X

‘นิด้าโพล’ ระบุประชาชน 67.20% ยังไม่รู้ว่า ส.ส. พรรคเดียวกัน ต่างเขต ต่างเบอร์!

‘นิด้าโพล’ เผยผลสำรวจ เรือง “บัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ปี 2562” พบประชาชน กว่า ร้อยละ 67.20 ไม่ทราบ “ว่าผู้สมัครพรรคเดียวกันต่างเขตเลือกตั้งจะมีหมายเลขที่ต่างกัน” ขณะที่อีก ร้อยละ 45.57 มองว่า “เป็นผลเสียมากกว่าผลดีหากผู่สมัครพรรคเดียวกันมีหมายเลขต่างกัน” โดยประชาชนให้เหตุผลว่า ทำให้เกิดความสับสน และ อาจทำให้บัตรเสียมีมากขึ้น

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เปิดเผยผลสำรวจ เรือง “บัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ปี 2562” ซึ่งได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วทุกภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 24 – 27 ธันวาคม 2561 ทั้งหมด 1,253 ตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

เมื่อถามถึงการรับทราบของประชาชน ว่าต้องกาบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพื่อเลือก ส.ส. เพียง 1 ใบ พบว่า

  • 51.55% ทราบ ว่าต้องกาบัตรเลือกตั้ง ส.ส. เพียง 1 ใบ
  • 46.77% ไม่ทราบ ว่าต้องกาบัตรเลือกตั้ง ส.ส. เพียง 1 ใบ
  • 1.68% ระบุว่า ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกันจะเป็นแบบ “ต่างเขตเลือกตั้งต่างหมายเลข” พบว่า

  • 67.20% ไม่ทราบ ว่าผู้สมัครพรรคเดียวกัน ต่างเขตเลือกตั้ง จะมีหมายเลขที่ต่างกัน
  • 30.88% ทราบ ว่าผู้สมัครพรรคเดียวกัน ต่างเขตเลือกตั้ง จะมีหมายเลขที่ต่างกัน
  • 1.84% ระบุว่า ไม่แน่ใจ

ขณะที่ความเห็นของประชาชน หากมองว่าจะมีผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.57 ระบุว่า ผลเสียมากกว่าผลดี รองลงมา ร้อยละ 24.82 ระบุว่า ผลดีกับผลเสียไม่แตกต่างกัน ร้อยละ 20.67 ระบุว่า ผลดีมากกว่าผลเสีย ร้อยละ 8.14 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.80 ไม่ระบุ

ทั้งนี้โดยผู้ที่ระบุว่า ผลเสียมากกว่าผลดี ให้เหตุผลว่า ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน , จำนวนผู้ไปลงคะแนนเลือกตั้งลดลง และทำให้เกิดบัตรเสียเพิ่มมากขึ้น ส่วนผู้ที่ระบุว่า ผลดีกับผลเสียไม่แตกต่างกัน ให้เหตุผลว่า ไม่มีความชัดเจน , ไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลง และขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้น ๆ ว่าจะออกเสียงไปในทิศทางใด และผู้ที่ระบุว่า ผลดีมากกว่าผลเสีย ให้เหตุผลว่า ทำให้เข้าใจง่าย และมีความเป็นสัดส่วนมากขึ้น

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการกำหนดให้หมายเลขผู้สมัครของพรรคการเมืองแต่ละพรรค เป็นหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.66 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 24.90 ระบุว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง ร้อยละ 14.61 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 2.15 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 1.68 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ

นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ

ผู้ประกาศข่าว รายการ 77 ข่าวเด็ด ช่อง FIVE Channel HD / ผู้สื่อข่าว การเมืองและสังคม เว็บไซต์ 77ข่าวเด็ด และผู้สื่อข่าวออนไลน์ BrickinfoTV.com