X

เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง จ.ตรัง บุกศาลากลาง ยื่นหนังสือร้องราคากุ้งตกต่ำ รับไม่ไหว ก.ก.40 บาท

ตรัง-เกษตรกรเลี้ยงกุ้งจาก 5 อำเภอของ จ.ตรัง ประสบปัญหาอย่างหนักจากปัญหาราคากุ้งตกต่ำ กก.ละ 40 -50 บาท เรียกร้องกรมประมง และกระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ปัญหา ทั้งราคาตกต่ำ และปัญหาต้นทุนปัจจัยการผลิตที่สูงมาก สวนทางกับราคากุ้ง

ที่บริเวณริมถนนรื่นรมย์ (ตลาดเซ็นเตอร์พ้อย) ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งพื้นที่บริเวณแนวชายฝั่งจากทั้ง 5 อำเภอของ จ.ตรัง ประกอบด้วย อ.กันตัง,อ.สิเกา ,อ.ย่านตาขาว ,อ.ปะเหลียน และ อ.หาดสำราญ รวมประมาณกว่า 100 คน นำโดยนายมานิตย์ อินทองปาน ประธานกรรมการสหกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดตรัง จำกัด และป้ายข้อความสะท้อนปัญหาราคากุ้งตกต่ำและเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหา เช่น เลี้ยงกุ้งขาดทุนย่อยยับ ขอภาครัฐขยับช่วยด่วน,พวกเราชาวกุ้งจังหวัดตรัง เดือดร้อน ขอให้รัฐช่วยเหลือด่วน,ห้องเย็นกดราคาเกษตรกรเดือดร้อนอย่างหนัก ,ช่วยด้วยคนกุ้งเดือดร้อน ,ภาครัฐให้ผลิต 400,000 ตันราคานี้จะไหวหรือ ?? เป็นต้น รวมตัวกันเรียกร้องรัฐเร่งแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ โดยมีการปราศรัยบนรถยนต์กระบะ

จากนั้นทั้งหมดพร้อมป้ายข้อความ เดินเท้าไปยังศาลากลาง จ.ตรัง เพื่อยื่นหนังสือต่อนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมแนบเอกสารยืนยันต้นทุนการผลิตและราคาจำหน่าย ณ ปัจจุบัน เรียกร้องไปยังกรมประมง และกระทรวงพาณิชย์ ให้เร่งแก้ปัญหา โดยมีนายภูวนัฐ สมใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง รับหนังสือแทน และรับปากจะส่งต่อเรื่องไปยังกรมประมง และกระทรวงพาณิชย์ให้เร่งแก้ไขปัญหาให้อย่างเร่งด่วน โดยเนื้อหาหนังสือระบุว่า กุ้งขาวแวนนาไม ขาดทุนหนัก โดย จ.ตรัง มีผลการผลิตปี 2565 ประมาณ 20,113 ตัน/ปี และในปี 2566 ระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน มีผลผลิตประมาณ 5,600 ตัน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นมา ราคากุ้งตกต่ำอย่างมากทำให้เกษตรกรขายกุ้งขาดทุน ประมาณกิโลกรัมละ 40 – 50 บาท และยังไม่มีแนวโน้มราคาจะขยับขึ้น จึงยื่นข้อเรียกร้องกรมประมงและกระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ปัญหา 2 ข้อ ประกอบด้วย ระยะสั้น 1. โครงการเร่งด่วนชดเชยราคากุ้งช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม โดยกำหนดราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต โดยคาดว่ามีผลผลิตไม่ต่ำกว่า 1,500 ตัน/เดือน โดยใช้โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งปี 2564 ที่รัฐมีมาตรการชดเชยราคากุ้งตกต่ำกก.ละ 20 บาท โดยให้โควต้ารายละไม่เกิน 10 ตัน หรือมาตรการอื่นตามความเหมาะสม เช่น โครงการรับจำนำกุ้ง โดยการดึงผลผลิตกุ้งออกจากตลาด ฝากกุ้งไว้กับห้องเย็น เมื่อกุ้งราคาดีขึ้นอยู่ในจุดคุ้มทุน จึงนำมาปล่อยขาย 2. โครงการระยะยาวให้กระทรวงพาณิชย์ประสานกับผู้ผลิต และผู้ค้าปัจจัยจัดหาสินค้าราคาถูก เช่น เคมีภัณฑ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาหารกุ้ง ลดค่าไฟฟ้า น้ำมัน ให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต

นายมานิตย์ อินทองปาน (ยืนใกล้ป้าย) ประธานกรรมการสหกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดตรัง จำกัด บอกว่า เกษตรกรเลี้ยงกุ้งทั่วประเทศรวมประมาณ 36 จังหวัด เดือดร้อนหนักนัดยื่นหนังสือพร้อมกันในวันนี้ สำหรับจังหวัดตรัง เป็นจังหวัดที่ผลิตกุ้งได้มากเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ รองจาก จ.จันทบุรี และสุราษฏร์ธานี แต่ในระยะ 4 เดือนมานี้ กุ้งขาวแวนนาไม ขาดทุนหนัก จ.ตรังมีเกษตรกรมีกว่า 500 ราย ต่อรายขาดทุนประมาณ 400,000-500,000 บาทต่อครั้ง และได้รับผลกระทบทุกจังหวัดที่เลี้ยงกุ้ง สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ และถูกห้องเย็นกดราคา และการกระตุ้นตลาดจากภาครัฐไม่มีเลย แต่ปีก่อนหากกุ้งราคาตกต่ำกว่าทุนรัฐจะมีโครงการแทรกแซงราคาให้กก.ละ 20 บาท แต่ขณะนี้ไม่มีแล้ว โดยในวันนี้ที่กรมประมงมีการประชุมของคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ ชริมพ์บอร์ด (Shrimp Board) นอกจากราคากุ้งตกแล้ว ปัจจัยการผลิตทุกชนิดปรับขึ้นราคาทั้งหมด ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ ค่าวัสดุทุกชนิด รวมทั้งอาหารกุ้งก็รับราคาขึ้นมาต่อเนื่องประมาณ 4 รอบ แต่ราคากุ้งกลับสวนทางกัน

เช่นเดียวกับนายสุวัฒน์ พิชัยรัตน์ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง บอกว่า จับแต่ละครั้งขาดทุนประมาณ 200,000 บาทต่อบ่อ มีจำนวน 9 บ่อ ขาดทุนประมาณ 1.8 ล้านบาทต่อครั้ง ขาดทุนไปประมาณ 3 ครั้ง กำลังจะขาดทุนต่อไปอีก หากราคาอยู่อย่างนี้ และแนวโน้มราคาจะต่ำกว่านี้อีก เชื่อว่าสิ้นปีนี้หากราคายังอยู่อย่างนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจะล้มหายไปทั้งหมด จะอยู่ต่อไปไม่ได้ ทั้งราคาตกต่ำ และราคาค่าปัจจัยการผลิตทุกอย่างแพงทั้งหมด เกษตรกรอยู่จะไม่ได้แน่นอน

ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิต และราคากุ้ง ณ ขณะนี้ มีดังนี้ ขนาดกุ้ง 100 ตัว/กก. ต้นทุนการผลิต 126.78 บาท/กก. ราคาขายปากบ่อ 100 บาท/กก. ขาดทุน 26.78 บาท , ขนาดกุ้ง 90 ตัว/กก. ต้นทุนการผลิต 131 บาท/กก. ราคาขายปากบ่อ 105 บาท/กก. ขาดทุนกว่า 26 บาท, ขนาดกุ้ง 80 ตัว/กก. ต้นทุนการผลิต 134 บาทกว่า /กก. ราคาขายปากบ่อ 115 บาท/กก. ขาดทุนเกือบ 20 บาท, ขนาดกุ้ง 70 ตัว/กก. ต้นทุนการผลิต 142 บาท/กก. ราคาขายปากบ่อ 120 บาท/กก. ขาดทุนประมาณ 22 บาท, ขนาดกุ้ง 60 ตัว/กก. ต้นทุนการผลิตประมาณ 150 บาท/กก. ราคาขายปากบ่อ 140 บาท/กก. ขาดทุนกก.ละเกือบ 10 บาท, ขนาดกุ้ง 50 ตัว/กก. ต้นทุนการผลิต 161 บาท/กก. ราคาขายปากบ่อ 153 บาท/กก. ขาดทุนกก.ละ 8 บาท , ขนาดกุ้ง 40 ตัว/กก. ต้นทุนการผลิต 173 บาท/กก. ราคาขายปากบ่อ 165 บาท ขาดทุน กก.ละ เกือบ 8 บาท

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน