X

Food Bank ป่าไม้แพร่ ส่อผลาญงบพัฒนาจังหวัดอีกกว่า 5 ล้าน เหม็นกลิ่นทุจริตหึ่ง


ส่อเค้าผลาญงบพัฒนาจังหวัดแพร่อีกกว่า 5 ล้านบาท ป่าไม้สร้าง Food Bank ปลูกทับแหล่งเรียนรู้ป่าชุมชนวังหงส์ ธรรมาภิบาลจังหวัดตรวจพบปลูกในป่าทึบ ตายแล้วกว่าร้อยละ 20 ที่เหลือประเมินแล้วไม่รอด ปลูกบนหินจะอยู่ได้อย่างไรพร้อมสร้างความเสียหายระบบนิเวศน์นับ 1,000 ไร่ โครงการเน้นการมีส่วนร่วมสร้างป่าอาหารแต่จ้างบริษัทแทนการระดมชาวบ้าน

สภาพต้นไม้ที่ปลูกใหม่ในพื้นที่ป่าชุมชนตำบลวังหงส์ อ.เมือง จ.แพร่ ปลูกเป็นแถวเป็นแนวในเขตพื้นที่ป่าเต็งรัง พบสภาพของต้นไม้เริ่มตายไปแล้วกว่าร้อยละ 20 ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในฤดูฝน เมื่อเข้าถึงฤดูแล้งคาดว่าต้นไม้เหล่านี้จะตายมากกว่าร้อยละ 80 เนื่องจากพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นหิน ดินลูกรังเป็นสภาพของป่าเต็งรัง
ในพื้นที่ที่ปลูกมีต้นไม้ของบริษัทที่ถูกว่าจ้างมาจากป่าไม้ มีสภาพต้นไม้ขึ้นอยู่แล้วหนาทึบด้วยไม้ตามธรรมชาติของป่าเต็งรัง หรือที่ชาวเหนือเรียกว่า ป่าแพะ ชุมชนที่ดูแลป่าผืนนี้ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนตำบลวังหงส์ กรรมการป่าชุมชนร่วมกัน ถอบความรู้ภูมิปัญญาทำทะเบียนไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในชุมชนทั้งอาหารและยาสมุนไพรเป็นพื้นที่ต้นแบบได้รับรางวัลมากมาย รวมทั้งยังมีภาควิชาเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ – แพร่ เฉลิมพระเกียรติ เข้ามาร่วมให้ความรู้ในการดูแลป่าตามหลักวิชาการ ซึ่งป่าแห่งนี้มีจุดเด่นคือการรวบรวมความรู้เห็ดป่าที่เป็นประโยชน์ทางอาหารและยา อาทิ เห็ดเผลาะ (เห็ดถอบ) เห็ดระโงบ เห็ดไข่ดงไข่เหลือง จนส่งผลให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอให้ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนแห่งนี้ คือนายกฤษฏา อินทราวุธ กำนันตำบลวังหงส์เข้ารับรางวัลนักอนุรักษ์ป่ามาแล้ว

วันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าที่ร้อยตรีภาคิน ชมพูพันธ์ รองประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดแพร่ นำคณะกรรมการธรรมาภิบาลครบทีม ลงตรวจพื้นที่ปลูกป่าดังกล่าว ชื่อโครงการปลูกสร้างธนาคารอาหารชุมชนในพื้นที่ป่าชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของจังหวัดแพร่ (Food Bank ) ตามโครงการปลูกสร้างธนาคารอาหารจำนวน 1,000 ไร่ มีสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบงบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,180,000 บาท เป็นงบพัฒนาจังหวัดแพร่ ตามโครงการปลูกในเขตตำบลน้ำรัด อ.หนองม่วงไข่ จ.แพร่ เมื่อเข้าไปยังพื้นที่พบว่า เป็นพื้นที่อยู่ในบริเวณศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนตำบลวังหงส์ อ.เมือง จ.แพร่ มีการปลูกป่าตามโครงการ Food Bank ปลูกเป็นแถวเป็นแนวเต็มพื้นที่ไม้เว้นแม้ในช่วงพื้นดินเป็นหิน ปลูกในบริเวณนี้เพียง 50 ไร่ ส่วนที่เหลือกระจายไปทั่วในอำเภอต่าง ๆ การปลูกป่าดังกล่าวดำเนินการโดยบริษัทรับเหมาเอกชนชื่อบริษัท ภูสว่าง จำกัด การเข้าตรวจเยี่ยมโครงการของธรรมาภิบาลจังหวัดแพร่ ในพื้นที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เจ้าของโครงการมาให้ข้อมูลมีเพียงผู้ประสานงานของบริษัทเอกชน
จากการดูพื้นที่คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดแพร่ ได้นำเข้าที่ประชุมเพื่อการพิจารณา ในเวลา 14.00 น.วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งน้าว อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ชี้แจงการดำเนินงาน แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาให้ข้อมูลมีเพียงตัวแทนบริษัทภูสว่าง จำกัด เข้ามาให้ข้อมูลแทน สมาชิกกรรมการธรรมาภิบาลได้ให้ข้อคิดเห็นหลายคน โดยสรุปคือ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการทับซ้อนกับพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว มีป้ายของการส่งเสริมอยู่หลายหน่วยงาน การปลูกต้นไม้ไปในที่ที่ไม่เหมาะสมเช่นพื้นที่ปลูกเป็นหิน พื้นที่ปลูกอยู่ใต้ต้นไม้ร่มคลึ้ม สภาพทั้งไปขณะยังไม่พ้นฤดูฝน มีต้นไม้ร้อยละ 20 ตายไปแล้ว และที่สำคัญคือโครงการเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน แต่กลับไม่มีการวางแผนร่วมคิดกับชุมชนและพื้นที่ปลูกกับโครงการไม่ตรงกันหรือสับสน หรือคาบเกี่ยว ทำให้ประชาชนที่ดูแลป่าชุมชนวังหงส์ไม่ได้เข้าร่วม อย่างไรก็ตามคณะกรรมการธรรมาภิบาลประเมินว่า การปลูกป่าFood Bank เป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่า ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่ม

นายกฤษฎา อินทราวุฒิ กำนันตำบลวังหงส์ ประธานกรรมการป่าชุมชนตำบลวังหงส์ ผู้ที่ดูแลพื้นที่ดังกล่าว เปิดเผยว่า พบว่ามีการปลูกป่าในเขต ตำบลหนองน้ำรัด อ.หนองม่วงไข่ แต่ปลูกทับเข้ามาในเขต ต.วังหงส์ อ.เมือง ตนเห็นว่าราชการดำเนินการจึงไม่คัดค้าน และต้นไม้ถ้าไม่ตายก็จะเป็นประโยชน์ต่อป่าชุมชนตำบลวังหงส์ อย่างไรก็ตามบริเวณดังกล่าวถือเป็นแหล่งอาหารและยาธรรมชาติอยู่แล้ว มีการทำงานทางวิชาการร่วมกับทางคณะเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ เป็นแหล่งเห็ดที่สำคัญของชุมชน มีการป้องกันไฟป่า และ ควบคุมการรเข้าป่าโดยกรรมการป่าชุมชนอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประสานงานบริษัทภูสว่าง จำกัด ผู้รับเหมาปลูกป่า Food Bank ดังกล่าว เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินการตามแผนงานโครงการรับผิดชอบปลูกป่าทั้งโครงการ 1,000 ไร่ แบ่งออกเป็นแปลงละ 50 ไร่ ทุกแปลงมีสภาพคล้าย ๆ กัน เป็นการปลูกเสริมไม่ต้ดไม้เก่าออก ในแผนต้องปลูกเต็มพื้นที่ไม่เว้นแม้แต่ช่วงป่าทึบหรือบริเวณพื้นเป็นหิน เป็นหุบเขา ต้องปลูกทั้งหมด ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้วรอการส่งงาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน