X

วิกฤตจนหมอต้องเลือกยื้อชีวิต รพ.ธรรมศาสตร์เลือกไม่ใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วยโควิด

ปทุมธานี วิกฤตจนหมอต้องเลือกยื้อชีวิต รพ.ธรรมศาสตร์เลือกไม่ใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วยโควิด

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคอลงหลวง จังหวัดปทุมธานี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ชี้แจงกรณี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ “ท่อช่วยหายใจ” (Withholding Intubation) สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เข้าขั้นวิกฤต อย่างรุนแรง ส่งผลให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ (Withholding Intubation) ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สำหรับการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เข้าให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลซี่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในสภาวการณ์ปัจจุบันนี้


ในสถานการณ์ที่มีทรัพยากรในการรักษาจำกัด แพทย์ผู้รักษาพิจารณาไม่ใส่ “ท่อช่วยหายใจ” หรือให้คำปรึกษาเพื่อการไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ และมุ่งเน้นการรักษาแบบประคับประคอง (palliative care) ให้แก่ “ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19” โดยแบ่ง 2 กรณี ดังนี้ กรณีที่ 1 ผู้ป่วยมีการแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า ผู้ป่วยมีการแสดงเจตนาโดยวาจาหรือโดยลายลักษณ์อักษร (advance directive หรือlivi will) ไม่ประสงค์ให้ใส่ “ท่อช่วยหายใจ” หรือมีการประชุมครอบครัวร่วมกับผู้ตัดสินใจแทน (surrogate decision maker) แล้วมีข้อสรุปไม่ประสงค์ใส่ท่อช่วยหายใจ


กรณีที่ 2 ผู้ป่วยไม่ได้มีการแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า แพทย์ผู้ดูแลพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ เมื่อมีผู้ป่วยมีลักษณะอย่างน้อย 2 ข้อจาก 4 ข้อ ดังต่อไปนี้ 1.อายุมากกว่า 75 ปี 2.Charlson Comorbidity Index (CCI) > 4 โดยมีการให้คะแนนโดยแพทย์ผู้ดูแลพิจารณา 3. Clinical Frailty Scale (CFS) ซึ่งมีความหมาย แพทย์ผู้ดูแลพิจารณาภาวะเปราะบางระดับรุนแรง และ 4. เป็นผู้ป่วยระยะท้าย (end-of life)


ด้าน รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่ล้นเกิน ทรัพยากรภายในโรงพยาบาล โดยเฉพาะห้อง ICU มีความจำกัดเป็นอย่างมาก เราไม่สามารถรับผู้ป่วยได้หากห้อง ICU ยังคงมีผู้ป่วยนอนอยู่ ทุกท่านจะเห็นตรงสื่อว่ามีโรงพยาบาลบางแห่งที่มีผู้ป่วยนอนอยู่บริเวณหน้าโรงพยาบาลมากกว่า 10 เตียง ทำให้ทางการแพทย์หรือว่าทางโรงพยาบาลมีความยากลำบากในการจัดการผู้ป่วยที่มีความต้องการการดูแลรักษาอย่างมาก ถือว่าเป็นวิกฤตทางการแพทย์ หากเราสามารถบริหารจัดการตรงนี้ได้ เราจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ต้องการเตียงหรือผู้ที่สามารถดูแลรักษาต่อไปได้ ถือว่าเป็นบริบทหนึ่งในเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง


ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเท่านั้นที่เผชิญวิกฤตจำนวนผู้ป่วยที่ล้นเต็มไปแล้ว โรงพยาบาลต่าง ๆ ได้ประสบปัญหาแบบเดียวกัน การที่เราให้ผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลได้โดยที่ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้เป็นปัญหาที่หนักขึ้น หากเรามีผู้ป่วยที่จะรอเข้าโรงพยาบาล จำนวน 20 คน โดยที่เรามีเตียง ICU จำนวน 8 เตียง ไม่มีทางที่เราจะไม่ตัดสินใจใด ๆ เช่น หากเราบอกว่าใครมาก่อนได้ก่อน คงเป็นปัญหาในเรื่องของการจัดการ ในระหว่างที่รอแล้วใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่นอกห้อง ICU รองรับ ก็ไม่มีทางที่จะทำให้การดูแลรักษานั้นดีขึ้นแน่นอน ในแนวทางทั้งหมดคงไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องเตียงเต็มและเตียงล้นได้ในปัจจุบัน


แต่จะสามารถแก้ไขสิ่งที่เป็นวาระสุดท้ายของชีวิต ผู้ป่วยยังจะมีศักดิ์ศรีมีการได้รับการดูแลบางอย่างจากทางโรงพยาบาล ไม่อย่างนั้นเราก็คงต้องปฏิเสธคนไข้ และจะมีคนไข้นอนอยู่นอกโรงพยาบาล หรือปฏิเสธง่ายที่สุดคือไม่รับเข้ามาภายในโรงพยาบาล ให้ผู้ป่วยอยู่บ้านแล้วเสียชีวิต ถือว่าเป็นศักดิ์ศรีของทุกท่าน หากมีผู้เสียชีวิตอยู่ข้างถนน มีผู้เดินทางมาร้องขอกับทางโรงพยาบาล นั่งหลังรถกระบะมา ที่ผ่านมาเราบอกได้แต่เพียงว่าเตียงเต็ม ท่านก็ต้องไปหาโรงพยาบาลอื่น ๆ เอง ตรงนี้ถือว่าเป็นความเจ็บปวดของวงการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ในการที่ไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยเหล่านี้ได้เลย


ถึงแม้ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์จะขยายจำนวนเตียง ICU ขึ้นมาแล้วก็ตามแต่ข้อจำกัดที่ไม่สามารถขยายเตียง ICU ได้อีกก็คือเรื่องของบุคลากร เราไม่สามารถนำบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างเพียงพอมาดูแลผู้ป่วย ICU ที่จะขยายอย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้ ในปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ที่เรามีอยู่เดิมกับจำนวนที่เราขยายเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ก็ถือว่าตึงแน่นแล้ว รวมถึงปัญหาที่บุคลากรทางการแพทย์ที่มีการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องกักตัวจำนวนมาก เป็นปัญหาที่เกินขึ้นทุกโรงพยาบาลและทุกท่านก็ได้ทราบอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าพยาบาล 1 คน จะสามารถดูแลผู้ป่วย ICU ได้ พยาบาลที่ดูแล ICU ต้องมีความสามารถพิเศษ มีการฝึกฝนมาอย่างน้อย 2-3 ปี ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ทดแทนไม่ได้.

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน โดยเริ่มงานครั้งแรกในราวปีพศ.2540 โดยเข้าร่วมงานกับ นสพ.อาชญากรรม รายสัปดาห์ จากนั้นก็ทำงานเป็น ขทร.ไทยรัฐ นสพ.บ้านเมือง ก่อนจะไปยัง นสพ.คมชัดลึก และเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานข่าว ความเดือดร้อน ระวังภัย และข่าวพัฒนาในชุมชนในท้องถิ่นทางเนชั่นทีวี วันนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นปากเสียง และนำเสนอการพัฒนาเมืองปทุมธานี