X

ห้าม! นำเข้า ‘อิกัวน่า’ ทุกชนิด หลังแพร่พันธุ์มาก หวั่นกระทบระบบนิเวศ

กรุงเทพฯ – ไทยเอาจริง ประกาศห้ามนำเข้า อิกัวน่าทุกชนิด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่พันธุ์อิกัวน่าต่างถิ่น หลังพบมากขึ้นในพื้นที่ธรรมชาติ กระทบสภาพแวดล้อม-ระบบนิเวศ-เกษตรกร ฝ่าฝืน มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ประเทศไทยพบอิกัวน่าต่างถิ่น แพร่พันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่ธรรมชาติ โดยไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมถึงสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรในพื้นที่การระบาด

จึงกำหนดมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของจำนวนประชากรอิกัวน่าในประเทศไทย ด้วยการไม่พิจารณาอนุญาตให้นำเข้าอิกัวน่าทุกชนิด ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่า ที่ไม่พิจารณาอนุญาตให้นำเข้า เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566

ประกาศดังกล่าว ส่งผลให้ การนำเข้าสัตว์ป่ากลุ่มที่ 1 สัตว์ป่าที่ได้รับความคุ้มครอง ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธ์ วงศ์อิกัวน่า(Family Iguanidae) ลำดับที่ 690 อิกัวน่าทุกชนิดในสกุล Iguana (Iguana spp.) เป็นเรื่องผิดกฎหมาย จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ณ ปัจจุบัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เปิดให้ขึ้นทะเบียนการครอบครองอิกัวน่าทางระบบออนไลน์ จากการลงทะเบียนพบว่า มีผู้แจ้งครอบครองอิกัวน่าเพียง 244 ราย ครอบครองอิกัวน่าทั้งสิ้น 3,419 ตัว โดยพบการครอบครองอิกัวน่ามากที่สุด 982 ตัว ในจังหวัดชลบุรี

“การประกาศไม่พิจารณาให้นำเข้าอิกัวน่าทุกชนิด เป็นมาตรการในการป้องกันและควบคุมการแพร่พันธุ์ของอิกัวน่าต่างถิ่น ที่พบมากขึ้นในพื้นที่ธรรมชาติของไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ ผู้ทำผิด มีโทษทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ดี อาจมีการพิจารณาให้นำเข้าอิกัวน่าต่างถิ่นได้อีกครั้ง หากพบว่าสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของอิกัวน่าในไทยได้” นายชัย กล่าว

ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ ได้ออกประกาศห้ามนำเข้า ‘อิกัวน่า’ และสัตว์ในวงศ์เดียวกันทุกชนิด เพื่อควบคุมประชากร ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ

ด้วยสถานการณ์ที่ปรากฏตามข่าว เกี่ยวกับการพบอิกัวน่าจำนวนมาก อาศัยอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ ในจังหวัดลพบุรี และกัดกินพืชผลทางการเกษตรของประชาชน โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่

อิกัวน่าที่พบเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ซึ่งไม่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่ปรากฎสาเหตุที่แน่ชัด ของการพบชนิดพันธุ์ดังกล่าวในธรรมชาติ และเพื่อป้องกันมิให้ปัญหาดังกล่าวขยายเพิ่มมากขึ้น จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 และมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ประกอบกับ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2565 เรื่อง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ.2565 ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะไม่พิจารณาอนุญาตให้นำเข้าสัตว์ป่า ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว เพื่อเป็นมาตรการควบคุมปริมาณภายในประเทศ จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ดังนี้

กลุ่มที่ 1 สัตว์ป่าที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญา ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชปาที่ใกล้สูญพันธุ์ วงศ์อิกัวน่า (Family Iguanidae) ลำดับที่ 640 อิกัวน่าทุกชนิดในสกุล Iguana (Iguana spp.)

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"