X

1 ต.ค. ‘โควิด’ เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง จะรักษาอย่างไร?

กรุงเทพฯ – ผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตามสิทธิได้อย่างไร เมื่อ UCEP Plus รับเฉพาะผู้ป่วยโควิดฉุกเฉินวิกฤตสีแดง

วันที่ 1 ตุลาคม 2565 นับตั้งแต่วันนี้ (1 ต.ค.65) เป็นต้นไป หลังกระทรวงสาธารณสุข ปรับโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยืนยัน คนไทยและผู้ที่อยู่ในประเทศไทย จะรับการรักษาพยาบาลได้ฟรีตามสิทธิที่มี ครอบคลุมทั้งสิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม โดยเป็นการดูแลรักษาตามอาการและตามดุลยพินิจแพทย์ ดังนี้

1.การรักษาแบบ ‘เจอ แจก จบ’ กรณีไม่มีอาการ ยังคงรับการรักษาในรูปแบบของเทเลเฮลธ์ผ่าน 4 แอปพลิเคชันได้ตามปกติ โดยพบแพทย์ทางไกล วินิจฉัยอาการ และจัดส่งยาทางไปรษณีย์

2.สามารถรับยารักษาโควิดตามอาการที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการกับ สปสช. ดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/197

3.ยกเลิกการแจกชุดตรวจ ATK ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง หากไปโรงพยาบาลแล้วแพทย์พิจารณาให้ตรวจคัดกรอง จะไม่มีค่าใช้จ่าย

4.ผู้ป่วยที่มีอาการหนักสามารถรับการรักษาเป็นผู้ป่วยในในโรงพยาบาลตามสิทธิ

5.การใช้สิทธิ UCEP Plus กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงหลักเกณฑ์ UCEP Plus ใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 โดยกำหนดให้เฉพาะผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเจ็บป่วยวิกฤต (สีแดง) สามารถใช้สิทธิ UCEP Plus เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทุกแห่งได้ และไม่มีเงื่อนไข 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งต้องมีอาการเจ็บป่วยวิกฤตตามเกณฑ์ UCEP Plus เช่น มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ทางเดินหายใจอุดกั้น หายใจหอบเหนื่อย มีภาวะที่ทำให้อาการระบบทางเดินหายใจรุนแรง ไม่สามารถหายใจได้ มีภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำ หรืออาการอื่นๆ ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้

ส่วนผู้ป่วยโควิด-19 อาการสีเหลือง เช่น กลุ่ม 608 ที่ไม่มีอาการ จะไม่ครอบคลุมสิทธิ UCEP Plus แต่สามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิสุขภาพของตนได้

ทั้งนี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มีศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เป็นหน่วยประสานระหว่างประชาชนและสถานพยาบาล ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้ข้อมูล สอบถามโทร.0-2872-1669

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนป้องกันตนเอง ด้วยมาตรการ DMHT ต่อไป ดังนี้

♦ Distancing เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร เลี่ยงการอยู่ในที่แออัด
♦ Mask Wearing สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปอยู่ในสถานที่เสี่ยง/แออัด/อากาศไม่ถ่ายเท
♦ Hand Washing ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์
♦ Testing ตรวจ ATK เมื่อมีอาการโรคทางเดินหายใจ

กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า หลังจากนี้จะใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นเครื่องมือหลักในการบริหารสถานการณ์โควิดในระยะถัดไป โดยมีกลไกทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ ซึ่งอาจมีการปรับลดระดับความเข้มข้นของมาตรการตามสถานการณ์  เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจประเทศเดินหน้าต่อไปได้

ภายใต้กลไกของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ยังสามารถบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนแผนได้ต่อเนื่อง โดยไม่กระทบสิทธิของประชาชน และรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไปได้

ขอบคุณภาพจาก : ศูนย์ข้อมูล COVID-19

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"