อ.เมืองราชบุรี ที่ทราบเรื่องนี้ก็เป็นห่วงจึงอยากให้ตนเองทำการจดสิทธิบัตรไว้ เนื่องจากกี่ทอผ้าที่ตนเองผลิตนั้นเกิดจากภูมิปัญญาของโดยแท้ โดยขณะนี้ตนเองกำลังดำเนินการอยู่

     อย่างไรก็ดี นายจรูญ พะระมี ครูช่างศิลปหัตถกรรม ได้กล่าวว่า กว่า 16 ปี นอกจากตนเองจะเป็นช่างผลิตกี่ทอผ้าแล้ว ตนเองยังได้เดินทางไปเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่หน่วยงาน และสถานศึกษาจำนวนมากโดยไม่เคยคิดหวงวิชาใดๆ เนื่องจากต้องการให้ความรู้เรื่องการทอผ้านี้คงอยู่ไปชั่วลูกชั่วหลานต่อไป ซึ่งผู้ที่สนใจกี่ทอผ้าโบราณที่มีขนาดเล็กและแห่งเดียวในประเทศไทยสามารถเยี่ยมชมและเรียนรู้ได้ โดยเดินทางมายังบ้านเลขที่ 6/2 หมู่  ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.ราชบุรี หรือโทร.08 3105 5771

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สายชล โอชะขจร

สายชล โอชะขจร

ผู้สื่อข่าวราชบุรี