X

ผู้นำทางจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยง เลี้ยงผีขุนน้ำกลางอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัยสาปแช่งคนเผาป่า


ระดม “เก๊าผี” ผู้นำทางจิตวิญญาณชนเผ่าท้องถิ่นใน 5 อำเภอของจังหวัดแพร่/ลำปาง รอบอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัยประกอบ “พิธีไหว้ผี” “พิธีตู้” สาบแช่งคนทำลายป่าสร้างพลังชุมชนหยุดเผาร่วมกัน
ปัญหาไฟป่าที่เป็นสาเหตุของฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ในอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวม ปัจจุบันค่าฝุ่น PM 2.5 ในอากาศในพื้นที่จังหวัดแพร่ อยู่ในระดับ 143 ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยภูมิแพ้ และคนที่มีความเสี่ยงแล้ว

ไฟป่ามีอัตราการลุกลามไปทั่วแม้ในป่าอนุรักษ์และป่าต้นน้ำจนส่งผลกระทบไปถึงความแห้งแล้งอีกด้วย นายประวิทย์ ใจคำ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอียโกศัยจังหวัดแพร่ มีแนวคิดใหม่ ที่จะเข้าพบผู้นำในทุกหมู่บ้านรอบอุทยานฯ ด้วยตนเองพื้นที่อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัยมีจำนวน 260, 000 ไร่ หรือ 410 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมอำเภอสบปราบ อำเภอแม่ทะ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง อำเภอลอง และอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ พื้นที่รอบอุทยานเหล่านี้มีชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ หัวหน้าอุทยานได้ระดมความคิดจากผู้นำจนเกิดแนวทางร่วมกันให้ทางราชการร่วมกับชุมชนเชิญผู้นำทางจิตวิญญาณหรือเก๊าผี ทั้งชาวกะเหรี่ยงและคนเมืองร่วมประกอบพิธี ไหว้ผีขุนน้ำ และพิธีตู้ (สาปแช่ง)กลุ่มคนทำลายป่าทำลายต้นน้ำเผาป่า
โดยจัดพิธีขึ้นที่บริเวณใกล้กับน้ำตกแม่เกิ๋งหลวง กลางอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา

การประกอบพิธีในครั้งนี้ พระครูวิจิตรธรรมสาธกเจ้าคณะอำเภอวังชิ้น พระครูภาวนาเจติยานุกิจผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮพระอารามหลวงมาร่วมเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ หน่วยงานของทางราชการ พันเอกกรกฎ นันตา ผอ.กอ.รมน.จังหวัดแพร่ นายปานศร ภมรคนธ์ นายอำเภอวังชิ้น ร่วมเป็นประธานพร้อมด้วยผู้บริหารท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน เยาวชนและชาวบ้านที่สนใจเข้าร่วมจำนวนกว่า 200 คน
นายสุนทร เสาร์เกตุ กำนันตำบลแม่เกิง กล่าวว่า พิธีของชนเผ่าพื้นเมืองเป็นพิธีที่ชาวบ้านทำมาเป็นปกติเป็นการปกป้องพื้นที่ธรรมชาติเพื่อรักษาป่ารักษาน้ำที่ส่งผลต่ออาชีพความเป็นอยู่ของชาวบ้านอยู่แล้ว แต่วันนี้ทางราชการให้ความสำคัญนำชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย ถือเป็นสิ่งที่ดีในการร่วมกันแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน

นายประวิทย์ ใจคำ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย กล่าวว่า อุทยานมีพื้นที่ในจังหวัดแพร่และจังหวัดลำปางมีชุมชนอยู่รอบอุทยานฯ ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงในการเกิดไฟป่ามาก จากการทำงานร่วมกับชาวบ้านจนทำให้ชาวบ้านรอบอุทยานฯกลายเป็นกำลังหลักเป็นแนวร่วมในการระงับเหตุไฟป่า จากสถิติปี 2566 อุทยานฯ มีไฟป่าเข้าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ส่วนในปีนี้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ไม่เกิดไฟป่าเลย เพิ่งพบการเกิดไฟป่าจำนวน 9 จุดในวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งในเวลาเดียวกันของปีที่แล้วมีไฟป่าเกิดขึ้นถึง 70 จุดสาเหตุที่ไฟป่าลดลงอย่างมากมาจากความร่วมมือของชาวบ้านชนเผ่าพื้นเมืองเข้ามาร่วมแก้ปัญหากับอุทยานฯนั่นเอง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน