X
วิจัยแห่งชาติ,วช. ธนาคารปูม้า, มทร.ศรีวิชัย, ปุ๋ยเปลือกปูม้า, ชุมชนเกาะสุกร,

ปุ๋ยเปลือกปูม้าเกาะสุกร ทำเองใช้เองลดรายจ่ายเพิ่มรายได้

วิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนหน่วยส่งเสริมและวิจัยธนาคารปูม้า มทร.ศรีวิชัย ถ่ายทอดการทำปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้า ชุมชนเกาะสุกร ทำเองใช้เองลดรายจ่ายเพิ่มรายได้

ปุ๋ยเปลือกปูม้า : เมื่อวันที่ 20 – 21 สิงหาคม 2563ที่ผ่านมา  ดร.วิกิจ ผินรับ หัวหน้าโครงการธนาคารปูม้า หน่วยส่งเสริมและวิจัยธนาคารปูม้า มทร.ศรีวิชัย (คืนปูม้าสู่ทะเลไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี) การดำเนินงานระยะที่ 2 พื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่ พร้อมด้วย ดร.ทัศนภา ว่องสนั่นศิลป์ และคณะทำงาน ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ การทำปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้า

ภายใต้การจัดการและส่งเสริมธนาคารปูม้าแบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนในจังหวัดตรังและกระบี่ สนับสนุนทุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมี นางราตรี จิตรหลัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร เป็นประธานในพิธีเปิด และได้รับเกียรติจาก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอนก สาวะอิน สาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เป็นวิทยากร พร้อมด้วยผู้ช่วยนักวิจัย ถ่ายทอดองค์ความรู้ “การทำปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”สู่ชุมชนเกาะสุกร

ตามแนวทาง BCG Model กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง

ดร.วิกิจ ผินรับ กล่าวว่า ประการสำคัญที่ ทีมงานธนาคารปูม้า หน่วยส่งเสริมและวิจัยธนาคารปูม้า มทร.ศรีวิชัย ลงพื้นเกาะสุกร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ การทำปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้านั้น เนื่องจากเกาะสุกรเป็นชุมชนที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพชาวประมง ร้อยละ 70 มีการจำหน่ายปูม้าสู่ผู้บริโภคโดยทั่วไป เนื่องจากปูม้ามีรสชาติดีและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยปัจจุบันมีการผลิตเนื้อปูม้ามากขึ้นในพื้นที่ชุมชนประมงชายฝั่ง

โดยในกระบวนการผลิตจะมีการปล่อยของเสีย ในส่วนของขยะมูลฝอยที่เป็นเปลือกปูม้า เศษปูม้า ซึ่งเป็นขยะอินทรีย์และส่งผลทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ส่งกลิ่นเหม็นที่ไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตามเปลือกปูม้าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการเกษตรได้ แนวทางการนำเปลือกปูม้ากลับมาใช้ประโยชน์ คือ การนำกลับมาเป็นส่วนผสมของปุ๋ยอินทรีย์

เนื่องจากเปลือกปูม้ามีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืชในส่วนของการส่งเสริมการเจริญเติบโต ของราก และเป็นแหล่งธาตุอาหารให้แก่พืชสามารถนำไปใช้เพื่อการเจริญเติบโตได้ ทั้งนี้ ผลิตขึ้นภายใต้แบรนด์ ปุ๋ยเปลือกปูม้า ตราแตงโมเกาะสุกร เพราะแตงโมเกาะสุกรไม่ลักษณะเด่นที่ไม่เหมือนแตงโมที่อื่นๆ คือ วิธีการปลูกที่ริมชายหาด ใกล้กับทะเลและปลอดสารเคมี

ผศ.เอนก สาวะอินทร์ เปิดเผยว่า ประโยชน์ของปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้า ช่วยปรับสภาพดินให้มีปริมาณอินทรียวัตถุปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และมีส่วนผสมของเปลือกปูม้าที่ช่วยเสริมการเจริญเติบโตของรากพืช การผลิตปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้า ใช้วัตถุดิบสำหรับการผลิต คือ มูลสัตว์ เช่น มูลไก่ มูลนกกระทา

หรืออาจใช้มูลวัวเป็นวัตถุดิบหลักไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 เปลือกปูม้า ร้อยละ 20 ส่วนผสมอื่นๆ เช่น ปูนขาวจากเปลือกหอย ไม่เกินร้อยละ 5 และใช้น้ำ หรือ น้ำผสมน้ำหมักชีวภาพ เพื่อผสมสำหรับทำการอัดเม็ด โดยมีขั้นตอนกรรมวิธีการผลิต คือ 1.การนำวัตถุดิบตากแดดให้แห้ง 2.การบดวัตถุดิบให้ละเอียด 3.การผสมวัตถุดิบและการอัดเม็ด และ 4.การตากปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้าและนำใส่บรรจุภัณฑ์

ทั้งนี้ หากชุมชนใดหรือท่านที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ดร.วิกิจ ผินรับ 081-8934374 รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน