X

ชายแดนใต้หลังโควิดฯ เอกชนขานรับเวทีศอ.บต. ร่วมแก้เศรษฐกิจ

สงขลา –สะเดา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  เปิดเวทีถก “ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้”​ ร่วมแลกเปลี่ยน​ถอดบทเรียนสู่การพัฒนา​​

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดสัมมนา “ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้”​ มีวิทยากร ประกอบด้วย นาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต., นายธนวัตน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้า จังหวัดสงขลา, นายศิริชัย ปิติเตริญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี, นายรักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และ นพ.กิ๊ฟลัน ดอเลาะ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมนำสัมมนาโดย นายสมชาย สามารถ บรรณาธิการศูนย์ภาคใต้เครือเนชั่น และ นายชัยวุฒิ บุญวิวัฒนาการ รองประธานสภาวิทยาลัยชุมชนสงขลา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม บอกว่า ศอ.บต. เป็นหน่วยที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงและบูรณาการของกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงภาคท้องถิ่น เป็นบทบาทตามพ.ร.บ.ของศอ.บต. ปี 2553 โดยทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนชายแดนภาคใต้ไปสู่สันติสุข ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้วิถีพหุวัฒนธรรม

ล่าสุด ดัชนีความเชื่อมั่นในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งได้จัดทุกๆ 3 เดทอนพบว่า ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและสังคม ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นอยู่ระดับขึ้น A52 ประชาชนได้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหลักในขณะนี้คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 รองลงมาคือ ปัญหาเรื่องปากท้อง และปัญหาที่ต้องการให้แก้ไขเร่งด้วยคือ ค่าครองชีพ

การผ่อนคลายมาตรการของรัฐบาล ทำให้กิจการบางส่วนกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งหนึ่ง ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตในประจำวันอย่างปกติมากขึ้น และไตรมาสนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตทางการเกษตรของชายแดนใต้ทั้ง ทุเรียน มังคุด ลองกอง ช่วยบรรเทารายได้ของเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย

นาวาเอก จักรพงษ์ กล่าวถึงการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพพื้นที่ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ศอ.บต.ได้วางแผนการดำเนินร่วมกับกระทรวงกรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลักๆ คือเรื่องเศรษฐกิจภาคเกษตร ตลาดจะต้องนำการผลิต ส่วนที่สอง จะต้องมีวิชาการและงานวิจัยรองรับ “การขับเคลื่อนงานศอ.บต.ในระยะเร่งด่วนมุ่งเน้นเศรษฐกิจฐานราก ไปเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลมุ่งสู่เมืองต้นแบบใน 4 เมือง” นาวาเอก จักรพงษ์ บอกว่าธุรกิจฐานรากครัวเรือนชุมชนมุ่งเน้นภาคเกษตรจะแบ่งตามลักษณะภูมิศาสตร์ ทั้งชายทะเล พื้นที่ราบ รวมถึงการปลูกผลผลิตทางการเกษตรส่งเสริมการปลูกทุเรียน มังคุด ลองกอง และในครัวเรือน ชุมชนจะเน้นเรื่องปลูกไผ่เศรษฐกิจเพื่อรองรับโรงไฟฟ้าชีวมวล

ส่วนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะขับเคลื่อนเมืองปูทะเลโลกชายแดนใต้ จะฟื้นฟูนิคมอาหารฮาลาลที่ปานาเระกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกันชายแดนใต้มีเสน่ห์เรื่องผลไม้จะขับเคลื่อนต่อไป โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จะเริ่มเมืองหนองจิกอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่นเดียวกับโกลก เมืองการค้าชายแดน 9 ด่าน ตั้งแต่สตูล-ตากใบ “ขณะนี้ ศอ.บต.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบ เตรียมความพร้อมการเปิดประเทศ”

อีกเมืองคือ ท่องเที่ยวที่เบตงมาติดสถานการณ์โควิด-19 อย่างเดียว เพราะก่อนหน้านี้ มีคนมาเที่ยวอัยเยอร์เวง 2 แสนคน ตรงนี้จะขับเคลื่อนต่อ โดยเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เข้ามา โดยมติที่สำคัญ 1. การแก้ปัญหาประมงปัตตานี  2. ไม้เศรษฐกิจ 58 ชนิด จะขับเคลื่อนต่อประมาณ 2 แสนไร่ในกรอบ 5 ปี ส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะไม้โตเร็ว 3. คือ การวิ่งภายในภูมิประเทศในปี 2565

4. การแก้ไขปัญหาความยากจน จะนำร่องให้ราชการดูแลคนจนก่อนเพื่อแก้ปัญหาให้คนจนหมดไป 5. ปัญหาน้ำท่วมทุกปีที่ปากน้ำเทพา ก็เร่งแก้ปัญหาในตรงนี้ให้ดีขึ้น 6. ด่านการค้าชายแดนเปิดประเทศ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ด่านที่ต้องการขับเคลื่อนให้เร็วที่สุดคือ ด่านสุไหงโก-ลก และสะเดา

นาวาเอก จักรพงษ์ บอกอีกว่า ใบยางร่วง เป็นปัญหาที่ได้รับอนุมัติเงินจากการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) มาแก้ไขอย่างเร่งด่วน สำหรับแรงงานไทยที่กลับมาจากมาเลเซียประมาณ 20,000 คน ขณะนี้ได้จัดหางานให้ทำได้ประมาณ 10,000 คน สุดท้ายคือนักศึกษาไทยจากต่างประเทศที่ไปเรียนมา 27 ประเทศ ประมาณหนึ่งหมื่นคนต้องกลับมา ศอ.บต.ก็เข้าไปช่วยเหลือดูแลในส่วนนี้

นายศิริชัย ปิติเตริญ บอกว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนใต้ ต้องยอมรับว่าแตกต่าง จากพื้นที่อื่น เราเป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางด้านเศรษฐกิจมาตลอด ยังต้องได้รับการช่วยเหลื่อจากภาครัฐโดยที่ไม่มีปัญหาเรื่องโควิด-19 เข้ามา อยากให้ภาครัฐมองว่าการเข้ามาดูแลเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมถึงสงขลาต้องมีความแตกต่างในพื้นที่อื่น

“แต่ละจังหวัดมีปัญหาต่างกัน สงขลามีโรงงานอุตสาหกรรม มีการท่องเที่ยว ซึ่งกระทบไปหมด ยะลามีเบตง นราธิวาสมีสุไหงโก-ลก ปัตตานีมาจากอุตสาหกรรม ประมง และกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบระยะยาว เวลานี้โควิด-19 ค่อยๆ ดีขึ้น แต่ชายแดนใต้ยังติดอันดับสูง ถ้าจะกลับมากอบกู้ตรงนี้ในแต่ละจังหวัดที่มีฐานเดิมต้องดึงตรงนั้นกลับมา หลังจากนั้นก็หาของใหม่อาจจะต้องใช้ระยะเวลา” สิ่งที่ต้องมองในอนาคตคือ นโยบายการเงินการคลัง ต้องดูแลเป็นกรณีพิเศษแตกต่างจากที่อื่น ขณะเดียวกัน ก็ต้องหาภาคอุตสาหกรรมอื่นมาทดแทน

“นิคมอุตสาหกรรมที่จะนะ อยากให้นโยบายส่งผลทางด้านเศรษฐกิจลงมาถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เรื่องนี้อยากฝากถึงศอ.บต.และประธานหอการค้าสงขลาด้วย”

นายศิริชัย บอกว่า  การที่เราจะฟื้นเศรษฐกิจเมื่อโควิด-19 คลี่คลายยังยืนยันว่าปัตตานียังต้องการประมงเข้ามา รอสงขลาที่จะส่งนักท่องเที่ยวเมื่อเปิดเมืองแล้วมายังสามจังหวัดชายแดนใต้และขอบคุณศอ.บต.ที่ทำหลายๆ โครงการขึ้นมา อย่างเช่น ทุเรียน เป็นต้นเพื่อให้เศรษฐกิจชายแดนใต้กลับคืนมาให้ได้

นายธนวัตน์ พูนศิลป์ บอกว่า ตนได้มองข้ามสถานการณ์โควิด-19 ไปแล้ว การแก้ไขปัญหาต่างๆก็ได้ทำการแก้ไขไปบ้างแล้ว และไม่กี่วันทุกอย่างคงเข้าสู่สภาวะปกติ ถ้าเรามองในการขับเคลื่อน 5 จังหวัดชายแดนใต้ สงขลา สตูล นราธิวาส ปัตตานี ยะลา เห็นด้วยกับประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี คือจังหวัดปัตตานีต้องเร่งอุตสาหกรรมอาหารผู้ประกอบการประสบปัญหากับประมงมาหลายปี

เป็นความโชคดีของสามจังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ถือว่ากระทบเรื่องโควิด-19 ถ้าเทียบกับสงขลาน้อยมาก เพราะภาคที่กระทบมากที่สุดคือ ภาคท่องเที่ยว และธุรกิจบริการสามจังหวัดชายแดนใต้ยังน้อย ถ้าเทียบกับสงขลาคือมหาศาล แต่สงขลาโชคดีว่าเรามีเครื่องยนต์หลายตัว

ในการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ 1. ระบบราชการต้องการกำลังคุณภาพสูง  2. การลงทุนเรื่อง

โลจิสติกส์ 3. การแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง  4. สินค้าการเกษตรและการเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง 5. แก้ปัญหาการก่อการร้าย ยกเลิกพื้นที่สีแดงสงขลา 6. ภาครัฐและศอ.บต.ผลักดันแผนอย่างจริงจัง 7. ลดความยากจน มีความคุ้มครองสังคม และ 8. SMEs เข็มแข็งศักยภาพสูงแข่งขันได้

“ถ้ามองในขณะนี้ศอ.บต.ได้ทำงานไปเยอะมากทั้งด้านการศึกษา ทางด้านอาชีพ การสร้างงาน ถ้าได้ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง น่าจะไม่มีคนจนเหลืออยู่ใน 5 จังหวัด ถ้าอีก 3 ปีข้างหน้า คนจนยังเหลืออยู่ในสามจังหวัด ผมคิดว่าการขับเคลื่อนไม่ได้ผล” ประธานหอการค้าสงขลา กล่าวด้วยว่า ถ้าจะสร้างการตลาดต้องมาคุยกับเอกชน โดยใน 5 จังหวัดชายแดนใต้มีผลผลิตการเกษตรคุณภาพสูง จะต้องเกิด อาหาร พืช สัตว์ ผลไม้ต้องมีคุณภาพสูง ต่อมาคือ การยกระดับสินค้าและการแปรรูปต้องมีโรงงานแปรรูปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนสร้างงานสร้างอาชีพจะต้องจริงจัง สุดท้ายคือ การท่องเที่ยวสามจังหวัดมีเสน่ห์การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ทำอย่างไรก็ได้ให้คนในจังหวัดตัวเองมาเที่ยวก่อน

นายรักชาติ สุวรรณ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ภาคประชาสังคมลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านมาก หลายองค์กรปรับบทบาทของตัวเองมาทำอาหารเพื่อนำไปช่วยเหลือชาวบ้านที่กักตัว ปัญหาที่เจอกันจริงๆ คือการไม่ให้ข้อมูล ทำให้เราดูแลชุมชนค่อนข้างยาก

“ปัญหาต่อมาคือ ความไม่ไว้วางใจอดีตเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ แต่ปัจจุบันเริ่มไม่ไว้วางใจคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 จึงต้องความพยายามอธิบายในคนในพื้นที่ต่างๆ เข้าใจ”

อีกทั้ง ยังมีความไม่ไว้วางใจ กลุ่มคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน “ที่ปานาเระ ไม่มีประเด็นคัดค้านโรงงานอุตสาหกรรมฮาลาล แต่กังวลใจเมื่อเป็นฮาลาลเขารับคนทำงานเฉพาะมุสลิมหรือไม่ ก็ได้อธิบายไปว่าพี่น้องพุทธเขาก็รับแต่ต้องทำตามกฎระเบียบ” นายรักชาติ บอก

เช่นเดียวกับ นพ.กิ๊ฟลัน ดอเลาะ ที่บอกว่า ถ้าดูสถานการณ์โลกอาจจะมีระลอกที่ 5 เพราะเชื้อโรคปรับตัวตลอดเวลา ส่วนสถานการณ์ของสามจังหวัดชายแดนใต้ตัวเลขจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มลดลงแต่ยังวางใจไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าสาเหตุที่ลดลงเพราะว่าติดเชื้อกันจำนวนมากเลยมีภูมิคุ้มกันหมู่และบวกกับการฉีดวัคซีนที่ช่วยยับยั้ง ซึ่งปัจจุบันสามจังหวัดชายแดนใต้มีการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น น่าจะอยู่ระดับกลางๆ ของประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ดี

ภาคปกครองน่าจะเข้ามามีบทบาทในการจัดการปัญหานี้ด้วย ได้ตั้งข้อสังเกตในพื้นที่ที่มีภาคปกครองที่ทำงานเข้มแข็ง จริงจัง เด็ดขาด การแพร่ระบาดจะดีขึ้นเร็วและควบคุมได้ และคิดว่าปกครองน่าจะมีบทบาทที่สุดในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็อยากจะฝากให้ศอ.บต. ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการประสานงาน

หลังจากนี้ ก็เป็นการฟื้นฟูทั้งร่างกายสภาพจิตใจ ถ้ามองเรื่องของโครงสร้าง หนึ่งคือ ราชการเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนสามจังหวัดชายแดนใต้ สองเอกชน สามการเมือง สี่ประชาสังคม และห้าคือ กลุ่มศาสนาจะมีบทบาทมากในพื้นที่

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ภูมริน มหันตมรรค

ภูมริน มหันตมรรค

เคยเป็นสื่อทีวีในฐานะทีมช่างภาพตั้งแต่ยุคเปิดตัว ITV. และทำข่าว นสพ.ท้องถิ่นมาก่อน และหยุดไปช่วงนึง 4 ปี เนื่องจากย้ายไปอยู่ที่เชียงใหม่ กลับมาก็เริ่มใหม่ในสื่อทีวี และ นสพ. จนกระทั่งปัจจุบัน 77 ข่าวเด็ด